‘ไอบีเอ็ม’ มองเทรนด์ ‘AI’ ปี 68 ปฐมบทใหม่ดิจิทัลปฏิวัติโลกธุรกิจ

‘ไอบีเอ็ม’ มองเทรนด์ ‘AI’ ปี 68 ปฐมบทใหม่ดิจิทัลปฏิวัติโลกธุรกิจ

ยักษ์ฟ้า "ไอบีเอ็ม" มองเทรนด์ AI ปี 2568 โอกาสและความท้าทายที่รออยู่สำหรับภาคธุรกิจ ไปดูกันว่าจะมีอะไรที่น่าสนใจ และอะไรบ้างที่กำลังเข้ามาพลิกโฉมในศักราชใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้...

KEY

POINTS

  • ปี 2568 AI จะถูกนำมาใช้งานจริงอย่างเป็นรูปธรรม
  • องค์กรธุรกิจจะโฟกัสที่ผลตอบแทน คาดหวังว่าจะได้รับ ROI จากการลงทุนด้าน AI
  • "Strategic AI” จะถูกมาใช้ในปี 2568
  • ปีหน้า “Agentic AI” ซึ่งผสมผสาน AI กับระบบอัตโนมัติ จะสร้างประสิทธิภาพการดำเนินงาน ยกระดับประสบการณ์ลูกค้า และเสริมการตัดสินใจได้อย่างมีนัยสำคัญ
  • ความก้าวหน้าควรตั้งอยู่บนแนวคิดที่ว่า AI เป็นตัวสนับสนุนมากกว่าที่จะแทนที่มนุษย์ 

วันนี้ AI กำลังวิวัฒนาการอย่างรวดเร็วจากการทดลองนำร่องสู่การนำไปใช้เชิงกลยุทธ์

อโณทัย เวทยากร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย แสดงทัศนะ พร้อมประเมินว่า ปี 2568 จะได้เห็นว่า AI ถูกนำไปใช้งานจริง โดยองค์กรจะมองหาโมเดล AI ที่มีความเฉพาะด้านและมีขนาดเล็กลง และมาพร้อมสถาปัตยกรรมแบบโอเพ่นซอร์สที่ให้ความยืดหยุ่นในการใช้งาน

สำหรับปฐมบทใหม่ในพัฒนาการด้าน AI นี้ การโฟกัสจะอยู่ที่การเน้นความได้เปรียบในการแข่งขันและการเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) ซึ่งต้องอาศัยความสามารถในการบูรณาการแพลตฟอร์มได้แบบไร้รอยต่อ 

อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วย AI จะปูทางไปสู่ Agentic AI แต่เหนือสิ่งอื่นใด ปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้ทุกอย่างเกิดขึ้นได้คือ แนวทางการใช้ AI ที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง

ก้าวต่อไป AI ในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทยปี 2568 การลงทุน AI จะมุ่งที่การออโตเมทกระบวนการธุรกิจของส่วนงานแบ็คออฟฟิศ (29%) การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานด้านไอที (18%) รวมถึงการออโตเมทงานด้านการขายและการจัดการวงจรชีวิตของลูกค้า (16%)

โดยมีความก้าวหน้าและเข้าถึงได้ง่ายขึ้นของเทคโนโลยี AI (42%) ความกดดันในแง่สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน (41%) รวมถึงความกดดันจากลูกค้า (39%) เป็นแรงผลักดันที่สำคัญ

อย่างไรก็ดี เพื่อบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ องค์กรไทยจำเป็นต้องต่อกรกับความท้าทายหลัก อย่างปัญหาเวนเดอร์ล็อคอิน (41%) การขาดเครื่องมือหรือแพลตฟอร์มสำหรับการพัฒนาโมเดล AI (38%) และต้นทุนการติดตั้งระบบหรือค่าใช้โซลูชัน AI ต่างๆ (34%)

