BDI เร่งเดินหน้าเปิด 22 หลักสูตร ปั้นคนพันธุ์ดิจิทัล รองรับบิ๊กดาต้า-เอไอ
BDI เร่งเสริมทักษะพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล, วิศวกรรรมข้อมูล และเอไอ ของไทย ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนากำลังคน เดินหน้าออกแบบหลักสูตรสำหรับขับเคลื่อนองค์กรด้วยบิ๊กดาต้า-เอไอกว่า 22 หลักสูตร ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (BDI) กล่าวว่า จากนโยบายของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่เดินหน้าผลักดันยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนากำลังคน ซึ่งปัจจุบันมีบุคลากรไม่เพียงพอ จึงจำเป็นจะต้องพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อให้พร้อมเข้าสู่ยุคดิจิทัล
โดย BDI ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากรของประเทศ ให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านบิ๊กดาต้า และ ปัญญาประดิษฐ์ AI จึงพร้อมเดินหน้าเป็นกลไกสำคัญในการผลิตบุคลากร เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมสุขภาพ
พร้อมสนับสนุนเป้าหมายของกระทรวงดีอี ที่ต้องการสร้างบุคลากรด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AIให้ได้มากกว่า 30,000 คน ภายในปี 2570 เตรียมความพร้อมในการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม และยกระดับให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สู่การเป็นศูนย์ข้อมูล (ดาต้า เซ็นเตอร์) ช่วยยกระดับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ ปัจจุบัน BDI ได้เร่งดำเนินการในส่วนของการพัฒนาและต่อยอดหลักสูตรเฉพาะสำหรับองค์กรและหน่วยงานในภาครัฐและเอกชน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการดำเนินงานผ่านพลังของบิ๊กดาต้า และเอไอ โดยมีเนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่ระดับผู้ปฏิบัติการ ไปจนถึงระดับผู้บริหารองค์กร มีผู้เข้าอบรมไปแล้วมากกว่า 3,000 คน เพิ่มโอกาสในจ้างงานและเพิ่มรายได้ให้กับผู้ที่ร่วมอบรมในโครงการมากกว่า 200 ล้านบาท
“การพัฒนาบุคลากรดิจิทัลโดยเฉพาะในด้าน Data Science - Data Engineering นับเป็นความท้าทายของ BDI ที่ต้องเร่งสร้างกำลังคนเพื่อเข้ามาเป็นรากฐานในการขับเคลื่อนการเติบโต และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันขององค์กรของประเทศผ่านการใช้บิ๊ก ดาต้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานได้อย่างเต็มศักยภาพ ” ธีรณี กล่าว
โดยออกแบบกรอบหลักสูตรมากกว่า 22 หลักสูตร เช่น
- หลักสูตร Data-Driven Decisions for Executive หลักสูตรสำหรับผู้บริหารระดับสูง เน้นสร้างความเข้าใจด้าน Data Tranformation การธรรมาภิบาลข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์และนโยบาย
- หลักสูตร Data Design for Executives หลักสูตรสำหรับผู้บริหาร เพื่อสร้างความเข้าใจด้านการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ขององค์กรผ่านกรณีศึกษา และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกในด้านต่าง ๆ
- หลักสูตร Digital Transformation and Data Governance for Executiveหลักสูตรที่ออกแบบสำหรับผู้บริหารระดับสูง เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ดิจิทัล และการกำกับดูแลข้อมูล ครอบคลุมเนื้อหาสำคัญทั้งการวางกลยุทธ์ดิจิทัล การจัดการการเปลี่ยนแปลง และการบริหารจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ
- หลักสูตร Introduction to Data Governance and Data Catalog หลักสูตรพื้นฐานด้านการกำกับดูแลข้อมูลและการจัดทำแคตตาล็อกข้อมูลในองค์กร โดยครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับหลักการและแนวปฏิบัติในการจัดการข้อมูล การกำหนดมาตรฐานข้อมูล การจัดหมวดหมู่และจัดทำเมทาดาต้า รวมถึงการใช้เครื่องมือในการสร้างแคตตาล็อกข้อมูล เพื่อให้องค์กรสามารถบริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย
- หลักสูตร Excel for Data Analysis เรียนรู้การใช้ Excel เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างมืออาชีพ ครอบคลุมการจัดการข้อมูล การใช้สูตรและฟังก์ชันขั้นสูง และเทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานจริง
- หลักสูตร Exploratory Data Analysis and Data Visualization เรียนรู้เทคนิคการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น พร้อมการสร้างภาพนำเสนอข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ
- หลักสูตร Data Model for BI Tools เรียนรู้การออกแบบและพัฒนาแบบจำลองข้อมูลสำหรับเครื่องมือ Business Intelligence ครอบคลุมหลักการสร้างความสัมพันธ์ของข้อมูล รวมถึงการสร้างตัวชี้วัดและการคำนวณที่ซับซ้อนเพื่อการวิเคราะห์ทางธุรกิจ
- หลักสูตรBasic/Intermediate/Advance Data Science หลักสูตรทางด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล มีการแบ่งเป็น 3 ระดับคือ ระดับพื้นฐาน, ระดับกลาง และระดับสูง โดยทั้ง 3 ระดับถูกออกแบบให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาทักษะอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ระดับเริ่มต้นจนถึงระดับผู้เชี่ยวชาญที่สามารถพัฒนาโซลูชันที่ซับซ้อนเพื่อแก้ปัญหาทางธุรกิจระดับองค์กรได้
- หลักสูตร Basic/Intermediate/Advance Data Engineering หลักสูตรทางด้านวิศวกรรมข้อมูล มีการแบ่งเป็น 3 ระดับ มีการแบ่งเป็น 3 ระดับคือ ระดับพื้นฐาน, ระดับกลาง และระดับสูง โดยทั้ง 3 ระดับถูกออกแบบให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาทักษะในการจัดการโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ BDI ยังได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้แบบออนไลน์ (Online Learning Platform) (BDEE: Big Data Expert Education) ด้าน Big Data Analytics และ AI และแพลตฟอร์มสำหรับฝึกทักษะด้านการวิเคราะห์ข้อมูล (Active Model Community Platform) (BDOO: Big Data Open Odyssey) ซึ่งจะเปิดกว้างสำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจในการพัฒนาโมเดลด้าน Big Data Analytics และ AI พร้อมสร้างหลักสูตรด้าน Data Analytics และ AI สำหรับระดับมัธยมศึกษา โดยเน้นการเรียนการสอน และการประเมินทักษะแบบ Micro-Credentials เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ทักษะแห่งอนาคตด้วยตัวเอง ผ่านการเรียนรู้ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวัน เพื่อปูรากฐานให้เยาวชนได้เข้าใจถึงประโยชน์ของการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลก