ลูกค้ามือถือ 'my' ส่อซิมดับปี 68 หลังเอ็นทีหมดสัมปทานคลื่น 4 ความถี่รวด

ลูกค้ามือถือ 'my' ส่อซิมดับปี 68 หลังเอ็นทีหมดสัมปทานคลื่น 4 ความถี่รวด

กสทช.บี้'เอ็นที'เร่งส่งแผนไมเกรทลูกค้ามือถือทั้งของตัวเองและ MVNO ชี้ต้องประกาศชัด ม.ค.68 ก่อนส่งคืนคลื่น ส.ค.ปีหน้า ระบุหากไม่ดำเนินการเจอซิมดับแน่นอน

สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า วันที่ 3 ส.ค. 2568 คลื่นโทรคมนาคม ของบริษัท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที จำนวน 4 คลื่น ได้แก่ คลื่น 850 MHz จำนวน  2x15 MHz ,คลื่น 1500 MHz จำนวน 91 MHZ, คลื่น 2100 MHz จำนวน 2x15 MHz และ คลื่น 2300 MHz จำนวน 60 MHz ต้องสิ้นสุดการอนุญาตใช้งาน และนำคลื่นคืนมายังสำนักงาน กสทช. เพื่อดำเนินการประมูลภายในไตรมาสแรกปี 2568 

ดังนั้น ภายในเดือน ม.ค. 2568 เอ็นทีจะต้องประกาศแผนเยียวยาให้ลูกค้า ณ ปัจจุบันที่ใช้งานอยู่ 7 แสนเลขหมาย เตรียมความพร้อม เพื่อป้องกันซิมดับ หรือ ใช้งานไม่ได้ ขณะเดียวกันหากเอ็นทีมีความต้องการย้ายลูกค้าไปใช้งานคลื่น 700 MHz ที่มีอยู่จำนวน 2x5 MHz ที่จะสิ้นสุดใบอนุญาตในปี 2579 ก็ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนซิมดับ

“การย้ายลูกค้าไปใช้ 700  MHz และลูกค้าท่ีให้บริการบนโครงข่ายเสมือน (MVNO) ต้องใช้เวลาพัฒนาระบบหลังบ้านไม่น้อยกว่า 6 เดือนเพื่อรองรับ ถ้าไม่ทันก็ซิมดับ”

ทว่า การย้ายลูกค้าที่ใช้งานคลื่นเดิมไปยังคลื่น 700 MHz เป็นเรื่องยากและมีค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากอุปกรณ์ไม่รองรับ ซึ่งเรื่องนี้ MVNO หรือผู้ให้บริการโครงข่ายเสมือนที่นำความถี่ของเอ็นทีไปทำตลาดเฉพาะกลุ่มกว่า 7-8 บริษัท เริ่มมีการสะท้อนปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้นมายังกสทช.แล้ว

สมภพ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเอ็นทีได้ส่งรายละเอียดแผนเยียวยามาให้ดูแล้ว แต่รายละเอียดยังไม่ชัดเจน จึงขอให้กลับไปทำใหม่เพื่อนำเสนอที่ประชุม (บอร์ด) กสทช.โดยเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถประกาศแผนดังกล่าวเสร็จทันตามกำหนด 

ทั้งนี้ ในส่วนของการนำคลื่นดังกล่าวมาประมูล จากการพูดคุยกับเอกชนพบว่า มีความสนใจคลื่น 2100 MHz และ 2300 MHz เพื่อใช้งานต่อเนื่อง เหตุเพราะเอกชนทั้ง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับเอ็นทีในการทำสัญญาเพื่อสร้างสถานีฐาน ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานต่างๆได้ลงทุนไปหมดแล้ว ใช้งานเพียง 3-5 ปี เท่านั้น จึงต้องการคลื่นความถี่ดังกล่าวเพื่อให้บริการลูกค้าต่อเนื่อง