ทำความรู้จัก ‘6G’ คลื่นความถี่ AI แรงกว่าเร็วกว่า 5G เป็น 100 เท่า
เทคโนโลยียุค 6G นี้ก็อยู่ไม่ไกลจากที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งสัญญาณ 6G นี้จะใช้พลังงานน้อยกว่าและมีความเร็วมากกว่าระบบ 5G ถึง 100 เท่า โดยเทคโนโลยี 6G ใช้คลื่นความถี่ที่มีชื่อว่า 'เทราเฮิรตซ์' โดยมีความถี่คลื่นระดับ 300–3,000 กิกะเฮิรตซ์ หรือ 300,000-3,000,000 เมกะเฮิรตซ์
ต้องยอมรับว่าปัจจัยหนึ่งที่คอยขับเคลื่อนหรือหล่อเลี้ยงโลกของเรานั้นคือ อินเทอร์เน็ต ซึ่งก่อให้เกิดเทคโนโลยีตามมาอีกมากมาย ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เทคโนโลยีการสื่อสารอาจมีเพียงแค่สัญญาณควันไฟ หรือสัญญาณเสียงกลอง แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีได้พัฒนาไปไกลมาก
จากที่คิดว่าคงมีแค่ในภาพยนตร์หรือในจินตนาการ กลับกลายเป็นจริงเกือบทุกสิ่ง และมันกำลังเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย เพราะมนุษย์มีความพยายามในการคิดค้น พัฒนาเทคโนโลยีอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อทำให้การดำรงชีวิต และการสื่อสารนั้นง่ายและสะดวกสบายมากขึ้น
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ชวนย้อนอดีตกลับไป เทคโนโลยีการสื่อสาร ของโลกถูกแบ่งเป็นยุค และแต่ละยุคมีความแตกต่างกันแค่ไหน? ไปดูกัน...
1G (First Generation)
ยุคเริ่มต้น ย้อนกลับไปเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2522 การสื่อสารผ่านระบบอะนาล็อกได้ถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาให้เกิดเป็นระบบสื่อสารไร้สาย มันคือการใช้สัญญาณวิทยุในการส่งคลื่นเสียง จากเดิมที่ใช้สายส่งสัญญาณ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในยุคนั้นแม้ว่าจะมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้กันได้แล้ว แต่มันมีขนาดใหญ่เทอะทะ น้ำหนักมาก พกพาไม่สะดวก และที่สำคัญมันสามารถใช้งานได้เพียงการโทรออก และรับสายเท่านั้น
2G (Second Generation)
ยุคพัฒนาอีกราว 10 ปีต่อมา การส่งสัญญาณเสียงผ่านระบบแอนะล็อกก็ได้ถูกทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยการนำมันไปเข้ารหัสด้วยระบบดิจิทัล ทำให้โทรศัพท์ในยุคนี้ทำได้มากกว่าการโทรออก และรับสาย ยุคนี้ถือเป็นการเริ่มต้นยุคทองของโทรศัพท์เคลื่อนที่เลยก็ว่าได้ ผู้ผลิตต่างแข่งขันกันผลิตโทรศัพท์ให้มีขนาดเล็กลง น้ำหนักเบาขึ้น และสามารถส่งข้อความได้ แม้จะเป็นข้อความสั้น ๆ
สำหรับยุคนี้สามารถแบ่งเทคโนโลยีได้อีก 2 ยุคย่อย ๆ นั่นคือยุค 2.5G ซึ่งเป็นช่วงที่มีการนำเทคโนโลยีที่เรียกว่า GPRS (General Packet Radio Service) เข้ามาใช้งานกับระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทำให้การส่ง SMS หรือข้อความตัวอักษรสั้น ๆ และการส่ง MMS หรือการส่งข้อความแบบรูปภาพถือกำเนิดขึ้น ความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงสุดแม้จะทำได้เพียง 115 Kbps
ต่อมายุค 2.75G เป็นช่วงเวลาที่มีความพยายามในการพัฒนาความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลให้สูงขึ้น โดยการนำเทคโนโลยีที่เรียกว่า EDGE (Enhanced Data Rate for Global Evolution) เข้ามาใช้ ซึ่งทำให้การรับ-ส่งข้อมูลเร็วกว่าแบบ GPRS ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาอินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย สามารถเริ่มเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ เริ่มมีการใช้งานเว็บไซต์ต่าง ๆ ซึ่งความเร็วในการรับส่งข้อมูลอยู่ระหว่าง 70 - 180 kbps
3G (Third Generation)
ยุคก้าวกระโดดในราวปี พ.ศ. 2544 เป็นการเริ่มเข้าสู่ยุค 3G ถือเป็นจุดเริ่มต้นของสมาร์ทโฟนที่เราใช้งานกันในปัจจุบัน เป็นยุคที่มีการพัฒนาทั้งความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูล และการเชื่อมต่อเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาอุปกรณ์และโปรแกรมเพื่อใช้งานขึ้นมาอย่างมากมายและหลากหลาย นับเป็นการขยายขีดความสามารถในการรับ-ส่งข้อมูลให้เร็วยิ่งขึ้น เกิดการพัฒนาโปรแกรมการใช้งานแอปพลิเคชันเพื่อใช้งานบนโทรศัพท์ได้อย่างกว้างขวาง เป็นจุดเริ่มต้นของการสื่อสารผ่านวีดีโอคอล ถือเป็นยุคเฟื่องฟูของเทคโนโลยีการสื่อสารอย่างยิ่ง แม้ความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลสูงสุดจะอยู่ที่ 42 Mbps
4G (Fourth Generation)
