หา 'เหตุผล' ทำไม 'ไทยคม' คือหนึ่งเดียวประมูล 3 วงโคจรดาวเทียม

หา 'เหตุผล' ทำไม 'ไทยคม' คือหนึ่งเดียวประมูล 3 วงโคจรดาวเทียม

บอร์ดกสทช. ถอยสุดทางเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลดาวเทียมแบบเคาะราคาขั้นต่ำ สู่การยื่นเงื่อนไข-ผลตอบแทน เหตุหลังพิงฝาวงโคจร 3 ตำแหน่ง ส่อหลุดมือทำไทยเสียประโยขน์ ฟาก 'ไทยคม‘ เป็นเอกชนหนึ่งเดียวยื่นเอกสารแสดงความต้องการ ขอบริหารวงโคจรทุกตำแหน่งเอง

เราอาจจะคุ้นหูกับการประมูลคลื่นความถี่สำหรับ 'โทรศัพท์มือถือ' ไล่ตั้งแต่ 3G 4G และล่าสุด 5G แต่จริงๆแล้วสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ยังต้องออกแผนแม่บทตามรัฐธรรมนูญสำหรับกิจการอวกาศ ที่ถูกโอนอำนาจและความรับผิดชอบมาจาก'กระทรวงดีอี' ในการประมูล 'วงโคจรดาวเทียม' หลังจากสิ้นสุดยุคสัมปทานและเข้าสู่ไลเซ่นอย่างเต็มตัว 

ย้อนปฐมบทการประมูลดาวเทียม

การประมูลวงโคจรดาวเทียมครั้งประวัติศาสตร์เริ่มเมื่อวันที่ 15 ม.ค.2566 โดยสำนักงาน กสทช.นำวงโคจรดาวเทียม 5 แพ็กเกจออกมาประมูล ได้แก่ ชุดที่ 1. ตำแหน่ง 50.5 - 51 องศาตะวันออก ชุดที่ 2. ตำแหน่ง 78.5 องศาตะวันออก ชุดที่ 3. ตำแหน่ง 119.5-120 องศาตะวันออก ชุดที่ 4. ตำแหน่ง 126 องศาตะวันออก และ ชุดที่ 5. ตำแหน่ง 142 องศาตะวันออก

โดยการประมูลใช้เวลาทั้งสิ้น 1 ชั่วโมง 36 นาที ขายออก 3 ชุดข่ายงานดาวเทียม หรือ 3 ตำแหน่ง ทำเงินเข้ารัฐบาลได้  806 ล้านบาท ซึ่ง ผู้ชนะการประมูลในแต่ละชุดข่ายงานดาวเทียม ดังนี้ ชุดที่ 1 ไม่มีผู้ยื่นความต้องการ ชุดที่ 2 ผู้ชนะการประมูล บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด บริษัทลูกของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ราคาสุดท้าย 380,017,850 บาท

ชุดที่ 3 ผู้ชนะการประมูล บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด ราคาสุดท้าย 417,408,600 บาท ชุดที่ 4 ผู้ชนะการประมูล บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ราคาสุดท้าย 9,076,200 บาท และ ชุดที่ 5 ไม่มีผู้ยื่นความต้องการ

โฟกัสแค่รักษาสมบัติชาติ

ในช่วงเวลาเกือบ 2 ปี ที่ผ่านสำนักงาน กสทช.ได้ใช้ความพยายามที่นำวงโคจรที่ขายไม่ออกในรอบแรก มาปรับเงื่อนไขประมูลใหม่ด้วยการลดราคาเคาะประมูลเริ่มต้น เงื่อนไขลดราคาประมูลรอบ 2 

แต่ท้ายสุด การประมูลครั้งที่ 2 ก็ไม่เกิดขึ้น เพราะไม่มีเอกชนรายใดสนใจ อีกเช่นเคย ประมูลรอบ 2 ล่ม และด้วยเดดไลน์ของ สหภาพมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ไอทียู กำหนดว่าหากดาวเทียมวงโคจรใดไม่มีการใช้งานจำเป็นต้องถูกริบคืน

ดังนั้น บอร์ดกสทช.เองก็คงไม่อยากขึ้นชื่อว่าเป็นบอร์ดชุดที่ทำให้ประเทศไทยต้องเสียสมบัติของชาติ ซึ่งเป็นวงโคจรดาวเทียม จึงยกเลิกเกณฑ์การประมูลแบบเคาะราคา และเปลี่ยนเป็นการเสนอผลตอบแทนเงื่อนไข และสิทธิประโยชน์ที่จะมอบให้กับรัฐบาลและประเทศแทน 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2567 สำนักงานกสทช.เปิดให้เอกชนเข้ายื่นข้อเสนอการขอใบอนุญาตดาวเทียมวงโคจรประจำที่ ตำแหน่ง 50.5-51 และ 142 องศาตะวันออก ปรากฎว่าเอกชนสนใจยื่นเอกสารเพียงรายเดียวคือ บริษัทในเครือ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เจ้าเดิม ซึ่งสนใจขอใบอนุญาตทั้ง 3 ตำแหน่งวงโคจร

