‘ภาวุธ’ จัดหนัก ทำจม.ถึงนายกฯ หวั่นไทย 'ขาดดุลดิจิทัล' ถูกต่างชาติเอาเปรียบ
‘ภาวุธ’ ทำจดหมายเปิดผนึกถึง นายกรัฐมนตรี ตั้งคำถาม “ชวนต่างชาติลงทุน” รัฐศึกษาผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับครบทุกมิติหรือไม่ โดยเฉพาะ ลงทุนตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งบุคลากรไทย รายได้ไหลออกนอกประเทศหมด เสนอ 5 ข้อ บีบต่างชาตินำรายได้บันทึกลงในไทย
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง Creden.co และ PaySolutions ผู้เชี่ยวชาญด้านอีคอมเมิร์ซ และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ทำจดหมายเปิดผนึกถึง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และทีมงาน โดยในจดหมายระบุว่า...
"ผมไม่แน่ใจว่าการที่บริษัทต่างชาติ ยกขโยกมาลงทุนในประเทศไทย ทั้ง Data Center หรือ บริการอื่นๆ ทางรัฐได้ศึกษารายละเอียด รวมไปถึงผลประโยชน์ที่จะเข้าประเทศไทยจริงๆ มีมากแค่ไหน?
ธุรกิจของ Data Center ใช้เงินเยอะ แต่เงินส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในด้าน Infrastructure งานระบบ และซื้อ Server ซึ่งเงินส่วนใหญ่เกินครึ่ง จะออกไปบริษัทเทคโนโลยีต่างประเทศ และธุรกิจ Data Center เป็นธุรกิจที่ใช้คนน้อยมาก.. เพราะระบบส่วนใหญ่ ดูแลจากคนต่างประเทศ
รวมไปถึงธุรกิจ Digital อื่นๆ ที่วันนี้เข้ามาลงทุนในไทย แต่พอถึงเวลาเก็บเงิน ก็ดึงเงินไทยออกไปจ่ายนอกประเทศ เลยต้องถามดังๆ ว่า เงินที่จะเข้าที่ประเทศไทยกี่เปอร์เซนต์ Google, Meta (Facebook), TikTok และบริษัทอื่นๆ ส่วนใหญ่ ให้คนไทยจ่ายค่าบริการผ่านบัตรเครดิตออกไปประเทศอื่น
ยกตัวอย่างเช่น DAAT แจ้งว่าบรรดาบริษัทเอเจนซีไทยจ่ายเงินให้กับ Facebook (Meta) ปีนึง 8 พันกว่าล้านบาท .. แต่พอไปดูรายได้ของ Facebook ประเทศไทย แค่ 463 ล้านบาทเท่านั้น คำถามคือ 7 พันกว่าล้านบาท หายไปไหน?
กรมสรรพากรได้ออกกฏหมาย VES เก็บภาษีบริษัทต่างชาติที่มาเก็บเงินคนไทย มา 3 ปีกว่า โดยปัจจุบัน (15 Nov 2024) มีบริษัทต่างชาติมาขึ้นทะเบียนกับสรรพกร 202 บริษัท และน่าจะมีคนไทยจ่ายเงินออกไปนอกประเทศผ่าน VES มากกว่า แสนล้านบาทแล้ว ในปีนี้ (จากการคาดการณ์ของผม) และ ”ผมประมาณการณ์ว่าคนไทยน่าจะจ่ายเงินผ่านออนไลน์ออกไปบริษัทต่างประเทศปีนึง 2 แสนล้านบาท"
ผมต่อสู้และผลักดันเรื่อง “การขาดดุลดิจิทัล” มาหลายปีล่ะ เห็นเรื่องนี้มานาน.. อยากให้รัฐไทยเริ่มหันมมามองเรื่องนี้จริงๆ จังๆ
ดังนั้นการที่รัฐไปคุยกับบริษัทต่างชาติแล้วดีใจกับการที่เค้าเข้ามาลงทุนในไทย เราดีใจแบบฉาบฉวยไปหรือเปล่า?
ซึ่งจริงๆ แล้วเราควรศึกษาธุรกิจของเค้าให้ดี และทำข้อเสนอประมาณนี้
1. เสนอให้นำรายได้ที่ได้ บันทึกลงในประเทศไทย
2. เพิ่มศักยภาพสำนักงานในปรเะทศไทยและจ้างคนไทยมากขึ้น
3. ทำ Technology Transfer ดันให้คนไทยเก่งมากขึ้นในเทคโนโลยีระดับสูง
4.ใช้ไทยเป็นฐานในการพัฒนาบริการ ออกไปยังประเทศอื่นๆ
5.สร้างระบบนิเวศในระยะยาว เพื่อเติบโตไปร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม ในท้ายของ จม. นายภาวุธ บอกว่า รัฐควรนำข้อเสนอข้างต้น ต่อรองกับบริษัทต่างชาติ มากกว่าแค่ดีใจที่เห็นตัวเลขเงินลงทุนในไทย แต่สุดท้ายประเทศไทยได้ประโยชน์น้อยมาก จากการลงทุนเหล่านั้น
"อยากนำเสนอเรื่องนี้ถึงคนที่มีอำนาจที่สามารถผลักดันเรื่องนี้ได้จริงๆ เพื่อที่เราจะได้วางแผน ปรับการทำงานของประเทศเพื่อรองรับกับการเติบโตด้านดิจิทัล แบบจริงๆ ไม่ใช่เติบโตแบบฉาบฉวย แบบที่เราแทบไม่ได้อะไร" ภาวุธ ทิ้งท้าย