ยุคแก้ไขช่องโหว่งเป็นยุคที่มีความพยายามพัฒนาความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูล และเกิดแอปพลิเคชันใช้งานบนโทรศัพท์มือถืออย่างมากมาย มันเริ่มต้นเมื่อราว ๆ ปี พ.ศ. 2552 ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการนำข้อบกพร่องจากยุคก่อนมาพัฒนาให้สามารถใช้งานได้ดีมากขึ้น ในเรื่องของความเร็วของการรับ-ส่งข้อมูล โดยมีการนำเทคโนโลยี LTE (Long Term Evolution) รวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆอีกมากมาย เข้ามาใช้เพื่อเพิ่มพลังให้เร็วขึ้นกว่ายุค 3G และถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุค IoT (Internet Of Thing) ที่อุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ สามารถสื่อสารกันได้ เชื่อมต่อกันได้ และสามารถทำงานอัตโนมัติ ความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลสูงสุดถึง 1 Gbps
5G (Fifth generation)
ยุคเชื่อมต่อยุคนี้เกิดจากความพยายามในการพัฒนาระบบให้ดีขึ้นกว่า 4G โดยเกิดขึ้นในหลายประเทศพร้อมๆกัน เช่น จีน ญี่ปุ่น อังกฤษ เกาหลีใต้ รวมไปถึงกลุ่มสหภาพยุโรป หลายประเทศกำลังพยายามพัฒนาแนวคิดด้าน Internet of Thing และ Machine to Machine ซึ่งเป็นการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องมือ ยานพาหนะ และอาคารสิ่งก่อสร้างที่มีการติดตั้งวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ซอฟต์แวร์ เซ็นเซอร์ และเครือข่ายเข้าด้วยกัน ซึ่งจะทำให้อุปกรณ์เหล่านี้สามารถส่งผ่านข้อมูลถึงกัน
โดยมีความล่าช้าของเวลาน้อยมากและมีความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลสูงสุดถึง 20 Gbps การผสานความสามารถในการรับ-ส่งข้อมูลให้เร็วมากขึ้นในระดับดังกล่าวกับอุปกรณ์เครื่องมือมากมายนับเป็นเป้าหมายและความคาดหวังของหลายประเทศ เพราะถือเป็นจุดเริ่มต้นสู่การควบคุมเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เกิดการตอบสนองได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การทำงานหลายอย่างเข้าถึงความต้องการของสาธารณะได้แม้อยู่ในที่ห่างไกล เช่น การผ่าตัดผ่านระบบอินเตอร์เน็ต การขนส่งระยะไกล การเดินทางด้วยยานพาหนะไร้คนขับ หรือแม้แต่
6G อนาคตที่กำลังเริ่มต้น
6G คือยุคที่ระบบการสื่อสารไร้สายบนโทรศัพท์มือถือของเราจะก้าวข้ามข้อจำกัดหลายอย่างไปจากเดิม มันจะเป็นการเชื่อมต่อที่มีความเสถียร และรวดเร็วขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า เป็นการนำเอาเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ AI เข้ามาผสมผสาน และโปรแกรมที่ใช้ในอุปกรณ์สื่อสารของเราได้ ซึ่งทำให้ระบบเกิดการเรียนรู้ ปรับเปลี่ยนและแก้ปัญหาหลายอย่างได้ด้วยตัวเอง และช่วยตัดสินใจแทนเราได้ในบางเรื่อง เช่น การขับขี่ยานยนต์ไร้คนขับ การวิเคราะห์ปัญหาการเดินทาง การทำงาน และความช่วยเหลือต่างๆ เป็นต้น
คาดการณ์ว่าเทคโนโลยีในยุคนี้จะนำความสะดวกสบายมาสู่มนุษย์มากมาย และแน่นอนว่ามันก็จะเข้ามาปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของพวกเราไปอีกเช่นกัน และเทคโนโลยียุค 6G นี้ก็อยู่ไม่ไกลจากที่เราคาดการณ์ไว้ ซึ่งสัญญาณ 6G นี้จะใช้พลังงานน้อยกว่าและมีความเร็วมากกว่าระบบ 5G ถึง 100 เท่า โดยเทคโนโลยี 6G ใช้คลื่นความถี่ที่มีชื่อว่า 'เทราเฮิรตซ์' โดยมีความถี่คลื่นระดับ 300–3,000 กิกะเฮิรตซ์ (GHz) หรือ 300,000-3,000,000 เมกะเฮิรตซ์ (MHz)
แม้จะมีการเริ่มต้นในการพัฒนาเทคโนโลยี 6G นี้ขึ้นบ้างแล้วในหลายประเทศ แต่ก็ยังคงต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกระยะหนึ่งเพื่อให้เกิดความพร้อมที่สุดในการใช้งาน ซึ่งอาจยาวนานถึง 10 ปี หรือ 20 ปี เพราะเทคโนโลยีนี้ในปัจจุบันเป็นเพียงการวิจัย และทดลอง เพื่อหาสิ่งที่จะเข้ามาช่วยให้เทคโนโลยีการสื่อสารนั้นดีกว่าเดิม และยังต้องพัฒนาอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มารองรับให้สามารถใช้งานได้จริง แต่คงไม่ไกลเกินเอื้อม
สำหรับประเทศไทยเองล่าสุดคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กำลังจะเปิดประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมรอบใหม่ในไตรมาส 1/2568 เพราะมีหลายๆความถี่ได้รับคืนจากหน่วยงานรัฐเดิมที่ครอบครอง ดังนั้น จึงต้องดูว่ากสทช.จะมีการกำหนดให้ย่านความถี่ใดเป็นมาตรฐานกลางสำหรับ 6G เพื่อใช้งานเชิงพาณิชย์ในประเทศต่อไป