กางไทม์ไลน์การจัดสรรวงโคจร

ก่อนหน้านั้น นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ บอร์ดกสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคมกล่าวว่า เมื่อมีเอกชนเข้ามายื่นข้อเสนอจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการตรวจคุณสมบัติ และข้อเสนอของผู้ขอรับอนุญาต ระหว่างวันที่ 8-10 ต.ค.2567 โดยคณะกรรมการประเมินเจรจาต่อรองข้อเสนอของผู้ขอรับอนุญาต วันที่ 11 ต.ค. 2567 เพื่อเข้าสู่กระบวนการคณะกรรมการประเมินนำเสนอผลการตรวจสอบคุณสมบัติและผลการตัดสินผู้ได้รับอนุญาตให้กสทช.พิจารณาในวันพรุ่งนี้ (16 ต.ค.) คาดว่าจะสามารถประกาศรายชื่อผู้ได้รับใบอนุญาตวันที่ 17 ต.ค. 2567

ดังนั้น หากประชุม กสทช.ถ้านำเสนอทันประชุมวันที่ 16 ต.ค.นี้ ก็จะสามารถประกาศรายชื่อผู้ได้รับใบอนุญาตได้ทันที วันที่ 17 ต.ค. 2567 นี้ แต่หากไม่ทันต้องนำเสนอที่ประชุมกสทช.วันที่ 24 ต.ค. 2567 เพื่อประกาศรายชื่อผู้ได้รับอนุญาตวันที่ 24 ต.ค. หรือ 25 ต.ค.ตามลำดับต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของหลักเกณฑ์ฯ ประกอบด้วย

  • การอนุญาตให้ใช้สิทธิ : อนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมตามตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม โดยจะไม่จัดชุดของข่ายงานดาวเทียมที่จะนำมาอนุญาตสิทธิ และไม่กำหนดราคาขั้นต่ำ
  • วิธีการอนุญาต : ใช้วิธีการอนุญาตโดยพิจารณาเปรียบเทียบจากข้อเสนอของผู้ขอรับอนุญาต ตามเกณฑ์การพิจารณาอนุญาต 
  • เกณฑ์การพิจารณาอนุญาต : (แต่ละรายข้อ ต้องได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50)

1.ความพร้อมในการรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม กำหนดน้ำหนักเท่ากับร้อยละ 40

2.ประสบการณ์ในการประกอบกิจการหรือดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้อง  กำหนดน้ำหนักเท่ากับร้อยละ 25

3.ความสามารถด้านการเงินและข้อเสนอการวางหลักประกันการรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม กำหนดน้ำหนักเท่ากับร้อยละ 20

4.ข้อเสนออัตราผลตอบแทนให้แก่รัฐ กำหนดน้ำหนักเท่ากับร้อยละ 15

  • ข้อเสนออัตราผลตอบแทนให้แก่รัฐ : ไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.25
  • การรักษาสิทธิ : ผู้ได้รับอนุญาตมีหน้าที่จัดให้มีดาวเทียมเป็นของตัวเองหรือดำเนินการอื่นใดเพื่อรักษาสิทธิขั้นสมบูรณ์ตลอดระยะเวลาการอนุญาต

แหล่งข่าวจากกสทช. กล่าวว่า สาเหตุที่ครั้งนี้ไทยคมยื่นข้อเสนอทั้ง 3 วงโคจรแน่นอนว่าเลี่ยงไม่พ้นประเด็นที่สำนักงาน กสทช. ปิดตายการเคาะราคาประมูลแล้ว เปลี่ยนเป็นการเสนอผลตอบแทนซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับการให้เปล่า แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีเพียงไทยคมเท่านั้นที่จะมาช่วยบอร์ดกสทช. ให้หลุดพ้นคำกล่าวหาว่าทำให้สูญเสียสมบัติชาติเพราะในวันที่ 27 พ.ย. 2567 นี้ วงโคจรในตำแหน่ง 50.5 -51 องศาตะวันออก หากไม่มีดาวเทียมของไทยมาอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวโลเคชั่นนี้จำเป็นที่จะจะต้องถูกยึดคืนไปโดยปริยาย

ดังนั้น ไทยคมหากอยากจะเป็นผู้ได้รับสิทธิ์ในการบริหารวงโคจรจึงจะต้องเสนอผลตอบแทนโดยการที่จะต้องเช่าดาวเทียมต่างชาติที่อยู่ในบริเวณที่ไม่ห่างจากตำแหน่งดังกล่าวลากเอามาไว้เพื่อในการจองสิทธิ์

นี่อาจจะเป็นคำตอบว่า 2 ครั้ง ที่ผ่านมาทำไมประมูลวงโคจรดาวเทียมถึงร่มและในครั้งนี้มีเพียงไทยคมที่เข้าร่วมยื่นข้อเสนอก็คงเพราะผลประโยชน์วิน-วินทั้ง 2 ฝ่ายที่บอร์ดกสทช.หยิบยื่นให้โดยที่ไม่ต้องเสียค่าประมูลผ่านการเคาะราคาขั้นต่ำ และนำรายได้เข้ารัฐ

แต่เป็นเพียงแค่การรักษาสิทธิ์วงโคจรที่ถือเป็นสมบัติชาติเอาไว้และก็หนีไม่พ้นเนื้อมือของไทยคมที่เหมือนจะเป็นผู้ประกอบการไทยเพียงรายเดียวที่ทำได้