ติดอาวุธธุรกิจ 'ค้าปลีก’ ด้วยเทคโนโลยี 'AI’

ติดอาวุธธุรกิจ 'ค้าปลีก’ ด้วยเทคโนโลยี 'AI’

AI เป็นเทคโนโลยีที่ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ นำมาใช้งานอย่างแพร่หลาย รวมถึงธุรกิจ "ค้าปลีก" จากพลังของการประมวลผลที่ทำให้สามารถรวบรวมข้อมูลจำนวนมหาศาล จากธุรกรรมและการสื่อสารระหว่างผู้บริโภค ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์

วันนี้ผู้ค้าปลีกมีความท้าทายที่จะต้องตัดสินใจในหลายสถานการณ์ เพื่อจัดการสินค้าคงคลัง กำลังการผลิต และบุคลากร ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา 

รายงานจาก ReportLinker คาดการณ์ว่า ตลาด AI สำหรับร้านค้าปลีกทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 24,000 ล้านดอลลาร์หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 840,000 ล้านบาท ภายในปี 2571 และคาดว่าจะมีมูลค่ามากกว่า 45,000 ล้านดอลลาร์หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1.575 ล้านล้านบาท ภายในปี 2575

สำหรับตลาดไทย ภาครัฐและเอกชนต่างสำรวจศักยภาพและการประยุกต์ใช้ AI จากรายงานดัชนีความพร้อมด้าน AI ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 2566 พบว่า ประเทศไทยมีความพร้อมสูงขึ้นด้าน AI ระหว่างปี 2564 ถึง 2566 อย่างมีนัยสำคัญ

จากแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ (พ.ศ. 2565-2570) รัฐบาลไทยได้ระบุไว้ว่า ประเทศไทยมีระบบนิเวศที่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมการพัฒนา AI และการประยุกต์ใช้ เพื่อปรับปรุงเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตภายในปี 2570 ด้วยภูมิทัศน์การค้าปลีกที่มีการพัฒนาและการปรับปรุงความพร้อมด้าน AI อย่างต่อเนื่อง ภาคการค้าปลีกจึงมีความพร้อม เพื่อปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในการดำเนินการค้าปลีกต่างๆ

รีเล็กซ์ โซลูชันส์ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการวางแผนด้านซัพพลายเชนและระบบค้าปลีกแบบรวมศูนย์ชั้นนำ วิเคราะห์ว่า AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญสำหรับผู้ค้าปลีกที่ต้องรับมือกับผู้บริโภคที่มีความอ่อนไหวต่อราคาและตลาดที่มีความผันผวน

ทรัพยากรที่จำกัดทำให้การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคมีความท้าทาย การนำระบบอัตโนมัติเทคโนโลยี AI มาใช้ช่วยให้ผู้ค้าปลีกสามารถวิเคราะห์ชุดข้อมูลขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  ปรับปรุงการดำเนินงาน และยกระดับประสบการณ์ของลูกค้า

การวิเคราะห์ข้อมูลที่ขับเคลื่อนด้วย AI ใช้คุณสมบัติจากการวิเคราะห์ขั้นสูงเกี่ยวกับพฤติกรรมและอุปสงค์ของผู้บริโภค ควบคู่กับข้อมูลเชิงลึกการซัพพลายเชนจากภายนอกที่มีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา ขณะเดียวกันผู้ค้าปลีกคาดการณ์ความต้องการและการเติมสินค้าได้อย่างแม่นยำ กำหนดราคาผลิตภัณฑ์ สร้างผลกำไร และออกโปรโมชั่นได้โดยขาดทุนน้อยที่สุด ไม่ว่ามีร้านค้า 10 แห่ง หรือ 100 แห่งในเมืองใหญ่และในต่างจังหวัด

ขณะที่ ธุรกิจค้าปลีกเข้าสู่ยุคออมนิชาแนล (Omnichannel) ผู้ค้าปลีกทุกขนาดสามารถใช้ประโยชน์จากการใช้งาน AI ซึ่งการตลาดแบบเฉพาะบุคคลที่ขับเคลื่อนโดย AI จะช่วยให้ผู้ค้าปลีกกำหนดเป้าหมายและดึงดูดลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยเฉพาะด้านความสัมพันธ์กับลูกค้า และเพิ่มยอดขาย

การนำ AI มาใช้นับเป็นการเปลี่ยนแปลงก้าวสำคัญสำหรับธุรกิจ พนักงานควรเรียนรู้เรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมทัศนคติเชิงบวก โดยแพลตฟอร์ม AI จำนวนมากเป็นแบบพลั๊กแอนด์เพลย์ (Plug and Play) คือ ติดตั้งและใช้งานได้ในทันที และอยู่บนคลาวด์ ซึ่งมีอินเทอร์เฟซที่ใช้งานง่ายขึ้น รวมถึงช่วยให้การเข้าถึงระบบระหว่างทีมง่ายขึ้น เพื่อการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดนัลด์ "ดีเจ" เฟลบาล์ม ผู้บริหารฝ่ายบัญชี รีเล็กซ์ โซลูชันส์ กล่าวว่า ปฏิสัมพันธ์ที่เพิ่มขึ้นระหว่างมนุษย์และ AI แม้จะบ่งบอกว่า AI จะมีบทบาทสำคัญ แต่ก็ไม่ได้เข้ามาแทนที่มนุษย์ในเวลานี้ เนื่องจากลูกค้ายังคงให้ความสำคัญกับความผูกพันของตัวบุคคล

ปัจจุบัน ผู้บริโภคชาวไทยยังนิยมรับบริการจากตัวแทนมากกว่าการบริการอัตโนมัติ  พบด้วยว่าผู้บริโภคชาวไทยจำนวนมากยังคงพึ่งพาพนักงานในร้านค้าเพื่อค้นหาสินค้า รวมถึงขอความช่วยเหลือในขั้นตอนการชำระเงิน

การนำ AI มาใช้ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับธุรกิจทุกขนาด มนุษย์และ AI จะต้องทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับการบริการ ความเร็ว ความยืดหยุ่น และต้นทุนที่เหมาะสม