จับเทรนด์ 'AI' ลงทุนพุ่ง เขย่าเศรษฐกิจโลก

จับเทรนด์ 'AI' ลงทุนพุ่ง เขย่าเศรษฐกิจโลก

จับเทรนด์ AI พลิกโลก เขย่าแนวคิดเศรษฐกิจใหม่ เทคโนโลยีที่มีอิทธิพลต่อทั้งองค์กรภาครัฐ เอกชน คนทำงาน ผู้บริโภคทั่วไป ผู้คนต่างตื่นเต้นกับ AI Economy ที่กำลังเข้ามาเพิ่มมิติใหม่ๆ ให้กับการใช้ชีวิต การทำงาน การทำธุรกิจ ที่สำคัญปลุกโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นอีกมากมาย

KEY

POINTS

  • คาดปี 2573 สะพัด 16 ล้านล้านดอลลาร์ - จุดพลุนิวบิสซิเนส
  • จับตา 3 เทรนด์เปลี่ยนโฉมวงการ AI "AI ขนาดเล็กลง แต่ฉลาดขึ้น” “AI ที่ปรับแต่งได้” “AI ที่น่าเชื่อถือ” 
  • ‘ไทย’ อีก 5 ปีลงทุน AI สะพัด 6.8 หมื่นล้าน   
  • วันนี้ AI เป็นเทคโนโลยีทรงอิทธิพลกับงานด้านเอชอาร์ การตลาด และไอที

ลงทุน ‘ปัญญาประดิษฐ์’ (AI) ทั่วโลกพุ่งแรง เขย่าแนวคิดเศรษฐกิจใหม่ บริษัทวิเคราะห์ประเมิน AI หนุนเศรษฐกิจโลกโตกว่า 16 ล้านล้านดอลลาร์ ภายปี 2573 มากกว่าผลผลิตปัจจุบันของจีน-อินเดียรวมกัน ดันเศรษฐกิจอาเซียนโตแตะ 1 ล้านล้านดอลลาร์ จุดพลุโมเดลธุรกิจใหม่เกิดเพียบ “ไอดีซี” มองไทยพร้อมรับ AI ดิจิทัลอินฟราสตรักเจอร์ แข็งแรง แต่ยังขาดเฟรมเวิร์กชัดเจน บุคลากรขาดทักษะ  “ไอบีเอ็ม” คาดเงินลงทุน AI ในไทยสะพัด 6.8 หมื่นล้านบาท อีก 5 ปีข้างหน้า 

ตัวเลขการลงทุนรวมถึงการเติบโตของคลื่นลูกใหม่อย่างเทคโนโลยี “AI” ยังเป็นไปอย่างก้าวกระโดด ทุกภาคส่วนต่างเปิดรับ ขณะเดียวกันเกิดการใช้งานวงกว้างในกลุ่มธุรกิจ ภาครัฐ คนทำงาน รวมถึงผู้บริโภคทั่วไปทั้งแบบรู้ตัว และไม่รู้ตัวทั่วโลกล้วนตื่นเต้นกับเศรษฐกิจ AI (AI Economy) ที่กำลังปลุกโมเดลธุรกิจใหม่ให้เกิดขึ้นอีกมาก

ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า ทั่วโลกจะใช้จ่ายด้าน AI สูงถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ 108 ล้านล้านบาท) ในช่วงปี 2566-2570 ยิ่งไปกว่านั้น ภายในปี 2573 เทคโนโลยี AI จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลถึง 16 ล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ 576 ล้านล้านบาท)

ใกล้เคียงกับการวิเคราะห์ของ PwC ที่ประเมินว่า AI อาจมีส่วนสนับสนุนต่อเศรษฐกิจโลกได้มากถึง 15.7 ล้านล้านดอลลาร์ ปี 2573 มากกว่าผลผลิตปัจจุบันของจีน และอินเดีย รวมกัน

ขณะที่ ผลวิจัยจากเคียร์นีย์ (Kearney) พบว่า AI จะมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2573 เนื่องจากช่วยยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน สร้างสรรค์โมเดลธุรกิจใหม่ และขับเคลื่อนนวัตกรรมทั่วทุกภาคส่วน

บริษัทวิจัย “ไอดีซี” พบว่า จากปี 2565 เป็นต้นมา การใช้จ่ายด้าน AI ในเอเชียแปซิฟิกเติบโตเฉลี่ย 28.9% ต่อปี และเมื่อถึงปี 2570 มูลค่าจะขยับขึ้นไปแตะ 90,700 ล้านดอลลาร์ สัดส่วนมาจาก GenAI 23% และ AI อื่นๆ 77%

