จับตาโมเดลแก้ พ.ร.บ.ไปรษณีย์ฉบับใหม่ เกลี่ยต้นทุนผู้เล่นตลาดโลจิสติกส์
ดีอีตั้งโต๊ะเป็นเจ้าภาพแก้กฎหมาย 100 ปี พ.ร.บ.ไปรษณีย์ ฉบับใหม่ เล็งมีการตั้งเรกูเลเตอร์กลางกำกับดูแล มีระบบออกใบอนุญาต ให้การบริการส่งของ - พัสดุ ระบุที่ผ่านมา กฎหมายบังคับใช้แต่กับ 'ไปรษณีย์ไทย' ทำตลาดไม่แฟร์ ต่างชาติเข้ามาให้บริการแต่ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวงดีอีอยู่ระหว่างการยกร่าง พ.ร.บ.ไปรษณีย์ พ.ศ.2477 ใหม่ ให้มีความทันสมัย จากเดิมที่บังคับใช้มาเกือบ 100 ปี และเป็นการบังคับใช้เฉพาะ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เท่านั้น ขณะที่การแข่งขันในประเทศไทยมีผู้ให้บริการโลจิสติกส์ จำนวนมาก โดยเฉพาะการเข้ามาของบริษัทต่างชาติ ทำให้ไม่สามารถควบคุมคุณภาพ และการแข่งขันได้อย่างเหมาะสม เพราะไม่มีกฎหมาย และไม่มีการออกใบอนุญาตมาบังคับใช้อย่างเท่าเทียม
จนทำให้เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ของพ.ร.บ.ไปรษณีย์ ฉบับดังกล่าว การกำกับดูแลเรื่องของไปรษณีย์ของประเทศไทย เพราะเห็นว่าปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว การประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับไปรษณีย์มีนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้อง
ขณะที่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการกิจการไปรษณีย์ก็ได้ปรับเปลี่ยนเป็นรัฐวิสาหกิจ มีรูปแบบระบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ในการเปิดรับฟังความคิดเห็น พบว่าหน่วยงานรัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชนมีความสนใจในประเด็นสำคัญ อาทิ การจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลการดำเนินงานด้านไปรษณีย์ และบริการที่เกี่ยวข้อง
โดยมีข้อเสนอการจัดตั้งเป็นสำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแล หรืออื่นๆ รวมทั้งระบบการลงทะเบียนการขออนุญาตประกอบกิจการไปรษณีย์ของภาคเอกชน รวมทั้ง การออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแลผู้ให้บริการขนส่งพัสดุภัณฑ์รายอื่นๆ เพื่อให้ผู้บริโภคที่ใช้บริการขนส่งพัสดุภัณฑ์น้ำหนักเบาได้รับการคุ้มครองอย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
“จะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ และสังคมยุคดิจิทัล นำไปสู่การเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ที่สำคัญที่สุดคือ การเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน ดังนั้น ถ้าหากต้องการให้ผู้บริโภคได้รับการบริการที่ดี ผู้ที่ทำหน้าที่ในการบริการจะต้องมีการบริหารจัดการ การควบคุมที่ดี ดังนั้นหากจะพัฒนาระบบไปรษณีย์ของประเทศไทยที่มีประสิทธิภาพในการให้บริการ กฎหมายไปรษณีย์คือ หลักสำคัญ” ปลัดกระทรวงดีอี กล่าว
เร่งศึกษาโมเดล 5 ประเทศ
ด้าน นายดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไปรษณีย์ไทย กล่าวว่า ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการแก้ไข โดยกระทรวงได้จ้างมหาวิทยาลัยในประเทศไทยเป็นผู้จัดทำ มีรูปแบบกฎหมายที่ใช้งานแล้วมากกว่า 5 ประเทศ ทั้งในเอเชีย ยุโรป และ ออสเตรเลีย เพื่อเป็นต้นแบบ และนำมาปรับใช้ให้เข้ากับประเทศไทย คาดว่าร่างดังกล่าวจะเสร็จภายในปีหน้า เพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายด้านโลจิสติกส์ ต่อไป
กฎหมายดังกล่าว จะทำให้มีระบบการออกใบอนุญาตของผู้ให้บริการ ทำให้สามารถควบคุมคุณภาพ และการทุ่มตลาดของต่างชาติทั้งบริษัทขนส่งเอง และการแข่งขันส่งของเองของแพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซ ได้ เนื่องจากบริษัทต่างมีต้นทุนที่ไม่เท่ากัน การทุ่มตลาดจึงกระทบต่อภาพรวมของการแข่งขัน รวมถึงคุณภาพในการส่งสินค้า ปัญหาคลังระเบิด สินค้าส่งไม่ถึงมือ ของหายจะหมดไป กฎหมายจะมีมาตรการการลงโทษตามลำดับขั้น เช่น ปรับ หรือ พักใบอนุญาต เป็นต้น รวมถึงจะมีการกำหนดหน่วยงานกลางในการกำกับดูแลด้วย
