ลุ้นแจ้งเกิด'สตรีมมิงแห่งชาติ' ปี 72 กสทช.ชงโมเดลรับทีวีดิจิทัลหมดอายุ

ลุ้นแจ้งเกิด'สตรีมมิงแห่งชาติ' ปี 72 กสทช.ชงโมเดลรับทีวีดิจิทัลหมดอายุ

แผนการจัดทำ แพลตฟอร์มสตรีมมิงแห่งชาติ (National streaming platform) เป็นความพยายามของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ดกสทช.) โดยเฉพาะภายใต้การทำงานของ ‘พิรงรอง รามสูต’ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์

พิรงรอง กล่าวว่า การเกิดดิสรัปชั่นโดยเฉพาะอุสาหกรรมโทรทัศน์เริ่มแสดงพิษสงอย่างชัดเจนในช่วง 5-6 ปีให้หลัง จากการถาโถมของตลาดวิดีโอ ออน ดีมานด์ สตรีมมิง แพลตฟอร์ม รวมไปถึงโซเชียลมีเดียหลักๆในไทย เมื่อมองถึงบทบาทของ กสทช. ในการกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์ พิรงรอง กล่าวว่า ไม่ใช่มีบทบาทหน้าที่เพียงในการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ เท่านั้น

แต่ กสทช.ยังต้องมีบทบาทหน้าที่ในการ ส่งเสริมสนับสนุน (Supporter) และเป็นผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) ในการพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อ ซึ่งในปัจจุบัน กสทช. มีนโยบายที่สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ดังกล่าวอย่างครอบคลุม เช่น แนวทางการพัฒนาแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งแห่งชาติ การพัฒนาหลักเกณฑ์การส่งเสริมเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และระบบสะสมแต้มเนื้อหาที่มีคุณค่า (social credit) และ การส่งเสริมสื่อชุมชน

ร่างแผนแม่บทเตรียมพร้อม

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือน ก.ย.ปี 2566 ที่ผ่านมา กสทช. ได้จัดทำแผนแม่บทฉบับที่สอง ร่วมเพิ่มโอกาสเข้าถึงโทรทัศน์ของภาคประชาชน พร้อมมีการทำ โครงการ National streaming platform แห่งชาติ ซึ่งวางรูปแบบเป็น การจัดทำแพลตฟอร์มดิจิทัล สตรีมมิงแห่งชาติ เพื่อทำให้แพลตฟอร์มนี้เกิดขึ้นเร็วที่สุด กลายเป็นสมบัติส่วนกลาง เป็นสื่อกลางในการรับชมของประเทศ

ดังนั้นในอนาคต เมื่อผู้ที่ได้รับใบอนุญาตโทรทัศน์แห่งชาติ ตามมาตรฐานของ กสทช. ได้ร่วมบริหารแพลตฟอร์มนี้ สำหรับโมเดลนี้จึงคล้ายกับการทำ แพลตฟอร์ม ฟรีลี่ (Freely) ของประเทศอังกฤษ ที่รวบรวมทั้งช่องทีวีดิจิทัล ช่องสาธารณะ และมีเรกูเลเตอร์ ร่วมสนับสนุน ซึ่งก็เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนที่ใบอนุญาตทีวีดิจิทัลจะสิ้นสุดลงในปี 2572

เธอ กล่าวว่า การกำกับดูแลและส่งเสริมกิจการโทรทัศน์ที่อยู่ระหว่างดำเนินการมี 4 เรื่อง คือ 1.ร่างประกาศส่งเสริมการรวมกลุ่มของนักวิชาชีพหรือองค์กรสื่อ ให้เกิดการกำกับดูแลกันเองตามมาตรฐานจริยธรรม 2.ร่างหลักเกณฑ์กำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัล หรือ OTT 3.ร่างประกาศหลักเกณฑ์ส่งเสริมเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และ 4.ร่างใบอนุญาตโทรทัศน์ชุมชน ซึ่งแต่ละเรื่องมีความสำคัญ

ประกาศฯคือเครื่องมือกำกับดูแล

อย่างไรก็ดี กสทช.ต้องทำหน้าที่ตามกฎหมาย ก็ต้องออกประกาศถึงจะเป็นเครื่องมือในการดำเนินการ อย่างร่างโอทีที ตามมติบอร์ด กสทช. 9 ส.ค. 2566 บอกชัดเจนว่า วิดีโอออนดีมานด์ และวิดีโอแชริ่งเซอร์วิส เป็นเซอร์วิสโพรไวเดอร์ตาม พ.ร.ฎ.ดิจิทัลแพลตฟอร์ม เราเป็นผู้กำกับดูแล ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ ที่มีนิยามเรื่องโทรทัศน์

ดังนั้น จึงเป็นที่มาของแนวคิดที่จะดูแลกิจการโทรทัศน์ให้ดำเนินต่อไปได้ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ออนไลน์ (Online Migration) ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้วบางส่วน จะเห็นช่องโทรทัศน์กว่า 15 ช่อง มีการเปลี่ยนแปลงด้วยการมีช่องทางให้บริการวิดีโอออนดีมานด์ของตัวเอง หากมองในต่างประเทศการเปลี่ยนผ่านไปสู่ออนไลน์ไม่มีความลำบาก

สำหรับการดำเนินการอยู่ในระหว่างการพิจารณาโดยจะเอาเข้ามาพิจารณาของบอร์ดในการงบประมาณกองทุนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (Universal Service Obligation) หรือ USO มากดำเนิน เบื้องต้นได้บรรจุเรื่องนี้ไว้ในกรอบนโยบาย USO Boardcast ระบบที่พัฒนาขึ้นออกแบบให้ทุกคนสามารถเอาคอนเทนท์ขึ้นมาสตรีมบนแพลตฟอร์มได้เลย

ใครที่มีแพลตฟอร์มอยู่แล้วสามารถให้บริการต่อไป แนวคิดนี้ได้หารือกับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลแล้วและเห็นด้วยที่จะมีแพลตฟอร์มกลางเพื่อการเปลี่ยนผ่านให้ทุกคนเข้าสู่ออนไลน์สตรีมมิ่งทุกราย

เน้นการส่งเสริมตามหลักสากล

ประโยชน์ที่จะได้จากเรื่องนี้ คือ ความชัดเจนของ Ad insertion/Ad manager และรูปแบบการดำเนินการ ,แก้ไขปัญหาลิขสิทธิ์ทำให้ผู้ผลิตคอนเทนท์ทำธุรกิจต่อไปได้ เมื่อใบอนุญาตดิจิทัลทีวีหมดอายุลง ทั้งนี้การกำหนดแนวทางที่ชัดเจนแนวทางดังกล่าวถือเป็นการกำกับดูแลและส่งเสริมกิจการ OTT ตามแนวทางสากล การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ยังรองรับแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้งานโมบายมากกว่าทีวีมากขึ้น

การจัดสรรคลื่นในภาพรวมทั่วโลกมีการเอาคลื่นย่าน 600 Mhz ไปให้บริการในกิจการโทรคมนาคม เมื่อรวมกับแนวโน้มการใช้งาน 4K มากขึ้นจะทำให้คลื่นความถี่ในกิจการโทรทัศน์เหลือน้อยลง คลื่นจะลดลงจากเดิม 470-694 MhZ เป็น 470 -614 Mhz ถ้ามีการใช้ 4K มากขึ้นแนวโน้มการลดลงของช่องโทรทัศน์จะลดลง ความเป็นไปได้คือเหลือแต่ช่องที่เป็น HD กับ 4K