ดีอี หนุน สคส. ตั้งเป้าข้อมูลรั่วไหลต้องเป็น 'ศูนย์'
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) เดินหน้าผนึกกำลังจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนไทย พร้อมตั้งเป้าหมายสำคัญ ข้อมูลรั่วไหลต้องเป็น “ศูนย์”
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กระทรวงดีอี กล่าวว่า การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไม่ใช่แค่เพียงกฎหมาย แต่คือการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าข้อมูลของพวกเขาจะได้รับการป้องกันอย่างมั่นคงและปลอดภัยในทุกสถานการณ์ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลในระดับสากล
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนที่สำคัญในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศต้องมุ่งเน้นการรวมพลังจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อตอบโต้ปัญหาการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในยุคดิจิทัล ซึ่งได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในการใช้บริการทางดิจิทัล พร้อมเสริมสร้างความร่วมมืออย่างจริงจังในการป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) ได้ทำงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องมาโดยตลอด
โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ
- ยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
- ส่งเสริมให้ทุกหน่วยงานมีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างความปลอดภัยและป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลอย่างแท้จริง
- สร้างการตระหนักรู้แก่ประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ เกี่ยวกับความสำคัญในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้บริการดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง
ด้าน เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รักษาการแทนเลขาธิการสคส. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สคส. ได้เปิด “ศูนย์เฝ้าระวัง PDPC Eagle Eye” ที่มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบ และระงับเหตุอันตรายจากการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลอย่างทันท่วงที เพื่อให้เกิดความปลอดภัยอย่างสูงสุดต่อข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน ระบบนี้จะช่วยเฝ้าระวังและลดความเสี่ยงจากการละเมิดข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยระบบตรวจสอบข้อมูลอัตโนมัติ PDPC Eagle Wings ที่มีความแม่นยำสูงถึง 100% ช่วยยับยั้งภัยคุกคามด้านข้อมูลส่วนบุคคลก่อนที่จะเกิดความเสียหาย
อีกหนึ่งความสำเร็จที่มุ่งเน้นคือ แอปพลิเคชัน Smart PDPA ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงการตรวจสอบและป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลได้อย่างสะดวก โดยโครงการ Government Platform for PDPA Compliance (GPPC) จะมีส่วนช่วยให้หน่วยงานภาครัฐปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้อย่างครบถ้วน
นอกจากนี้ยังมีแผนความร่วมมือกับนานาชาติผ่านมาตรฐาน Cross Border Privacy Rules (CBPR) เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยของข้อมูลข้ามพรมแดน โดยจะมีการเตรียมพร้อมเข้าสู่ระบบดังกล่าว เพื่อให้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของไทยได้รับการยอมรับในระดับโลก
"ปัจจุบันภาครัฐ ภาคเอกชน และเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลทั่วประเทศ กว่า 1,000 คน เพื่อร่วมกันผลักดันแผนแม่บทการส่งเสริมและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2567-2570 ที่จะยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยให้เทียบเท่าระดับสากล ร่วมกันสร้างกำแพงป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลที่แข็งแกร่งที่สุด"