‘ไอบีเอ็ม’ มองเทรนด์ ‘AI’ ปี 68 ปฐมบทใหม่ดิจิทัลปฏิวัติโลกธุรกิจ

สำหรับนโยบายรัฐที่จะผลักดันให้ไทยกลายเป็น AI ฮับนั้นเชื่อว่ามีความเป็นไปได้เสมอ ทว่าสิ่งสำคัญคือการยกระดับทักษะบุคลากรเพื่อสร้างความเป็นไปได้ให้เกิดขึ้น ถามว่าสายไหมคงไม่สายไป แต่ว่าต้องเร่งสร้าง เชื่อว่าคนไทยมีศักยภาพ ไทยควรเปลี่ยนจากซูเปอร์ยูสเซอร์ ไปเป็นครีเอเตอร์ได้แล้ว

‘ปลดล็อค’ ศักยภาพใหม่ธุรกิจ

รายงาน “APAC AI Outlook 2025” ซึ่งเป็นภาพสะท้อนถึงสิ่งที่องค์กรต้องฝ่าฟันเพื่อปลดล็อคศักยภาพการทรานส์ฟอร์มธุรกิจด้วย AI จัดทำโดย “ไอบีเอ็ม” เผยว่า องค์กรในเอเชียแปซิฟิกกำลังเดินหน้าเพื่อก้าวข้ามระยะทดลองการใช้ AI สู่การสร้างผลลัพธ์สูงสุดจากการลงทุนด้าน AI

โดยมากกว่าครึ่งหนึ่ง (54%) คาดหวังว่า AI จะนำมาซึ่งประโยชน์ระยะยาวแก่องค์กรธุรกิจ อาทิ นวัตกรรมหรือการสร้างรายได้ โดยการพัฒนาโซลูชัน AI ที่คุ้มค่า และมีความยืดหยุ่นจากการใช้โมเดลโอเพนซอร์สที่ปรับแต่งให้เข้ากับโฟกัสขององค์กร ขณะที่ความสามารถในการบูรณาการระบบที่มีผู้ให้บริการหลายรายได้แบบไร้รอยต่อจะเป็นตัวพลิกเกมสำคัญ

การมองหาความสำเร็จระยะสั้น ช่วงเริ่มแรกของโครงการ Generative AI (Gen AI) ต่างๆ ทำให้องค์กรเข้าใจศักยภาพของ AI ลึกซึ้งมากขึ้น นำสู่การเปลี่ยนโฟกัสจากการใช้งานในรูปแบบงานที่มีความเสี่ยงต่ำและไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักขององค์กร ไปสู่การใช้ Gen AI ในฟังก์ชันธุรกิจหลักเพื่อเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันและ ROI จากการลงทุน

ไอบีเอ็มพบว่า เกือบ 60% ขององค์กรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคาดว่าตนจะได้รับ ROI จากการลงทุนด้าน AI ภายในสองถึงห้าปี และมีเพียง 11% เท่านั้นที่คาดหวังจะได้รับผลตอบแทนภายในสองปี

‘5เทรนด์’ กำหนดอนาคต AI

สำหรับเทรนด์เชิงกลยุทธ์ “5 ประการ” ที่จะกำหนดอนาคต AI ขององค์กรในเอเชียแปซิฟิกและในประเทศไทยในปี 2568 ประกอบด้วย

1. รายได้ที่ขับเคลื่อนด้วย AI จะทวีความสำคัญ: องค์กรจะนำแนวทาง "Strategic AI” มาใช้ในปี 2568 โดยให้ความสำคัญกับโครงการต่างๆ บนพื้นฐานของความเป็นไปได้และผลกระทบทางธุรกิจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการตกผลึกว่า การพยายามสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับภายในองค์กรเพื่อความสำเร็จของโครงการ AI ในระยะแรกต้องสมดุลกับกลยุทธ์ระยะยาว ความท้าทายในวันนี้คือการสเกล AI ผ่านกรณีการใช้งานต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสทางรายได้และ ROI สูงสุด

2. โมเดลโอเพนซอร์สขนาดเล็กและเฉพาะทางจะเป็นทางเลือกที่ทรงพลังสำหรับการใช้งาน AI ในรูปแบบต่างๆ: โมเดลที่สร้างขึ้นเพื่อตอบวัตถุประสงค์เฉพาะเจาะจงขององค์กรจะเป็นที่ต้องการมากขึ้น ซึ่งรวมถึงโมเดลที่ออกแบบเฉพาะสำหรับภาษาท้องถิ่น ตอบโจทย์บริบทของแต่ละภูมิภาค และงานการคำนวณคอมพิวติ้งที่ซับซ้อนน้อยกว่า 

