ไทยอยู่อันดับ 43 ของโลก ดัชนีวัดความก้าวหน้าเอไอปี 2024

ไทยอยู่อันดับ 43 ของโลก ดัชนีวัดความก้าวหน้าเอไอปี 2024

เมื่อสัปดาห์ก่อนผมได้เขียนบทความนำเสนอผลสำรวจ AI Monitor 2024 ของบริษัท Ipsos ซึ่งสำรวจทัศนคติของผู้คนใน 32 ประเทศทั่วโลก เกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอรวมทั้งประเทศไทยด้วย ผลสำรวจชี้ว่าคนไทยเชื่อมั่นต่อเรื่องของเอไออยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงมาก

เมื่อสัปดาห์ก่อนผมได้เขียนบทความนำเสนอผลสำรวจ AI Monitor 2024 ของบริษัท Ipsos ซึ่งสำรวจทัศนคติของผู้คนใน 32 ประเทศทั่วโลก เกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอรวมทั้งประเทศไทยด้วย

โดยผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าคนไทยเชื่อมั่นต่อเรื่องของเอไออยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะกระแสการตลาดในบ้านถูกกล่าวถึงสูงมากในทุกวงการ

แต่ที่น่าสนใจกว่าคือ เราเตรียมพร้อมกับการแข่งขันในระดับโลกได้แค่ไหน? เรามีโอกาสเป็นศูนย์กลางด้านเอไอตามความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีของผู้คนมากน้อยเพียงใด?

มีคนบอกกันว่า การแข่งขันด้านเอไอเป็นการแข่งขันในโลกยุคใหม่ เสมือนในอดีตที่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐกับสหภาพโซเวียตเคยแข่งกันไปอวกาศ แต่ด้านเอไอเปลี่ยนการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจเป็นสหรัฐอเมริกากับจีน

ทั้งนี้มีผลการวัดความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีเอไอของแต่ละประเทศทั่วโลก เป็นผลสำรวจที่จัดทำโดย Tortoise Media มาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2019 และในปีนี้ก็ได้เปิดเผยผลสำรวจล่าสุดออกมาเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา

จากรายงานเรื่อง Global AI Index 2024 ครอบคลุม 83 ประเทศทั่วโลก เพื่อจัดอันดับประเทศตามการนำนวัตกรรม การลงทุน บุคลากร โครงสร้างพื้นฐาน การวิจัย และยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ซึ่งในปีนี้ก็มีการนำประเทศไทยเข้าเป็นหนึ่งในการจัดอันดับ

วิธีการจัดอันดับของ Global AI Index มีความละเอียดและครอบคลุม โดยใช้ข้อมูลจาก 24 แหล่ง ที่มาจากรายงานของรัฐบาลประเทศต่างๆ จากฐานข้อมูลสาธารณะ จากองค์กรนานาชาติ บริษัทเอกชน รวมถึงการสำรวจโดยตรงของ Tortoise Media ซึ่งประกอบด้วยตัวชี้วัดทั้งหมด 122 รายการ

การสำรวจแบ่งการวัดออกเป็น 3 หมวดหลัก ได้แก่ การประยุกต์ใช้ (Implementation) นวัตกรรม (Innovation) และการลงทุน (Investment) โดยแต่ละหมวดหลักยังแบ่งย่อยเป็น 7 หมวดย่อยที่ครอบคลุมการวัดทั้งหมด 122 ตัวชี้วัด ซึ่งได้แก่ ความสามารถบุคลากร โครงสร้างพื้นฐานสภาพแวดล้อมการดำเนินงาน การวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีเอไอ ระบบนิเวศเชิงพาณิชย์ และยุทธศาสตร์ภาครัฐ

ผลการจัดอันดับล่าสุดได้เปิดเผยภาพรวมที่น่าสนใจของการแข่งขันด้าน AI ระดับโลก โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้:

สหรัฐ ยังครองผู้นำด้านเอไอของโลก ทิ้งห่างจีนซึ่งอยู่ในอันดับ 2 มากขึ้นกว่าปีที่แล้ว โดยได้คะแนนเต็ม 100 คะแนน ส่วนจีนได้ 54 คะแนน ทั้งสองประเทศนี้นำหน้าประเทศอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้คะแนนในหมวดย่อยทั้ง 7 หมวด สหรัฐอเมริกาชนะจีนในทุกหมวด และครองอันดับหนึ่งของโลกเกือบทั้งหมด ยกเว้นด้านสภาพแวดล้อมการดำเนินงานที่อิตาลีอยู่อันดับ 1 และด้านยุทธศาสตร์ภาครัฐที่ซาอุดีอาระเบียอยู่อันดับ 1

สิงคโปร์ ยังคงอันดับ 3 แซงหน้าสหราชอาณาจักรมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่คะแนนตามห่างๆ โดยมี 34 คะแนน สิงคโปร์ทำคะแนนสูงในตัวชี้วัดเชิงเปรียบเทียบหลายด้าน เช่น จำนวนนักวิทยาศาสตร์เอไอต่อประชากรล้านคน นอกจากนี้ยังมีความก้าวหน้าอย่างมากในด้านการวิจัยและการลงทุนด้านเอไอ

