'Beam' จากขี้เกียจกรอกวีซ่า สู่ Startup ฟินเทคไทยระบบชำระเงินง่ายสุดในโลก
สัมภาษณ์พิเศษ “วิน ชัยชนะ วารีเกษม” CEO แห่ง “Beam” สตาร์ตอัปฟินเทคมาแรงที่พร้อมยกระดับออนไลน์เพย์เมนต์ให้ทุกธุรกิจง่ายและปลอดภัยสูงสุด
การทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์กลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญสำหรับทุกคนไปแล้วในยุคนี้ ในเมื่ออีคอมเมิร์ซโตเร็วดั่งจรวด ระบบชำระเงินก็จำเป็นต้องพัฒนาตามให้ทัน ไม่ว่าจะด้านความสะดวกรวดเร็ว ไปจนถึงความปลอดภัยที่กำลังเป็นภัยคุกคาม
Beam เป็นสตาร์ตอัปฟินเทคที่โตเร็วเป็นอันดับต้นๆ ของไทย ด้วยความตั้งใจว่าจะสร้างระบบการชำระเงินที่ง่ายที่สุดในโลก ภายใต้วิสัยทัศน์ “The World’s Simplest Ways to Checkout” ที่วันนี้ วิน ชัยชนะ วารีเกษม ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Beam จะมาเผยเส้นทางการเติบโตแบบก้าวกระโดดของ Beam แบบหมดเปลือก
จุดเริ่มต้นของ Beam ?
“Beam มีผู้ร่วมก่อตั้ง 3 คน มีผม มีคุณณัฐภัทร ไชยมโนวงศ์ ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี และคุณชินกฤต เปี่ยมชล ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายพัฒนาธุรกิจ
ตัวผมเองก่อนที่จะมาก่อตั้ง Beam ก็ทำอยู่ที่ Roland Berger เป็นบริษัทที่ปรึกษาการจัดการ ระดับนานาชาติ เป็นงานแรกของผมเลย ผมทำงานอยู่ที่นั่น 5 ปี แล้วผมก็ได้โอกาสทำงานในหลากหลายอุตสาหกรรม แต่ที่ทำเยอะเป็นพิเศษคือในโทรคมนาคมและในสายเทค ผมเองเรียนจบที่อังกฤษ เรียนด้าน Aerospace Engineering คือเรียนเกี่ยวกับการสร้างเครื่องบิน จรวดต่างๆ ก็เป็นวิศวกรรมการบิน แล้วผมก็มีทำงานวิจัยอยู่ที่อังกฤษ ตอนนั้นทำไปสักพักหนึ่งหลากหลายบริษัทก็ค้นพบว่าตัวเองอยากสร้างธุรกิจมากกว่า อยากอยู่ใกล้บ้านมากกว่า ก็เลยย้ายกลับมา”
จากสายงานที่เรียน กลายมาเป็น Beam ได้อย่างไร?
“ตั้งแต่เด็กจนโตผมคิดอยู่แล้วว่าอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง แต่ผมเองก็ไม่รู้จะทำธุรกิจอะไร สิ่งที่เคยทำไปแล้วมีตั้งแต่ฟิล์มหน้าจอที่ผลิตที่เคมบริดจ์แล้วเอาเข้ามาไทยตอนแรกๆ และเคยเกือบทำบริษัทผลิต Functional Drink ด้วยซ้ำ ค่อนข้างจะค้นหาลองทำไปหลากหลายมาก จนกระทั่งปี 2018 ผมก็มีแผนที่จะไปเที่ยวกับครอบครัว ผมเป็นคนทำวีซ่าให้คนในครอบครัว มันใช้เวลานานมาก แล้วเว็บก็ล่มบ่อย กรอกซ้ำแล้วซ้ำเล่า ใช้เวลาทั้งบ่ายวันนั้นเพื่อจะทำวีซ่า ก็เลยรู้สึกว่าทำไมช่วงปี 2018 ยังกรอกฟอร์มด้วยข้อมูลซ้ำๆ ไม่ว่าเราจะไปทำอะไร ขอวีซ่า สมัครบัตรเครดิตใหม่ สมัครเมมเบอร์ใหม่ เขาขอข้อมูลซ้ำตลอด ทำไมเรายังทำสิ่งนี้อยู่
