แห่งแรกในอาเซียน! ‘แพทย์ มช.’ ผนึก ‘ไอบีเอ็ม’ ใช้ Agentic AI ยกระดับการแพทย์

แห่งแรกในอาเซียน! ‘แพทย์ มช.’ ผนึก ‘ไอบีเอ็ม’ ใช้ Agentic AI ยกระดับการแพทย์

รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มช. จับมือ “ไอบีเอ็ม”  ดึง AI วิเคราะห์เชิงลึก-ส่งตรวจห้องปฏิบัติการอัตโนมัติ ยกระดับบริการ พร้อมเชื่อมโยงระบบครบวงจร แห่งแรกในอาเซียนที่นำ Agentic AI มาประยุกต์ด้านการแพทย์

นายอโณทัย เวทยากร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จํากัด กล่าวว่า โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ ไอบีเอ็ม แถลงความร่วมมือโครงการนําร่องใช้เทคโนโลยี Generative AI สนับสนุนการวินิจฉัย และการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการอัตโนมัติครบวงจร

ทั้งนี้ อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่โปร่งใสเชื่อถือได้ ภายใต้ระบบธรรมภิบาล AI (AI Governance) มาตรฐานโลก ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ ลดเวลาการรอรับบริการของผู้ป่วย พร้อมสนับสนุนการตัดสินใจของแพทย์ด้วยข้อมูลเชิงลึกรอบด้านที่ถูกต้อง แม่นยํา สร้างความมั่นใจ เพิ่มคุณภาพ และเพิ่มความรวดเร็วในการรักษา

ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ)นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. เผยว่า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ ทีม IBM Client Engineering ในการพัฒนาโมเดลด้วย watsonx.data และ watsonx.ai เพื่อสนับสนุนและผนวกการทํางานของระบบปฏิบัติการทางการแพทย์ หรือแล็บต่างๆ เข้าด้วยกันแบบครบวงจร

โดยเชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยย้อนหลัง ผลตรวจจากห้องปฏิบัติการต่างๆ และงานวิจัยทางการแพทย์ เพื่อวิเคราะห์เชิงลึกและเป็นข้อมูลประกอบสนับสนุนการวินิจฉัยของแพทย์ และเอื้อให้แพทย์สามารถส่งคําสั่งตรวจแล็บเพิ่มเติมได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านการป้อนข้อมูลแบบระบบมือ (Manual)

แห่งแรกในอาเซียน! ‘แพทย์ มช.’ ผนึก ‘ไอบีเอ็ม’ ใช้ Agentic AI ยกระดับการแพทย์

นอกจากนี้ ระบบยังสามารถเชื่อมโยงตารางการให้บริการของแล็บอัตโนมัติ พร้อมบริหารจัดการผลตรวจให้พร้อมสําหรับการนัดหมายติดตามอาการของแพทย์ในครั้งต่อไป  

นอกจากระบบดังกล่าวจะลดความผิดพลาดจากการป้อนข้อมูลระบบมือ (Manual) และการส่งต่อข้อมูลข้ามระบบแล้ว ยังเชื่อมโยงการตรวจแล็บต่างๆ อาทิ การตรวจเลือด การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ฯลฯ อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความถี่ในการมาโรงพยาบาลโดยไม่จําเป็น ขณะเดียวกันการบริหารจัดการการนัดหมายและการตรวจเพิ่มเติมต่างๆอย่างครบวงจร ยังช่วยลดเวลาการรอของผู้ป่วยลงได้อย่างมีนัยยะสําคัญ 

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นองค์กรนำร่องแห่งแรกในการนําเทคโนโลยีทั้งหมดมาใช้และให้ความสําคัญกับการวางรากฐานของข้อมูลที่ถูกต้องเชื่อถือได้ (trusted data) ปราศจากอคติ

มองถึงการนําระบบธรรมภิบาล AI มาใช้ตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งเป็นส่วนสําคัญที่ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือและความแม่นยําของระบบ AI (trustworthy AI) ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สร้างความมั่นใจให้ผู้ป่วยที่ใช้บริการที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

ที่ผ่านมาโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มช. ได้นําร่องการนํา AutoAI มาช่วยสนับสนุนการพัฒนาแอปบริการผู้ป่วยและการรักษาในอนาคตของทีมนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลของคณะแพทยศาสตร์ มช.

โดยช่วยสนับสนุนการเขียนโค้ด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและร่นระยะเวลาในการพัฒนาแอพต่างๆ รองรับการสนับสนุนการรักษา และการบริการคนไข้ในอนาคต สอดคล้องกับพันธกิจหลักของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

ความสําเร็จที่เกิดขึ้นในวันนี้รวมถึงแผนงานต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ สอดคล้องวิสัยทัศน์ที่เราต้องการสร้างความเป็นเลิศในการบริการ การรักษา ต่อยอดไปถึงการวิจัยพัฒนา ไม่เพียงแต่ในเชียงใหม่หรือประเทศไทย แต่ยังก้าวนําในระดับอาเซียน เพื่อประสิทธิภาพ คุณภาพ และความพึงพอใจสูงสุดของผู้รับบริการ ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วย ทั้งในแง่ความน่าเชื่อถือปลอดภัย และโปร่งใสของระบบ  และการให้บริการสุขภาพที่ได้มาตรฐานระดับสากลตามนโยบายการก้าวสู่ Digital faculty

 

นายอโณทัย กล่าวเสริมว่า ความสำเร็จของการพัฒนาในครั้งนี้เป็นการนำ Agentic AI มาประยุกต์ด้านการแพทย์เป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

วันนี้ไม่มีใครปฏิเสธความสามารถของเทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI แต่สิ่งที่สร้างความแตกต่างให้กับโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คือการให้ความสําคัญด้าน digital platform กับระบบ AI และข้อมูลที่เชื่อถือได้ มีความเที่ยงตรง และอยู่ในกรอบธรรมาภิบาลด้านการแพทย์ เพราะเป็นสิ่งที่จะสะท้อนผ่านคุณภาพการรักษาและการบริการผู้ป่วยโดยตรง”  “

วิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นของทีมแพทยศาสตร์ฯ ได้สะท้อนให้เห็นในความสําเร็จของการนําร่องในวันนี้ และจะเป็นต้นแบบในการพัฒนาคุณภาพการบริการและการรักษาให้กับโรงพยาบาลทั้งในไทยและอาเซียนต่อไป