‘วีเอสที อีซีเอส’ ลุ้นไอทีครึ่งปีหลัง ‘โต’ สวนกระแสวิกฤติ

‘วีเอสที อีซีเอส’ ลุ้นไอทีครึ่งปีหลัง ‘โต’ สวนกระแสวิกฤติ

เปิดวิสัยทัศน์ "สมศักดิ์ เพ็ชรทวีพรเดช" แม่ทัพใหญ่ของ ‘วีเอสที อีซีเอส’ ต่ออุตสาหกรรมไอทีประเทศไทย ท่ามกลางความท้าทายทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ รวมถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังฝืด ซึ่งต้องรอดูต่อไปว่าครึ่งปีหลังจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด

KEY

POINTS

  • อุตสาหกรรมไอทีครึ่งปีหลังยังคงมีความไม่แน่นอน จากทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

  • ภาคเอกชนยังคงมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ส่วนภาครัฐคาดว่าความชัดเจนเรื่องงบประมาณจะได้เห็นช่วงไตรมาสที่ 4

  • กลยุทธ์ของวีเอสทีอีซีเอส ปักธงบริการรูปแบบใหม่ คือ “Solution Professional Services”

  • อนาคตจะมีการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์สร้าง AI Data Center
  • มุ่งสู่การเป็นผู้ให้บริการไอทีดิจิทัลแพลตฟอร์มอย่างครบวงจร (Turn Key Distribution)

ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ การเงิน ปัญหาหนี้ครัวเรือน รวมถึงการเมือง ยังคงเป็นปัจจัยท้าทายที่หลายธุรกิจต้องวางกลยุทธ์รับมือ เช่นเดียวกับ “ตลาดไอทีไทย” ที่แม้ยังมีแรงหนุนจากการมาของ AI ซึ่งช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมเติบโต ทว่ายังคงต้องลุ้นกันต่อว่าทิศทางครึ่งปีหลังจะเป็นไปในทิศทางใด...

สมศักดิ์ เพ็ชรทวีพรเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วีเอสที อีซีเอส (ประเทศไทย) จำกัด ดิสทริบิวเตอร์ไอทีรายใหญ่ ประเมินสถานการณ์อุตสาหกรรมไอทีครึ่งปีหลังว่า ตลาดยังคงมีความไม่แน่นอน จากทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค รวมถึงการเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งคงต้องรอดูว่าทิศทางต่อไปจะเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนยังคงมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ด้าน AI รวมไปถึงพาวเวอร์บีไอ (Business Analytics Tool) ซิเคียวริตี้ โดยเฉพาะการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ AI ที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีมาก บริษัทต่างๆ ต่างสนใจใช้งานและอยู่ระหว่างการพัฒนาโมเดลและจัดการเรื่องข้อมูล ส่วนภาครัฐคาดว่าความชัดเจนเรื่องงบประมาณต่างๆ จะได้เห็นช่วงไตรมาสที่ 4

ด้านผู้บริโภคทั่วไป การใช้จ่ายยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจรวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่ใช้จ่ายหลักๆ อยู่ในกลุ่มระดับกลางถึงบน ส่วนระดับล่างค่อนข้างชะลอ และโดยภาพรวมได้เห็นว่าผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้าราคาที่ถูกกว่า

“ผ่านมาครึ่งปีเราได้เห็นว่าการเมืองเป็นปัจจัยที่ท้าทายมากที่สุด เนื่องจากมีผลต่อการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ดังนั้นหวังว่าจะได้เห็นทิศทางที่ดีจากนี้ รวมถึงความคืบหน้าเรื่องเงินดิจิตอล เนื่องจากจะเป็นส่วนที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง”

ปักธงลุย ‘โซลูชัน’ ธุรกิจ

สำหรับกลยุทธ์ของวีเอสทีในครึ่งปีหลังนอกจากการขยายไลน์อัปสินค้าเพื่อสร้างการเติบโตให้ฐานธุรกิจเดิมตอบโจทย์การใช้งานทั้งสำหรับผู้บริโภคทั่วไปและภาคธุรกิจ มีการเปิดตัวบริการรูปแบบใหม่ คือ “Solution Professional Services” ทำหน้าที่ดูแลกลุ่มลูกค้าองค์กร โดยเฉพาะเพื่อยกระดับการให้บริการไอทีเซอร์วิสแบบเบ็ดเสร็จ

“เรามุ่งสู่การเป็นผู้ให้บริการไอทีดิจิทัลแพลตฟอร์มอย่างครบวงจร (Turn Key Distribution) ให้คำแนะนำ ปรึกษา, ออกแบบ, วางระบบ, ติดตั้งและดูแลรักษาในแบบบูรณาการ เพื่อให้ลูกค้าได้รับประโยชน์และความคุ้มค่าสูงสุด โดยจะเป็นอีก 1 กลยุทธ์ในขับเคลื่อนธุรกิจในครึ่งปีหลัง และในอนาคตจะมีการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์สร้าง AI data center”

