รอไปก่อน! แชทบอท AI ภาษาไทยยังไม่เกิด หลังงบโครงการ 'ThaiLLM' โดนหั่น 20%

รอไปก่อน! แชทบอท AI ภาษาไทยยังไม่เกิด หลังงบโครงการ 'ThaiLLM' โดนหั่น 20%

'ThaiLLM' สะเทือนหนัก! งบหาย 20% โครงการ AI ภาษาไทยเสี่ยงสะดุด ดีอีระบุขณะนี้รัฐเร่งหาทางแก้เกม ดึงภาคเอกชนช่วยผลักดัน

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี เปิดเผยว่า การพัฒนา Thai Large Language Model (ThaiLLM) เป็นโครงสร้างพื้นฐานปัญญาประดิษฐ์ AI สำหรับภาษาไทย กำลังเผชิญความท้าทายจากการปรับลดงบประมาณลงถึง 20% จากแผนงบประมาณเดิมที่ 120 ล้านบาท เหลือประมาณ 90 ล้านบาท โดยขอรับการสนับสนุนจาก กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) ส่งผลให้โครงการต้องปรับแผนงานใหม่ ลดขนาดการดำเนินงานและเน้นการจ้างบริษัทภายนอกเข้ามาช่วยประมวลผลข้อมูล 

ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ BDI กล่าวว่า ยังคงรอการอนุมัติในการปรับแผนโครงการใหม่ การปรับลดงบประมาณถึง 20% ส่งผลกระทบสำคัญต่อแผนการดำเนินการตามที่เคยวางแผนไว้ อยู่ระหว่างพิจารณาว่า จะดำเนินการอย่างไรให้สอดคล้องกับงบประมาณที่มีจำกัด

รวมถึงการรับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ และพยายามจัดสรรงบจากโครงการอื่นมาทดแทน โดยบางหน่วยงานเริ่มใช้งบประมาณที่เหลือจากปีงบประมาณก่อนหน้า และพิจารณาร่วมมือกับองค์กรใหญ่ เช่น ปตท. ในการดำเนินงานต่อเนื่อง

"นอกเหนือจากปัญหาด้านงบประมาณ การพัฒนา ThaiLLM เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญ เนื่องจากการใช้งานโมเดลภาษาไทย ยังมีความท้าทายเมื่อเปรียบเทียบกับภาษาอื่นที่มักให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า ทำให้ต้องพัฒนาเครื่องมือเฉพาะทาง เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการแปลภาษาและการประมวลผลข้อมูลที่เป็นภาษาไทย"

ซึ่งปัจจุบันทีมทำงานได้เริ่มดำเนินการเช่าพื้นที่คลาวด์ เพื่อใช้ในการประมวลผลข้อมูลที่จัดเก็บและพัฒนาแล้ว คาดว่าจะเห็นความคืบหน้าและผลลัพธ์ที่ชัดเจนในปี 2568

แต่โมเดลภาษาที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการทำข่าวสารและข้อมูลสาธารณะคาดว่า จะพร้อมใช้งานในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งการทำงานดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างหลายฝ่าย ในการรวบรวม และประมวลผลข้อมูล ซึ่งเป็นการพัฒนาโมเดลที่อิงข้อมูลจริงจากแหล่งต่างๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมารัฐบาลเร่งผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยี AI โดยเน้นให้ภาษาไทยเป็นภาษาหลักในการพัฒนาโมเดลเฉพาะทาง ซึ่งโมเดล AI ที่พัฒนาในประเทศจะต้องเน้นความสามารถในการตอบโจทย์เฉพาะด้าน ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับระเบียบจัดซื้อหรือเอกสารทางราชการ

โดยโมเดลขนาดเล็กที่พัฒนาเฉพาะเรื่องเหล่านี้ จะช่วยให้สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ในระยะยาว แม้ว่าไทยอาจจะไม่สามารถพัฒนาโมเดลขนาดใหญ่ที่แข่งขันในระดับนานาชาติได้ แต่การสร้างฐานข้อมูลและเทคโนโลยีเฉพาะทางที่เน้นการใช้งานในภาษาไทยจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความสำเร็จในอนาคต