ไม่มีหมดอายุ! หลุดคำสั่งตั้ง 'ไตรรัตน์' นั่งรองเลขาฯกสทช.ยาวถึงเกษียณ
ตำแหน่งรองเลขาฯกสทช.จะหมดวาระลงในเดือน เม.ย.2568 แต่กลับมีเอกสารแต่งตั้งนายไตรรัตน์ ให้ดำรงตำแหน่งต่อจนถึงเกษียณ ขณะที่คนลงคำสั่งแต่งตั้งคือ นายสุทธิศักดิ์ ที่รักษาการแทนช่วงนายไตรรัตน์ไปต่างประเทศ แต่กลับมีหนังสือขอยกเลิกคำสั่งตามมาติดๆเพราะมีคนสะกิดป.ป.ช.
การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ บอร์ดกสทช. ครั้งที่ 22 เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2567 ที่ผ่านมา ปรากฎวาระค้างพิจารณา เมื่อครั้งที่ 20
ในวาระ 4.11 การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และการรับสมัครคัดเลือกบุคคล เพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ กสทช. (ลับ)
ซึ่งทั้งนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ สายงานยุทธศาสตร์และกิจการองค์กร และ นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการสายงานโทรคมนาคม จะหมดวาระ 5 ปี ในเดือน เม.ย. 2568
ทว่า หลังจากนั้นกลับปรากฎเอกสารที่น่าสนใจ 2 ฉบับ ลงชื่อคำสั่ง โดย นายสุทธิศักดิ์ หลุดออกมาจากสำนักงานกสทช.นั่นคือ คำสั่งแต่งตั้งนายไตรรัตน์ เป็นพนักงานประจำไปจนถึงเกษียณ ลงวันที่ 7 ต.ค. 2567 เพื่อให้มีผลการดำรงตำแหน่งต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2568 เป็นต้นไป หลังหมดวาระ และ หนังสือขอยกเลิกคำสั่งดังกล่าว
สำหรับคำสั่งแรก ในการแต่งตั้งนายไตรรัตน์ ให้ทำงานต่อหลังหมดวาระจนเกษียณนั้น หนังสือระบุอ้างระเบียบกสทช.ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2565 ข้อ 88 ที่กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสายงานยุทธศาสตร์และกิจการองค์กร อยู่ก่อนระเบียบนี้ใช้บังคับ ดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบระยะเวลาตามสัญญาจ้าง
เมื่อครบกำหนดระยะเวลา หากผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงาน ให้ผู้นั้นดำรงตำแหน่งดังกล่าวต่อไปและถือเป็นพนักงานซึ่งปฏิบัติงานเป็นการประจำ
โดยที่นายไตรรัตน์ ได้ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงานเป็นพนักงานซึ่งปฏิบัติงานเป็นการประจำ ตามหลักเกณฑ์ที่ประธานกสทช.กำหนด อาศัยอำนาจตามความในข้อ 9 (1) ของระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2565
ต่อมาเพียงข้ามวัน นายสุทธิศักดิ์ มีการทำ หนังสือขอยกเลิกคำสั่ง ดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่ายังมีประเด็นว่าการออกคำสั่งดังกล่าวเป็นการปฎิบัติงานเฉพาะอย่างแทนในด้านเลขาธิการกสทช.ตามคำสั่งสำนักงานกสทช.ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งเป็นประเด็นข้อกฎหมายว่ามีอำนาจหน้าที่หรือไม่ ดังนั้นจึงขอให้สำนักงานดำเนินการทำหนังสือยกเลิกคำสั่งดังกล่าว
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามแหล่งข่าวซึ่งเป็นอดีตกรรมการกสทช.ถึงเรื่องดังกล่าวถึง เหตุผลหลักของการแต่งตั้ง และ ยกเลิกคำสั่ง เพียงข้ามวัน เกิดจากอะไร โดยแหล่งข่าวเล่าให้ฟังว่า เรื่องนี้เริ่มมีคนในสำนักงาน กสทช.สอบถามการร้องเรียนการแต่งตั้งนายไตรรัตน์ไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมถึงมีการร้องเรียนไปยัง คณะกรรมการติดตามและประเมินผล การปฏิบัติงาน กสทช. (กตป.) ด้วย ทำให้นายสุทธิศักดิ์ กังวลใจถึงอำนาจในการทำหน้าที่รักษาการแทนนายไตรรัตน์ระหว่างที่นายไตรรัตน์เดินทางไปต่างประเทศ
