เมื่อมังกรตื่น

เมื่อมังกรตื่น

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีของจีนจึงมุ่งเน้นที่การใช้งานจริง แตกต่างจากโลกตะวันตกที่เน้นการศึกษาค้นคว้าเชิงลึก

ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ทำธุรกิจมา ผมมีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานในบริษัทชั้นนำทั่วโลกมาแล้วหลายแห่ง ทั้งในยุโรป อเมริกา และในแถบเอเชียเช่นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมถึงศูนย์กลางธุรกิจด้านดิจิทัลอีกแห่งหนึ่งของโลกคือประเทศจีนโดยเฉพาะเมืองเซินเจิ้นซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัทด้านดิจิทัลระดับโลกหลายแห่งรวมถึง หัวเว่ย ที่คนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี

ท่ามกลางการขัดแย้งระหว่างประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาและจีน ทำให้ปมปัญหาด้าน ภูมิรัฐศาสตร์ปะทุขึ้นอย่างรุนแรงใน 2 ภูมิภาคหลักของโลกจนก่อให้เกิดการกีดกันทางการค้ามาแล้วหลายครั้งหลายหน จนแบรนด์จีนที่ได้รับความนิยมในเมืองไทยต้องล้มหายตายจากไปเพราะถูกต่อต้านอย่างหนักจากสหรัฐฯ

แต่ปัญหานี้ไม่เกิดกับ หัวเว่ย ที่แม้จะถูกบีบคั้นทั้งในแง่การพัฒนาซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์แต่ก็ยังสามารถยืนหยัดพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาได้อย่างต่อเนื่องและพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองพร้อม จดสิทธิบัตรมากมายจนสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แล้วก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งเบอร์ 1 ของโลกในผลิตภัณฑ์หลาย ๆ ประเภทโดยเฉพาะด้านเครือข่ายเน็ตเวิร์ค 5G 5.5G

เมื่อกระแสความต้องการในด้านปัญญาประดิษฐ์เกิดขึ้น หัวเว่ย ก็ตอบสนองความต้องการดังกล่าวแยกตามความต้องการของอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นด้านการแพทย์ โรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจการเงิน ประกันภัย ฯลฯ รวมถึงการพัฒนาเมืองและชุมชนต่าง ๆ

การประยุกต์ใช้ระบบเอไอของ หัวเว่ย อาจแตกต่างจากฝั่งสหรัฐฯ ที่เน้นการพัฒนาด้าน Generative AI ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยอัจฉริยะและตอบสนองความต้องการของเราไม่แตกต่างจากมนุษย์ทั่วไป โดยการใช้คำสั่งเสียงหรือ Prompt ที่เป็นภาษามนุษย์ปกติไม่จำเป็นต้องใช้การเขียนโปรแกรมหรือโค้ดดิ้ง

ขณะที่การใช้งานเอไอของจีนที่นำโดย หัวเว่ย นั้นเราจะเห็นการนำเสนอการใช้งานจริง จากสถานการณ์จริง เช่นการวิเคราะห์ภาพจากกล้องวงจรปิดที่มีอยู่ทั่วเมืองแล้วหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นในขณะนั้นเพื่อจัดการแก้ไขปัญหาแบบทันทีทันใด

เช่นปริมาณขยะที่มากเกินไปในบางพื้นที่ เมื่อระบบตรวจจับได้ก็จะแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการจัดเก็บทันที หรือหาบเร่แผงลอยที่ตั้งขายโดยไม่ได้รับอนุญาตก็จะมีเจ้าหน้าที่ไปจับปรับตามกฎหมาย

รวมถึงรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ที่ฝ่าฝืนกฎจราจร ก็อาศัยกล้องและระบบเอไอตรวจจับได้ว่ามีการเลี้ยวในที่ห้ามเลี้ยว จอดในที่ห้ามจอด ฝ่าสัญญาณไฟจราจร ฯลฯ โดยไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่เสียเวลามานั่นดู นอกเหนือจากนำเอไอมาใช้สำหรับ Smart City แล้วนั้น ยังนำมาใช้กับการบริหารท่าเรือ อุตสาหกรรมการผลิต ครอบคลุมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกมากมาย

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีของจีนจึงมุ่งเน้นที่การใช้งานจริง แตกต่างจากโลกตะวันตกที่เน้นการศึกษาค้นคว้าเชิงลึกซึ่งผมไม่ได้หมายความว่าใครดีกว่าใคร แต่การสาธิตของ หัวเว่ย นั้นทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่าจะเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในแง่ไหนได้บ้าง

เช่นเดียวกับสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ๆ ของเขาที่ไม่ได้เป็นเพียงโทรศัพท์พับได้ที่เริ่มได้รับความนิยมมาสักพักแล้ว แต่หัวเว่ย ยังพัฒนาไปถึงระบบ Tri-Fold ที่พับได้ถึง 3 ทบโดยเมื่อกางเต็มที่หน้าจอก็จะมีขนาดพอๆ กับแท็บเบล็ตเครื่องหนึ่งเลยทีเดียว ลูกค้าจึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้แทบเบล็ตอีกต่อไป

สมาร์ตโฟนรุ่นดังกล่าวแม้จะมีราคาสูงมากแต่ก็มียอดสั่งซื้อมากมายจนผลิตไม่พอขาย สะท้อนให้เห็นว่าผู้ผลิตสัญชาติจีนเริ่มกล้าที่จะลองเทคโนโลยีแปลกใหม่ที่มีราคาสูงมากขึ้น ไม่ได้เน้นเฉพาะรุ่นประหยัดเหมือนในอดีต

ความก้าวหน้าของ หัวเว่ย ไม่ได้จำกัดแค่เทคโนโลยีดิจิทัล แต่ยังขยายไปถึงรถยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้วในประเทศจีน ซึ่งรูปลักษณ์และการออกแบบทั้งภายในและภายนอกนั้นทันสมัยไม่แพ้รถยนต์จากค่ายญี่ปุ่นหรือเยอรมันเลย

แต่เทคโนโลยีที่ หัวเว่ย พัฒนาให้ผู้ใช้ทั้งในแง่การขับขี่และระบบความบันเทิงภายในรถนั้นล้ำหน้าคู่แข่งไปมาก ยกตัวอย่างเช่นรถหรูที่ขนาดใกล้เคียงกับ เมอร์เซเดส-เบนซ์ เอสคลาสนั้นลูกค้ามักเน้นการใช้พนักงานขับรถจึงทีเทคโนโลยีตัดเสียงสนทนาทำให้คนขับไม่สามารถได้ยินบทสนทนาของผู้บริหารที่นั่งอยู่ด้านหลังได้ ซึ่งถือว่าเป็นการคิดอย่างพิถีพิถันของผู้ผลิตหน้าใหม่อย่าง หัวเว่ย

ทำไมเขาถึงกล้าคิดนอกกรอบ และทำไมเขาถึงก้าวขึ้นเป็นผู้นำของโลกได้ในเวลาอันสั้น สัปดาห์หน้ามีคำตอบครับ