สหราชอาณาจักร รักษาอันดับ 4 ได้อย่างหวุดหวิด ในขณะที่ ฝรั่งเศส ก้าวกระโดดขึ้นมาอยู่อันดับ 5 เข้าสู่กลุ่มประเทศชั้นนำด้านเอไอเป็นครั้งแรก แม้สหราชอาณาจักรจะแข็งแกร่งในด้านเอไอเชิงพาณิชย์ แต่ฝรั่งเศสกลับทำผลงานได้ดีกว่าในด้านการพัฒนาแบบจำลองภาษาขนาดใหญ่ (open-source LLM) รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐและการประมวลผล

เกาหลีใต้ ยังคงอยู่อันดับ 6 โดดเด่นในการประยุกต์ใช้เอไอ ในภาคอุตสาหกรรมสำคัญ ส่วนประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม 10 อันดับแรกรวมถึง อิสราเอล ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมอันดับ 3 สำหรับการลงทุนด้านเอไอของภาคเอกชน และ แคนาดา ซึ่งมียุทธศาสตร์ภาครัฐด้านเอไอที่ครอบคลุมเป็นอันดับ 3

อินเดีย ก้าวสู่ 10 อันดับแรกเป็นครั้งแรก โดยโดดเด่นด้วยบุคลากรเอไอ ที่แข็งแกร่งและหลากหลายอย่างไรก็ตาม บุคลากรด้าน AI ของอินเดียส่วนใหญ่ย้ายไปทำงานในต่างประเทศ และความสำเร็จด้านเอไอของประเทศยังไม่ส่งผลให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนและความสามารถในการประมวลผลในระดับสูง

รัฐบาลทั่วโลกเพิ่มงบประมาณด้านเอไอไปมาก โดยเฉพาะ ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งภาครัฐมีการใช้จ่ายด้าน AI สูงกว่าสหรัฐฯ และจีนอย่างมีนัยสำคัญ

การลงทุนภาคเอกชนด้านเอไอโดยรวมทรงตัว แต่การลงทุนในด้าน Generative AI มีเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ตลาด Generative AI ยังถูกครอบงำโดยบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ไม่กี่แห่งของสหรัฐ

ประเทศไทย ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 43 ของโลกมีเพียง 9 คะแนน โดยเราเป็นอันดับ 3 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์และมาเลเซียที่อยู่อันดับ 39 โดยนำหน้าอินโดนีเซียที่อยู่ในอันดับ 49 ขณะที่เวียดนามอยู่ในอันดับ 58 และฟิลิปปินส์อยู่อันดับ 67 แต่อย่างไรก็ตามช่วงอันดับที่ 35 ลงมาคะแนนจะห่างกันเพียงแค่ 2-3 คะแนนเท่านั้น

เมื่อพิจารณาอันดับในหมวดย่อยจะพบว่า ไทยมีอันดับที่ดีที่สุดคือ ด้านยุทธศาสตร์ภาครัฐ อยู่อันดับ 16 และด้านโครงสร้างพื้นฐานอยู่อันดับ 23 ส่วนด้านอื่นๆ จะอยู่อันดับค่อนข้างต่ำ ด้านระบบนิเวศเชิงพาณิชย์อยู่อันดับ 54 ด้านสภาพแวดล้อมการดำเนินงาน ด้านการวิจัย และด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ต่างก็อยู่อันดับ 63

หมวดที่ดูน่าเป็นห่วงที่สุดคือ ด้านบุคลากรที่เราอยู่อันดับ 66 และมีคะแนนเพียง 3 จาก 100 ซึ่งเมื่อพิจารณาตัวชี้วัดต่างๆ ในหมวดย่อยนี้คะแนนประเทศไทยน้อยมาก โดยมีคะแนนด้านนักพัฒนา 5.3 ด้านบุคลากรในวิชาชีพเอไอ 4.3 และด้านนักวิทยาศาสตร์เอไอ 0.6 ซึ่งคะแนนหมวดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในด้านการแข่งขันเทคโนโลยีเอไอที่ต้องเน้นบุคลากรที่เก่งและมีจำนวนมากพอ

ดัชนีนี้เป็นโอกาสที่ดีในการประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนของเราในด้านเอไอเพื่อวางแผนพัฒนาในอนาคต โดยเฉพาะการเร่งพัฒนาบุคลากร ไม่ว่าผลการจัดอันดับจะเป็นอย่างไร

สิ่งสำคัญคือการนำข้อมูลนี้ไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายและส่งเสริมการพัฒนาเอไออย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวทันโลกในยุคปัญญาประดิษฐ์นี้ และข้อสำคัญอย่าเพียงมุ่งเน้นสร้างภาพการตลาดว่าเราจะก้าวสู่ผู้นำเอไอโลก โดยไม่สนใจข้อมูลศักยภาพของประเทศไทยเราอย่างแท้จริง