อานิสงส์ตลาดอีคอมเมิร์ซโต
ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า ข้อมูลล่าสุดสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) พบว่ามูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ปี 2566 หรือ Value of e-Commerce Survey in Thailand 2023 พบว่าเมื่อมองกลับไปที่ปี 2565 พบว่ามูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรืออีคอมเมิร์ซในประเทศไทย มีมูลค่าถึง 5.43 ล้านล้านบาท โดยกลุ่ม B2C ครองแชมป์กินสัดส่วนมูลค่าอีคอมเมิร์ซมากกว่าครึ่งถึง 51.7% อุตสาหกรรมประกันภัยมาแรง โตมากสุดกว่า 31% ส่วนช่องทางการขายยอดฮิตหนีไม่พ้น e-Marketplaces และ Social Commerce ส่งผลให้ปี 2566 มูลค่าอีคอมเมิร์ซไทย คาดพุ่งถึง 5.96 ล้านล้านบาท และสิ้นปี 2567 น่าจะเติบโตไม่น้อยกว่า 10-15%
ทั้งนี้ การสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซจากกลุ่มตัวอย่างของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซทั่วประเทศ ได้สำรวจจาก 8 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต, อุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง, อุตสาหกรรมการขนส่ง, อุตสาหกรรมการให้บริการที่พัก, อุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสาร และการสื่อสาร, อุตสาหกรรมการประกันภัย, อุตสาหกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ และอุตสาหกรรมการบริการด้านอื่นๆ
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณามูลค่าอีคอมเมิร์ซรวมจำแนกรายอุตสาหกรรม พบว่า อุตสาหกรรมการค้าปลีก และค้าส่ง ยังคงครองแชมป์มีมูลรวมมากที่สุด อยู่ที่ 2.83 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย อุตสาหกรรมการค้าปลีก 1.53 ล้านล้านบาท และอุตสาหกรรมการค้าส่ง 1.30 ล้านล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการผลิต 6.99 แสนล้านบาท อุตสาหกรรมการขนส่ง 5.52 แสนล้านบาท อุตสาหกรรมการให้บริการที่พักและอาหาร 4.28 แสนล้านบาท และ อุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 2.99 แสนล้านบาท
ไปรษณีย์ไทยให้บริการครอบคลุม
โดยช่องทางการขายออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดหนีไม่พ้น e-Marketplaces อยู่ 24.58% ซึ่งอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการขายผ่านช่องทางดังกล่าวมากที่สุด ได้แก่ การค้าปลีกและค้าส่ง รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิต และบริการที่พัก และอาหาร ตามลำดับ รองลงมาคือ การขายผ่านทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชันของกิจการเอง 23.60% และ Social Commerce (มากสุดคือ Facebook รองลงมาคือ TikTok และ Instagram) 22.25%
ประเภทของช่องทางการชำระเงินที่ถูกเลือกใช้งานมากที่สุด คือ Mobile/Internet Banking สัดส่วน 68.12% ของช่องทางทั้งหมด รองลงมาคือ เก็บเงินปลายทาง 7.92% เพราะตอบโจทย์ผู้บริโภครายได้น้อยและต้องการตรวจสอบสินค้าก่อนชำระเงิน และสั่งจ่ายผ่านเช็ค 6.93% โดยนิยมมากในกลุ่มธุรกิจด้วยกัน
ขณะที่ ช่องทางการขนส่งสินค้า พบว่า SMEs นิยมใช้มากสุดคือ ธุรกิจขนส่งสินค้าในประเทศ 41% ในแบรนด์ต่างชาติเนื่องจากความเร็วในการจัดส่งสินค้า และต้นทุนต่ำจึงเลือกใช้ช่องทางนี้มากที่สุด รองลงมา ไปรษณีย์ไทย 32% เนื่องจากให้บริการครอบคลุมพื้นที่ขนส่งครอบคลุมทั่วประเทศไทย และมีความปลอดภัยสูง
ในขณะที่ธุรกิจระดับ Enterprises นิยมเลือกใช้ บริษัทจัดส่งสินค้าด้วยตนเอง 63 % เนื่องจากต้องการควบคุมเวลา และคุณภาพของสินค้าในการส่ง รองลงมาคือ บริษัทจัดส่งสินค้าในประเทศ 38% ตามลำดับ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์