‘ค่ายมือถือ’ เร่งยุทธการ ‘ระเบิดสะพานโจร’ ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์
ทรู คอร์ปอเรชั่น - เอไอเอส ร่วมมือตำรวจ พร้อมด้วย กสทช. เร่งเครื่อง “ยุทธการระเบิดสะพานโจร” ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ครั้งใหญ่
ทรู คอร์ปอเรชั่น รายงานว่า ร่วมมือกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB), กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงาน กสทช. ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่หลอกลวงประชาชนครั้งใหญ่ ในยุทธการ “ระเบิดสะพานโจร”
โดยทรูได้เกาะติดสถานการณ์จนนำไปสู่การชี้เบาะแส ตรวจสอบพื้นที่ ที่มีการใช้โทรศัพท์มือถือผิดปกติ และวิเคราะห์ข้อมูลการร้องเรียนเกี่ยวกับเบอร์ต้องสงสัย ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ครั้งใหญ่ได้ พร้อมยึดของกลางเป็นเครื่อง Sim Box 113 เครื่อง โทรศัพท์มือถือ 575 เครื่อง คอมพิวเตอร์ 23 เครื่อง และซิมการ์ดค่ายมือถือต่างๆ ประมาณ 101,068 ซิม
ทรูยืนยันว่า จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การใช้โทรศัพท์มือถือของประชาชนปลอดภัยจากมิจฉาชีพ โดยมุ่งหวังที่จะร่วมปราบปรามโจร และตัดช่องทางการกระทำผิดของแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างเด็ดขาด
จักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สร้างความเดือดร้อนอย่างหนักให้แก่ประชาชนคนไทยในขณะนี้ ทรูได้เฝ้าระวัง และตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เมื่อพบการใช้งานผิดปกติในบางพื้นที่ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพการให้บริการ
ประกอบกับมีลูกค้าแจ้งเบอร์ต้องสงสัยผ่านสายด่วน 9777 ทางบริษัทจึงรีบประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนนำไปสู่การชี้เป้าจับกุมครั้งใหญ่
โดยยึดของกลางได้เป็นจำนวนมาก รวมถึงซิมการ์ด และอุปกรณ์มือถือ ซึ่งถือเป็นการทำลายวงจรของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ายังมีตัวการใหญ่อยู่เบื้องหลัง และจะมีการสืบสวนขยายผลต่อไป
มาตรการเข้มต้านแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ‘ทรู คอร์ปอเรชั่น’
ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ประกาศมาตรการเข้มงวดเพื่อต่อต้านการกระทำผิดของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยมีรายละเอียดดังนี้:
- ตรวจสอบการใช้งาน Sim Box: แจ้งตำรวจหากพบการโทรศัพท์ผิดปกติจากหมายเลขเดียวในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง
- ระงับเบอร์ต้องสงสัย: ส่ง SMS และระงับการใช้งานเบอร์ที่มีการโทรศัพท์ออกผิดปกติ พร้อมให้ยืนยันตัวตน
- เปิดสายด่วนรับแจ้งเบาะแส: หมายเลข 9777 สำหรับแจ้งเบอร์ต้องสงสัยหรือ SMS หลอกลวง
- ร่วมมือกับแอปพลิเคชัน Whoscall: ส่งข้อมูลเบอร์ต้องสงสัยเพื่อเพิ่มในระบบแจ้งเตือน
- ปิดเสาสัญญาณตามแนวชายแดน: ป้องกันการใช้สัญญาณโทรศัพท์เพื่อก่ออาชญากรรมข้ามพรมแดนตามข้อกำหนดของสำนักงาน กสทช.