นอกจากนี้ พยายามขยายตลาดไปต่างจังหวัดและทำงานใกล้ชิดกับพาร์ทเนอร์มากขึ้น โดยที่เห็นโอกาสคือภาคเหนือ การขยายตลาดพิจารณาตามความพร้อมตลาด บุคลากร รวมถึงศักยภาพการเติบโต ขณะนี้มีคลังสินค้าอยู่ 12 แห่งรวมซึ่งในปีนี้หากทำได้ดีก็จะขยายไปยังเมืองรองอื่นๆ เพิ่มเติม เป้าหมายสำคัญพยายามทำให้การจัดส่งสินค้าทำได้เร็วมากที่สุด

มั่นใจรายได้ปีนี้แตะ 4 หมื่นลบ.

ปัจจุบัน พอร์ตโฟลิโอสินค้าของบริษัท มีทั้งหมด 4 กลุ่มคือ คอมเมอร์เชียล คอนซูเมอร์ โซลูชัน ดีไวซ์และไลฟ์สไตล์ สัดส่วนรายได้หลักๆ 85% ยังคงเป็นฮาร์ดแวร์ ส่วนบริการและโซลูชันมีอยู่ประมาณ 15%

โดยภาพรวมตั้งเป้ารายได้ปี 2567 ที่ราว 4 หมื่นล้านบาท เติบโต 10% จากปีก่อนหน้าที่ทำได้ราว 3.8 หมื่นล้านบาท ปัจจัยจากโครงการขนาดใหญ่ที่เข้ามา รวมถึงโครงการด้านเอไอ ขณะที่ยอดขายคอนซูเมอร์ยังต้องรอดูสถานการณ์ช่วงไตรมาสสุดท้ายที่จะมีซีพียูและดีไวซ์ AI ใหม่ๆ เปิดตัวออกมาว่าจะสามารถกระตุ้นความสนใจของผู้บริโภคได้มากน้อยแค่ไหน

“ครึ่งปีแรกเราเติบโตได้ประมาณ 10% ที่เติบโตได้ดีคือกลุ่มสมาร์ตดีไวซ์ เอนเตอร์ไพรซ์ และคอร์ปอเรท ส่วนคอนซูเมอร์ทรงตัว แต่ไม่ถึงกับตก”

ส่วนธุรกิจในต่างประเทศที่ดูแลอยู่เมียนมายอดขายยังเมนเทนอยู่ แก้ปัญหาโดยการย้ายบุคลากรมานั่งทำงานในไทย กัมพูชามีโอกาสดีทว่ามีข้อจำกัดด้านกฎหมาย ลาวยังคงทรงๆ

ดึง ‘AI’ ยกระดับงานหลังบ้าน

วีเอสที มีแผนการนำเทคโนโลยีด้าน AI มาปรับใช้ในองค์กรเพื่อยกระดับศักยภาพธุรกิจ โดยจะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับฝ่ายการเงินและบัญชี งานด้านเลขานุการ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล

โดยมีการนำไปช่วยวิเคราะห์เครดิตลูกค้า ลดการคีย์ข้อมูลลงระบบ ช่วยจำแนกแยกข้อมูลในใบอินวอยซ์ ใบเสร็จที่อยู่ในรูปของไฟล์สแกนเอกสาร แชทบอตตอบคำถามที่พบบ่อยได้โดยอัตโนมัติ ปรับปรุงด้านการประชุม ฯลฯ

อีกทางหนึ่ง การพัฒนาบุคลากร วัฒนธรรมการทำงาน ให้อยู่กับองค์กรอย่างยั่งยืน “พนักงานเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร” ดังนั้นให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงานให้อยู่ดีมีสุข

ภายใต้ 4 มิติใหญ่ๆ ได้แก่ mental heath, career path,social well-belling, และ physical เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและเตรียมพร้อมเพื่อการเติบโต

นอกจากนี้ บริษัทให้ความสำคัญกับสุขภาวะทางใจของพนักงานเพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งทางด้านจิตใจ ทำงานอย่างมีความสุข ทั้งมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ เช่น ฟิตเนส โคเวิร์คกิ้งสเปซ เพื่อให้พนักงานมีความยืนหยุ่นในการทำงานมากขึ้นไม่รู้สึกอึดอัด และให้ความรู้สึกมีอิสระทำให้พนักงานรุ่นใหม่และที่ยังทำงานอยู่เกิดความรู้สึกอบอุ่นและผูกพันต่อองค์กร