ขณะที่ยักษ์ชิป “อินเทล” วิเคราะห์ AI คือ ปัจจัยสำคัญขับเคลื่อนหลักของตลาดเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก ที่คาดว่า จะมีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2573 ทั้งบีซีจีคาดการณ์ว่าปี 2571 AI PC จะกินสัดส่วน 80% ของอุตสาหกรรมพีซี

สำหรับประเทศไทย ประเมินขณะนี้นับว่า หลายภาคส่วนมีความตระหนักรู้ ตื่นตัวที่จะใช้งานทั้งได้เห็นว่าโรดแมปของประเทศมุ่งสร้างการเติบโตด้วย AI อย่างเป็นรูปธรรม แต่ทั้งนี้ ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการปลดล็อกศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของ AI สำหรับธุรกิจในทุกภาคส่วน และสำหรับผู้ใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม

สถานะไทย (ค่อนข้าง) แข็งแกร่ง

อย่างไรก็ตาม บริษัทวิจัยระดับโลกอย่าง ไอดีซี มองสถานะ AI ประเทศไทยยังแข็งแกร่ง โดยคาดว่า ตลาดซอฟต์แวร์แพลตฟอร์ม AI ของประเทศไทยจะมีการเติบโตต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 43.1% ในช่วงปี 2566 ถึง 2570

โดยปี 2570 คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 141.6 ล้านดอลลาร์ มาจากหลายปัจจัยสำคัญ อาทิ การนำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการ AI แห่งชาติ (พ.ศ.2565-2570) มาใช้ การฝึกอบรมด้าน AI แก่บุคลากรกว่า 80,000 คน และการจัดสรรงบประมาณ 1.29 พันล้านบาท เพื่อการวิจัยและพัฒนา AI

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศไทย รวมถึงการเติบโตของเครือข่าย 5จี บรอดแบนด์ความเร็วสูง ทั้งยังมีการจัดตั้งแพลตฟอร์มระดับประเทศสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง

กล่าวได้ว่า ประเทศไทย นับว่ามีจุดแข็งจากทั้งนโยบายของรัฐบาลที่เตรียมสนับสนุนงบลงทุนสำหรับโครงการวิจัย และพัฒนาด้าน AI, ความพร้อมด้านอินฟราสตรักเจอร์ และความสนใจในการปรับใช้ AI ที่กำลังเติบโตอย่างมากในภาคธุรกิจของไทย และผู้บริโภค

ปัจจัยบวกหลักๆ มาจากการวาง AI เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ระดับชาติ, การพัฒนาโครงการพื้นฐานประเทศเพื่อรองรับ AI, นโยบาย Cloud-first, ผลักดัน และพัฒนายูสเคสด้าน AI และความร่วมมือภาครัฐ และภาคเอกชน

ทว่ายังมีความท้าทายจากการที่ขาดเฟรมเวิร์กที่ชัดเจนในการกำกับดูแล, บุคลากรขาดทักษะ, และยังคงมีปัญหาการจัดการดาต้า รวมถึงความกังวลด้านความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวของข้อมูล

สำหรับแนวทางการสร้างความสำเร็จในยุคแห่ง AI จะต้องประกอบด้วย การสร้างความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ, การปรับกลยุทธ์ AI ที่เข้ากับบริบทของประเทศหรือโจทย์ธุรกิจ, การอบรมทักษะบุคลากร, การคำนึงถึงการใช้งานอย่างมีจริยธรรม, ข้อกำหนดการบริหารจัดการดาต้า, และการประเมินความเสี่ยงทั้งเชิงเทคนิค การบริหารจัดการ และจริยธรรม

สำหรับประเทศไทย อวานาด (Avanade) ผู้ให้บริการที่ปรึกษาและบริการด้านไอทีชั้นนำ เผยว่า นับว่ามีการตระหนักถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจอันมหาศาลของ AI เห็นได้จากที่รัฐบาลประกาศแผนการพัฒนาโครงการริเริ่มใหม่ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ AI ระดับชาติในระยะที่ 2 มูลค่ารวมกว่า 42 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาบุคลากรด้าน AI และโมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่ (LLM)

ปี 68 ยอด AI PC ทะลุ 114 ล้านเครื่อง

หลายธุรกิจต่างตระหนักถึงภูมิทัศน์เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป AI และ GenAI กำลังกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนอนาคตองค์กร