- AI และ Data Analytics: วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อคัดกรอง และหยุดการกระจายซิมเสี่ยง ลดจำนวนซิมที่อาจถูกใช้ผิดกฎหมายได้ถึง 500,000 ซิมต่อปี
- เข้มงวดการลงทะเบียนซิม: กำหนดให้คู่ค้าต้องลงทะเบียนซิมทันทีทุกครั้งที่มีการขาย เพื่อป้องกันการแอบอ้าง และคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
- บทลงโทษสำหรับคู่ค้าที่ไม่ปฏิบัติตาม: เริ่มจากการตักเตือน ลดค่าตอบแทน ไปจนถึงยกเลิกการเป็นคู่ค้า
- สนับสนุนการทำงานของตำรวจ: ให้ข้อมูลเพื่อช่วยปิดตู้ซิมที่ช่วยเหลือคนร้ายใช้ในการกระทำผิดกฎหมาย
- เฝ้าระวังการซื้อซิมผิดปกติ: แจ้งเบาะแสทันทีเมื่อพบกลุ่มบุคคลต้องสงสัยซื้อซิมจำนวนมาก
ด้าน เอไอเอส วรุณเทพ วัชราภรณ์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ AIS เผยว่า AIS แบ่งการทำงานเป็น 3 ส่วน ทั้งการสนับสนุนการติดตาม จับกุม จากการทำงานด้านวิศวกรรมเครือข่ายของทีมวิศวกรทุกภาคทั่วประเทศ ที่พร้อมอำนวยความสะดวกให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นไปอย่างรวดเร็ว ตรงจุด
ไม่ว่าจะเป็นการเข้าจับกุมตามแหล่งกบดานของมิจฉาชีพ, การจับสัญญาณ False Base ในย่านชุมชนเป็นต้น รวมไปถึง การเข้าร่วมภารกิจปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ตั้งอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดน ด้วยการบริหารจัดการกำลังส่งของสัญญาณสื่อสาร เพื่อทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ขาดช่องทางที่จะเข้ามาหลอกลวงคนไทย ซึ่งเมื่อจับกุมแล้วจะดำเนินการปิดกั้นเบอร์เหล่านั้นทันที
ส่วนต่อมาคือ การรณรงค์ให้ประชาชนยืนยันตัวตนอย่างถูกต้องเมื่อใช้บริการระบบสื่อสาร ไม่นำบัตรประชาชนไปให้มิจฉาชีพสวมสิทธิ โดยได้ทำงานร่วมกับ กสทช. ในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง พร้อมสร้างช่องทางในการลงทะเบียน และการตรวจสอบการถือครองเลขหมายผ่าน myAIS app ซึ่งหากพบความผิดปกติ ก็สามารถไป AIS Shop เพื่อตรวจสอบ และดำเนินการแก้ไข
หรือจะตรวจสอบว่าบัตรประชาชนของเรามีการลงทะเบียนกับมือถือค่ายไหนบ้าง สามารถทำได้ผ่าน app 3 ชั้น ของทาง กสทช. และติดต่อไปยังผู้ให้บริการแต่ละค่ายได้ทันทีเช่นกัน รวมถึงหากต้องการทราบว่าเบอร์นี้ลงทะเบียนไว้กับหมายเลขบัตรประชาชนของท่านหรือไม่ สามารถกด *179*ตามด้วยเลข ID#แล้วโทรออก จากเบอร์นั้น ๆ เพื่อตรวจสอบได้เช่นกันด้วย
สุดท้ายซึ่งสำคัญไม่ต่างกัน คือ การรณรงค์สร้างทักษะดิจิทัล ให้รู้เท่าทัน และมีภูมิคุ้มกันในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบัน ผ่านโครงการ "อุ่นใจไซเบอร์" ที่มีทั้งหลักสูตรให้เรียนรู้ พร้อมเครื่องมือด้านดิจิทัล อย่าง Digital Health Check ตรวจวัดสุขภาพด้านดิจิทัลของเราว่าอยู่ในระดับไหน, ช่องทางให้แจ้งเบอร์แก๊งคอลเซ็นเตอร์ 1185 หรือ บริการ AIS Secure Net ที่เป็นเครื่องมือป้องกันภัยไซเบอร์ ด้วยการกรองเว็บไซต์อันตรายทั้งใน และต่างประเทศ เป็นต้น
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์