ในโลกนี้จะมีบางประเทศ ยกตัวอย่างสิงคโปร์ที่เขามีสิ่งที่เรียกว่า Singpass สมมติเราจะไปสมัครงานหรือว่าจะไปสมัครเมมเบอร์ที่ไหน เขาแค่ถามว่าอยากได้ข้อมูลใดจากเรา เราก็แค่กดยืนยัน พอกดยืนยันทุกอย่างก็เรียบร้อยเลย ทะเบียนราษฎรเราก็มีข้อมูลพวกนี้อยู่แล้ว ทำไมเรายังต้องกรอกซ้ำๆ พอเว็บล่มปุ๊บเราต้องกรอกใหม่หมดเลย ก็เลยคิดว่าหรือจะมีวิธีที่ง่ายกว่านี้ แล้วเราทำอะไรแบบ Singpass ออกมาได้ไหม นั่นจึงเป็นที่มาที่ไปของการเริ่มทำวิจัยเองในช่วงวันหยุด ทำอยู่หกเดือน ตอนนั้นผมอายุ 25-26 เอง ก็ยังมีประสบการณ์น้อยมาก แต่ก็มั่นใจว่าอีกหกเดือนเราจะออกจากบริษัทแล้วมาก่อตั้ง Beam ด้วยเงินที่เราเก็บเอาไว้จากการทำงานประจำ
พอเราออกมาสร้าง Beam ก็เป็นจุดที่เราตัดสินใจว่าเป็นช่วงเวลาชีวิตที่เรารับความเสี่ยงได้เยอะที่สุด เราไม่จำเป็นต้องมีเงินเดือน เดี๋ยวเราเอาเงินเก็บนี้มาลองลุยดู ใช้แรงบันดาลใจจากสตาร์ตอัปส่วนมากที่อเมริกา เราศึกษาเยอะครับว่าเขาโตอย่างไรในแต่ละด้าน
สิ่งที่เราทำขึ้นมาเรียกว่าเป็น Personal Data Locker คล้ายๆ กับ Singpass เลย เป็นแอปใน iOS และ Android เซฟข้อมูลตัวเองอย่างปลอดภัยเข้าไป พอไปในแต่ละที่เราก็มีการทำงานกับบริษัทหลากหลายขนาด หลากหลายอุตสาหกรรม เราลองเข้าไปในบริษัทเหล่านี้ ไปลองดูว่าโจทย์นี้เราแก้ได้ไหม สมมติคนที่จะซื้อตั๋วเครื่องบิน หรือคนที่จะมาดาวน์บ้าน จองคอนโด ทำอย่างไรให้ไม่ต้องกรอกข้อมูลเยอะและทำธุรกรรมได้ไว หรือไปคาเฟ่ สมัครเมมเบอร์ได้ไว
เราได้รับฟีดแบกเยอะ หนึ่งในนั้นที่ทำให้เป็นจุดเปลี่ยนที่แท้จริง คือเราไปทำงานกับบริษัทเช่ารถ เขาบอกว่า Beam ช่วยแก้ปัญหากรอกฟอร์มน่ะดี แต่ปัญหาอยู่ที่เพย์เมนต์ หรือการชำระเงิน คือตอนที่ลูกค้าตัดสินใจแล้วว่าจะจองรถ เขาจะต้องกรอกฟอร์มแล้วทำการชำระเงินหรือวางเครดิตการ์ดไว้ ตอนนั้นด้วยความที่เราก่อตั้งบริษัทครั้งแรก เราจึงยังไม่มีประสบการณ์และไม่ได้เรียนรู้ตลาดมากพอ เราก็คิดว่าเพย์เมนต์มีบริษัทใหญ่ๆ อยู่มากมาย รวมถึงธนาคารหลายที่ที่ทำระบบเพย์เมนต์ไปเยอะมาก มันน่าจะไม่มีอะไรให้เข้าไปแก้แล้ว แต่ว่าบริษัทเหล่านี้บอกว่าถึงแม้จะแก้ปัญหาการกรอกฟอร์ม แต่ถ้าลูกค้าไปหายระหว่างจังหวะการจ่ายเงินก็ไม่เวิร์คอยู่ดี
ตัดภาพมาปัจจุบัน เราทำทีละก้าวเล็กๆ ให้วิสัยทัศน์ของ Beam คือให้เราทุกคนไม่ว่าทำธุรกรรมใด ต้องทำง่ายที่สุด ทำที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นออนไลน์หรือหน้าสาขา จุดให้บริการต่างๆ หนึ่งคลิกหรือแค่การแตะบัตรหนึ่งครั้งก็แล้วแต่”
จุดแตกต่างของ Beam กับระบบเพย์เมนต์เดิมๆ คืออะไร ?