โดย “Rightsizing AI” นี้ จะใช้ข้อมูลในการเทรน AI น้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ และสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นต์น้อยกว่าโมเดลภาษาขนาดใหญ่

‘ธรรมาภิบาล’ กุญแจสู่ความสำเร็จ

3. องค์กรเปิดรับเครื่องมือใหม่เพื่อสร้างความโปร่งใส รวมถึงกำกับดูแลและช่วยบูรณาการระบบ AI แบบไร้รอยต่อ: องค์กรในเอเชียแปซิฟิกรวมถึงในไทย จะใช้ประโยชน์จากโมเดล AI โอเพ่นซอร์สมากขึ้นเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมและประสิทธิภาพ

โดย “Unified AI” พร้อมเครื่องมือการบูรณาการที่มีประสิทธิภาพ จะทำให้การบริหารจัดการโซลูชันต่างๆ เป็นไปอย่างยืดหยุ่น คุ้มค่า มีการรักษาความปลอดภัยที่ดีขึ้น และเชื่อมโยงโซลูชันของผู้ให้บริการต่างๆ ได้แบบไม่มีสะดุด

4. ตัวช่วย AI จะกำหนดอนาคตการทำงานรูปแบบใหม่: องค์กรจะมองถึงเวิร์กโฟล์วการทำงานเชิงปฏิบัติการมากขึ้น โดยมีตัวช่วย AI (AI agent) ที่สามารถทำหน้าที่ต่างๆ ได้อัตโนมัติด้วยตัวเองคอยสนับสนุน โดยทำงานร่วมกับพนักงานในองค์กรเพื่อสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจ

ปี 2568 “Agentic AI” ซึ่งผสมผสาน AI กับระบบอัตโนมัติ จะสร้างประสิทธิภาพการดำเนินงาน ยกระดับประสบการณ์ลูกค้า และเสริมการตัดสินใจได้อย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม องค์กรจำเป็นต้องวางแนวทางกรอบควบคุมภายในและประเมินโมเดลที่รองรับอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจถึงการใช้งานอย่างมีจริยธรรมและรับผิดชอบ

‘มนุษย์’ ต้องเป็นศูนย์กลาง

5. นวัตกรรมที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางจะขับเคลื่อนเฟสต่อไปของ AI: แม้การใช้งานในฐานะการเป็นเครื่องมือเพิ่มผลิตภาพจะเป็นโฟกัสหลักของการนำ AI มาใช้ในช่วงที่ผ่านมา แต่อนาคตจะขึ้นอยู่กับการใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อยกระดับประสบการณ์และความสามารถของมนุษย์ 

โดยแนวทาง “Human-Centric AI” จะกลายเป็นเครื่องมือทรงพลังสำหรับพนักงานในองค์กร ทั้งในแง่การสนับสนุนบทบาทหน้าที่ต่างๆ การช่วยออโตเมทกิจวัตรงานต่างๆ รวมถึงการปลดล็อคโอกาสใหม่ๆ ในด้านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม การให้ความสำคัญกับการออกแบบ AI ที่เข้าใจความรู้สึก จะช่วยให้องค์กรสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าและความภักดีต่อแบรนด์ได้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ไอบีเอ็มระบุว่า ส่วนที่ขาดไม่ได้ในการพัฒนา AI คือ “มนุษย์” และมนุษย์จำเป็นต้องมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งรวมถึงการตรวจตราการใช้งานที่สำคัญๆ อย่างสม่ำเสมอ

วัตถุประสงค์ของ AI จะต้องเป็นไปเพื่อการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกเสมอ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมแห่งการสร้างความน่าเชื่อถือ การร่วมมือ และการสร้างสรรค์ร่วมกัน

ขณะที่ความก้าวหน้าควรตั้งอยู่บนแนวคิดที่ว่า AI เป็นตัวสนับสนุนมากกว่าที่จะแทนที่มนุษย์ โดยทั้งคู่สามารถทำงานและเติบโตไปด้วยกันได้