การ์ทเนอร์ คาดการณ์ว่า ยอดการจัดส่ง AI PC จะสูงแตะ 43 ล้านยูนิต ในปี 2567 เพิ่มขึ้นถึง 99.8% จากปี 2566 ขณะที่ปี 2568 ยอดการจัดส่ง AI PCs ทั่วโลกจะคิดเป็น 43% ของยอดจัดส่งพีซีทั้งหมด โดยปริมาณการจัดส่ง AI PCs ทั่วโลกจะอยู่ที่ 114 ล้านยูนิต เพิ่มขึ้น 165.5% จากปี 2567

ที่น่าจับตามองพบด้วยว่า ในปี 2567 รายได้ของเซมิคอนดักเตอร์ AI ทั่วโลกจะมีมูลค่ารวมถึง 7.1 หมื่นล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้น 33% จากปี 2566 โดย วันนี้ Generative AI (GenAI) กำลังกระตุ้นความต้องการชิป AI ประสิทธิภาพสูงสำหรับดาต้าเซนเตอร์

การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า การจัดส่ง AI PC จะสูงถึง 22% ของยอดรวมการจัดส่งพีซีทั้งหมดในปี 2567 และภายในสิ้นปี 2569 การซื้อพีซีในระดับองค์กรจะเป็น AI PC ทั้ง 100%

ข้อมูลระบุด้วยว่า รายได้จากเซมิคอนดักเตอร์ AI จะยังเติบโตเป็นเลขสองหลักในช่วงระยะเวลาคาดการณ์ ระหว่างปี 2566-2568 ซึ่งจะมีอัตราการเติบโตสูงสุดในปี 2567 ที่มีมูลค่า 71,252 ล้านดอลลาร์ จากปี 2566 ที่มีมูลค่า 53,662 ล้านดอลลาร์ และเมื่อถึงปี 2568 จะมีมูลค่า 91,955 ล้านดอลลาร์

ไม่ถึงสองปี ‘Everyday AI' มาแน่

ขณะที่ แนวคิด Everyday AI หรือการที่เทคโนโลยีเอไอ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องที่ไม่ได้ไกลเกินคาด วันนี้หลายคน หลายองค์กรนำเอไอเข้าไปเป็นตัวเสริม หรือแม้กระทั่งเป็นตัวหลักในการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงในกระบวนการทำงาน ขณะเดียวกัน บรรดาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้กันในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ตโฟน พีซี โน้ตบุ๊กก็มี เอไอ เข้าไปเป็นคุณสมบัติหลักในการใช้งานเพิ่มมากขึ้น

การ์ทเนอร์ คาดว่า การนำโปรเซสเซอร์ ด้านเอไอ และความสามารถของ เจเนอเรทีฟ เอไอ (Generative AI) มาใช้อย่างรวดเร็วบนอุปกรณ์จะกลายเป็นข้อกำหนดมาตรฐานสำหรับผู้ขายเทคโนโลยีในท้ายที่สุด ก่อให้เกิดความท้าทายในการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง และทำให้การสร้างจุดขายให้เป็นเอกลักษณ์

ภายในสิ้นปี 2567 ยอดจัดส่ง เจน เอไอ สมาร์ตโฟนจะอยู่ที่ 240 ล้านเครื่อง ขณะที่ เอไอ พีซี (AI PC) จะมียอดจัดส่งที่ 54.5 ล้านเครื่อง คิดเป็นสัดส่วน 22% ของสมาร์ตโฟนในระดับพื้นฐาน และพรีเมียม และ 22% ของพีซีทั้งหมดในปีนี้

นอกจากนี้ ปี 2567 ถือเป็นปีสำคัญของผู้นำแอปพลิเคชัน ดิจิทัล เวิร์คเพลส (Digital Workplace) หรือการทำงานรูปแบบที่มีการนำเครื่องมือดิจิทัลมาใช้งานเพื่อลดข้อจำกัด เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานทำให้ Everyday AI ถูกวางไว้ให้อยู่ในจุดสูงสุดของความคาดหวังที่จะเติบโตในวงจรเทคโนโลยีสำหรับแอปพลิเคชันดิจิทัลเวิร์คเพลสในปีนี้ของการ์ทเนอร์

