'ดีอี' พบ 18 ล้านบัญชีโมบายแบงก์กิ้ง ส่อไม่ได้ไปต่อ หลังครบกำหนดยืนยันตัวตน
รมว.ดีอี เผยหลังกำหนดเดดไลน์ตรวจสอบ 'ชื่อไม่ตรงซิม' พบมี 18 ล้านบัญชีต้องสงสัยอาจให้ดำเนินการยืนยันตัวตนใหม่ ลั่นเข้าใจประชาชนถูกมิจฉาชีพหลอกออนไลน์ สูญเงินเกลี้ยงบัญชี เร่งประกาศใช้พ.ร.ก.บีบธนาคาร-ค่ายมือถือร่วมรับผิด หากปล่อยช่องโหว่ในระบบ
ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ผ่าน การใช้ซิมผี และบัญชีม้า ยังเป็นภัยคุกคามอยู่ต่อเนื่อง ซึ่งขอยืนยันว่ารัฐบาลและกระทรวงดีอีไม่ได้นิ่งนอนใจ และเข้าใจปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชน
โดยที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ สำนักงาน กสทช. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. โดยกำหนดกรอบการทำงานและมีการตั้งคณะอนุกรรมการร่วมกันตั้งแต่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยให้เวลา 120 วัน ในการทำงานเฟสแรก ซึ่งได้ครบกำหนดวันนี้ (30 ก.ย.)
ซึ่งการแก้ปัญหาบัญชีม้า เร่งอายัด ตัดตอนการโอนเงิน การดำเนินงานถึง 31 ส.ค. 2567 ระงับบัญชีม้ารวมกว่า 1,000,000 บัญชี ส่วนการแก้ไขปัญหาซิมผี และบัญชีม้าที่ผูกกับธนาคารเพื่อทำธุรกรรมออนไลน์ หรือ โมบายแบงก์กิ้ง นั้น สำนักงาน กสทช. และผู้ให้บริการโทรคมนาคม ได้ระงับบัญชีม้าแล้วจำนวนกว่า 2.8 ล้านเลขหมาย
ขณะที่มาตรการคัดกรองผู้ใช้งาน โมบายแบงก์กิ้ง ที่ต้องสงสัย โดยใช้ระบบคัดกรองผู้ใช้งาน หรือ Sim Screening ตรวจสอบหมายเลขบัตรประชาชนผู้ครอบครองหมายเลขโทรศัพท์ตรงกับที่ลงทะเบียนกับธนาคารหรือไม่ จะแล้วเสร็จ
สำหรับวันนี้ พบว่าในปัจจุบันไทยมีบัญชีโมบายแบงกิ้ง 106 ล้านบัญชี และมีประมาณ 30 ล้านบัญชี ที่ชื่อไม่ตรงกับซิมการ์ด ในเบื้องต้นประเมินว่า มีผู้ใช้งานโมบาย แบงก์กิ้ง จำนวน 18 ล้านบัญชี เข้าข่ายต้องตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกหรือต้องทำการยืนยันตัวตนใหม่
“จากที่เรากำหนดระยะเวลาให้แล้วเสร็จใน 120 วัน เริ่มจากวันที่ 27 พ.ค.นี้ จากนั้นจะส่งข้อมูลกลับไปให้ทาง ธนาคารพาณิชย์ และ ปปง. เพื่อดำเนินการแจ้งเจ้าของบัญชีที่ไม่ตรง ให้ดำเนินการปรับข้อมูลให้ถูกต้องในระยะเวลาที่กำหนด แต่หากยังไม่ดำเนินการทางธนาคารและ ปปง. ก็จะพิจารณาวีธีการระงับการใช้งานต่อไป”
รัฐมนตรีดีอี กล่าวว่า ในภาพรวมจากการดำเนินงานแบบบูรณาการ ส่งผลให้มูลค่าความเสียหายจากคดีออนไลน์ ในเดือน ส.ค. 2567 ลดลง 36% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของเดือน ม.ค.-มิ.ย. 2567 อย่างไรก็ตาม การปราบปรามจับกุมให้ถึงต้อตอคนร้าย ทั้งที่อยู่ในไทยและอยู่ในต่างประเทศ ยังไม่น่าพอใจ ต้องเร่งรัดการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อลดปัญหาสำหรับประชาชนให้เป็นรูปธรรม
เขา กล่าวว่า กระทรวงดีอีกำลังเตรียมเสนอร่างกฎหมาย ที่แก้ไขเพิ่มเติม จากพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ในส่วนที่ให้สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีส่วนรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชน ในกรณีถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ มิจฉาชีพออนไลน์ หลอกให้โอนเงิน โดยหากพิสูจน์ได้ว่าทางสถาบันการเงินและผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ มีความประมาทเลินเล่อไม่ดูแลการให้บริการลูกค้าที่ดี
ขณะนี้ได้จัดทำร่าง ก.ม.เรียบร้อยแล้ว โดยต้องมีการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ จากนั้นจะส่งต่อให้สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความว่า เห็นควรจะออกเป็น พ.ร.ก. หรือ พ.ร.บ. หากเห็นควรเป็น พ.ร.ก. ก็สามารถดำเนินการได้เลย แต่หากเป็น พ.ร.บ. ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของสภา อย่างไรก็ตาม คาดหมายว่าเสร็จทันออกมาบังคับใช้ได้ภายในปีนี้
นอกจากนี้ ยังได้หารือกับ สำนักงานปปง. ในการแก้ไขกฎหมาย เพื่อเฉลี่ยคืนเงินให้กับผู้เสียหาย ซึ่งขณะนี้มีวงเงินที่อายัดอยู่ประมาณ 6,000 ล้านบาท และสินทรัพย์อีกประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะมีวิธีใดที่ทำให้กระบวนการสั้นลง จากเดิมที่ต้องใช้เวลานานต้องรอศาลมีคำสั่งก่อน