เขาเล่าย้อนไปเมื่อการประชุมครั้งที่ 24/2564 วันที่ 17 ธ.ค. 2564 วาระที่ 5.3.8 เรื่องข้อเสนอหลักการการปรับปรุงระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2555 ว่า มติที่ประชุม ที่ประชุมเสียงข้างมาก (กสทช. พลเอก สุกิจฯ ทำหน้าที่ประธาน กสทช. กสทช. พันเอกนทีฯ กสทช. พลโท พีระพงษ์ฯ กสทช. นายประเสริฐฯ และ กสทช.นายธวัชชัยฯ) มีมติเห็นชอบตามเอกสารที่สำนักงาน กสทช. เสนอ ดังนี้
- เห็นชอบในหลักการการปรับปรุงระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2555 เพื่อให้สอดคล้องกับการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายตามพระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ.2558 ตามเอกสารที่สำนักงาน กสทช. เสนอ
- เห็นชอบให้กำหนดตำแหน่งรองเลขาธิการ กสทช. สายงานยุทธศาสตร์และกิจการองค์กร เป็นตำแหน่งพนักงานประจำ โดยเข้าสู่ตำแหน่งตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน กสทช. กำหนด โดยความเห็นชอบของ กสทช. ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ กสทช. สายงานยุทธศาสตร์และกิจการองค์กรอยู่ในปัจจุบัน เมื่อครบวาระการดำรงตำแหน่ง หากมีผลการประเมินผ่านเกณฑ์ให้บรรจุและแต่งตั้งเข้าเป็นพนักงานประจำต่อไป
- มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. แก้ไขปรับปรุงระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2555 ตามความเห็นของกรรมการ และนำเสนอประธานกสทช. เพื่อพิจารณาลงนาม ก่อนนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลใช้บังคับต่อไป
ขณะที่ ในตอนนั้นประชุมเสียงข้างน้อย (กสทช. ประวิทย์ฯ) ขอสงวนความเห็นแตกต่างจากมติที่ประชุมเนื่องจากแม้จะเห็นด้วยในเรื่องการปรับปรุงเพื่อรวมระเบียบด้านการบริหารงาน บุคคลต่างๆ เข้าด้วยกัน แต่ในประเด็นสาระการปรับปรุงตามที่สำนักงาน กสทช.เสนอ นั้น
นพ.ประวิทย์เห็นว่าในส่วนของการเสนอให้ปรับเปลี่ยนตำแหน่งรองเลขาธิการและผู้เชี่ยวชาญให้เป็นตำแหน่งประจำเป็นเรื่องที่จะส่งผลผูกพันในระยะยาวในลักษณะจำกัดสิทธิของคณะกรรมการ กสทช. ชุดใหม่ที่กำลังจะเข้าดำรงตำแหน่ง รวมถึงเลขาธิการของสำนักงาน กสทช. ที่จะต้องมีการสรรหาในโอกาสต่อไป โดยทำให้ทั้งกสทช. ชุดใหม่และเลขาธิการคนใหม่จะไม่มีโอกาสได้สรรหารองเลขาธิการด้านต่างๆ เอง ดังนั้นจึงควรรอให้คณะกรรมการ กสทช. ชุดใหม่เป็นผู้พิจารณาในประเด็นนี้ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องเร่งพิจารณาในช่วงสุดท้ายของวาระกรรมการชุดปัจจุบัน
แหล่งข่าวระบุว่า กรรมการกสทช.ชุดที่แล้ว โดยมี พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร เป็นประธาน มีมติ เห็นชอบในหลักการ ให้ตำแหน่งรองยุทธศาสตร์ เป็นพนักงานประจำ โดยให้แต้มต่อนายไตรรัตน์ ก่อน หากกรรมการกสทช.ชุดหน้าประเมินให้ผ่าน และกสทช.ทั้งชุดต้องร่วมกันออกหลักเกณฑ์ในการประเมิน ถ้าไม่ผ่านต้องสรรหาใหม่ และคนที่ได้ตำแหน่งนี้ก็เป็นพนักงานประจำไปจนถึงเกษียณ
ที่สำคัญการแต่งตั้งให้ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 60 วัน ไม่ใช่ 180 วัน อีกตั้ง 6 เดือน ตรงนี้ถือว่ารีบเกินไป และบอร์ดกสทช.ยังไม่ได้ร่างหลักเกณฑ์การประเมิน แต่สำนักงานกลับใช้หลักเกณฑ์การประเมินที่เป็นการประเมินพนักงาน ไม่ใช่ การประเมิน ตำแหน่งรองยุทธศาสตร์อย่างที่บอร์ดชุดที่แล้วตั้งใจ หรือหากกลัวว่า บอร์ดกสทช.ชุดใหม่จะประเมินไม่ผ่าน
เพราะนายไตรรัตน์มีปัญหาเรื่องการฟ้องร้องคดีกับกสทช.เสียงข้างมาก ตนเชื่อว่า ไม่ควรกังวล เพราะหากมีผลงาน บอร์ดกสทช.คงไม่มีใครกล้าประเมินไม่ผ่าน เพราะอาจเข้าข่ายความผิด 157
เรื่องนี้ต้องวัดใจกันว่า ท้ายที่สุดแล้ว หนังสือขอยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งที่นายสุทธิศักดิ์ ลงชื่อ ไปนั้น จะสามารถเกิดขึ้นจริงหรือไม่ หากคำสั่งดังกล่าวไม่ถูกยกเลิก ใครจะเป็นคนฟ้อง ป.ป.ช.และใครจะเป็นคนที่ถูกฟ้องมากที่สุด