พลัง AI เปลี่ยนโฉมหน้าวงการธุรกิจ

บริษัทเทคระดับโลกอย่าง ไอบีเอ็ม เปิดเผยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับแนวโน้มการใช้ AI ของภูมิภาคอาเซียน ระบุว่า AI มีบทบาทอันทรงพลังที่กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าวงการธุรกิจ และเทคโนโลยีในปัจจุบัน และอนาคตอันใกล้

ภูมิภาคอาเซียนหลายประเทศกำลังทุ่มงบประมาณมหาศาลให้กับการพัฒนา และประยุกต์ใช้ AI ในหลากหลายภาคส่วน ในไทยเอง คาดการณ์ว่าตลาด AI จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดถึง 1,773 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 63,828 ล้านบาท) ในปี 2573

ไอบีเอ็ม ยังเผยถึง 3 แนวโน้มสำคัญที่กำลังเปลี่ยนแปลงวงการ AI อย่างมีนัยสำคัญคือ 1. โมเดลภาษาขนาดเล็ก (Smaller Language Models: SLM) “AI ขนาดเล็กลง แต่ฉลาดขึ้น” 2. Bring Your Own Foundational Model (BYOM) “AI ที่ปรับแต่งได้” และ 3. AI ที่มีความรับผิดชอบ (Responsible AI) “AI ที่น่าเชื่อถือ” 

สำหรับคำถามที่ว่าแล้ว อาเซียนนำ AI ไปใช้จริงมากแค่ไหน? ไอบีเอ็มเผยว่า หลายองค์กรชั้นนำในอาเซียนเริ่มนำเทคโนโลยี AI ของบริษัทไปประยุกต์ใช้แล้ว เช่น ธนาคารกรุงศรีอยุธยาในไทยใช้ AI ช่วยพัฒนาแอปพลิเคชัน ขณะที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคใช้ AI ในศูนย์บริการลูกค้า ช่วยลดเวลารอสายได้ถึง 80%

AI กำลังมีบทบาทสำคัญในหลายภาคส่วนของธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเอชอาร์ การตลาด และไอที ที่มีแนวโน้มว่าจะนำเทคโนโลยีใหม่นี้เข้ามาปรับใช้ก่อนเป็นวงการแรก ในอนาคตอันใกล้ จะได้เห็นการใช้ AI แพร่หลายมากขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคม และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว 

‘Conversational AI’ ปฏิวัติการสื่อสาร

สำหรับธุรกิจยุคใหม่ “การติดต่อสื่อสาร” เป็นเรื่องสำคัญ วันนี้การสื่อสารระหว่างแบรนด์กับลูกค้าส่วนใหญ่ยังมีลักษณะแบบทั่วๆ ไปไม่เฉพาะเจาะจง สวนทางกับลูกค้าที่ต่างมองหาการเชื่อมต่อที่ตอบโจทย์เฉพาะบุคคลมากขึ้น

อินโฟบิป (Infobip) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการสื่อสารบนคลาวด์ระดับโลก รายงานว่า ธุรกิจต่างๆ กำลังเผชิญความท้าทายในการสร้างความแตกต่างในตลาดที่มีการแข่งขันสูง ซึ่งกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาเหล่านี้ คือ การสร้างการสื่อสารที่ลึกซึ้ง และมีความหมายกับลูกค้า พร้อมมอบประสบการณ์ที่ถูกออกแบบมาอย่างพิถีพิถันเพื่อให้ตรงใจลูกค้ามากที่สุด

การศึกษาล่าสุดของ อินโฟบิป และบริษัทวิจัยไอดีซี เรื่อง Generative AI พบว่า 69% ของผู้บริหารระดับสูงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มองว่า AI เป็นโอกาสสำคัญในการสร้างความแตกต่าง และผลักดันการเติบโตทางธุรกิจ 

โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีความกระตือรือร้นอย่างมากในการนำใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มีธุรกิจถึง 21% ที่อยู่ในขั้นตอนการนำ AI และแมชชีนเลิร์นนิงมาใช้อย่างก้าวหน้า

ไอดีซีพบด้วยว่า 39% ของธุรกิจในภูมิภาคเอชียแปซิฟิก มองว่า Conversational AI เป็นการลงทุนที่สำคัญ เนื่องจากเทคโนโลยีนี้จะช่วยให้ธุรกิจเข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างลึกซึ้ง ตอบสนองแบบเรียลไทม์ และอิงตามบริบท อีกทั้ง AI ยังมีการพัฒนาความสามารถในการเข้าใจอารมณ์ และเจตนาของลูกค้า

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์