“ความเข้าถึงง่ายเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งแต่จะไม่ใช่อย่างเดียว ก็คือเจ้าใหญ่ๆ ปัจจุบัน เขาจะโฟกัสเรื่องการชำระเงิน สองคือความปลอดภัยของการชำระเงิน และมีสตาร์ตอัปในต่างประเทศมากมายโตได้ ก็จะเป็นจุดที่สามที่เชื่อมต่อง่าย สมมติวันนี้เราสร้างเว็บขึ้นมาใหม่เราก็จะเชื่อมต่อเพย์เมนต์ง่าย
ปัจจุบันเทรนด์เหล่านี้มันเป็นธรรมดาแล้ว ถ้าเราใช้ระบบชำระเงินเราต้องปลอดภัย เราต้องเชื่อมต่อระบบนั้นได้
เทรนด์ในโลกนี้เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ผมยกตัวอย่างสองเทรนด์ใหม่ๆ ในช่วงโควิดและหลังโควิดนะครับ อันแรก คือร้านค้าในไทยมีการขายของผ่าน LINE มากขึ้น หรือ Facebook, Instagram หรือว่า TikTok สิ่งเหล่านี้เราเรียกว่า Social Commerce เพราะฉะนั้นทำอย่างไรให้เพย์เมนต์ยังคงตอบโจทย์อยู่ ในวันหนึ่งที่หน้าร้านเขาต้องปิดไปโดยเหตุสุดวิสัย ทำอย่างไรให้ร้านยังเสิร์ฟลูกค้าได้ในขาออนไลน์ หรืออีกเทรนด์คือเรามีการใช้ Mobile Banking มากขึ้น มีการใช้ Wallet หรือหลากหลายช่องทางการชำระเงิน แล้วสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งใหม่ที่ตลาดอื่นอาจจะไม่ได้เห็น สมมติว่าเราไปเที่ยว แล้วเราอยู่ยุโรปหรืออเมริกา เราจะเห็นได้ว่าเขามีเครื่องรูดบัตร แตะบัตร อันเดียวอาจจะพอแล้ว แต่ในเมืองไทยแน่นอนว่าไม่พอ ถ้าเรามีแค่เครื่องแตะบัตร คนก็เริ่มโวยแล้วว่าทำไมถึงโอนเงินไม่ได้ ทำไมอยากจ่ายด้วยทรูมันนี่ไม่ได้ และยังมี Wallet ออกใหม่มาเรื่อยๆ พอมีเทรนด์เหล่านี้ จะทำอย่างไรให้ร้านค้าไม่ต้องมาห่วงเรื่องเพย์เมนต์ พอเรามองภาพที่เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นหรือปัญหาที่เขาพบ หรืออุปสรรคความท้าทายต่างๆ ที่เขาพบ เรามามองว่าทำอย่างไรให้ Beam เป็นเหมือนเพย์เมนต์ของเขาที่จัดการให้หมดโดยที่เขาแค่มีหน้าที่โฟกัสกับธุรกิจของเขาเอง
เพราะฉะนั้นนำมาซึ่งช่องทางการชำระเงินที่ครบ การชำระเงินที่สะดวกสบายและง่ายในฝั่งของลูกค้า ส่วนร้านค้าก็หายห่วงเรื่องเพย์เมนต์ไป”
Beam มีคู่แข่งไหม ใครคือคู่แข่งของ Beam ?
“มีครับ มีอยู่มากมายเลยครับ คือโปรดักท์ที่เป็นเพย์เมนต์เกตเวย์ เราจะเห็นอยู่มากมายในตลาด หลายไซส์ด้วย แล้วที่เรียกว่าเพย์เมนต์เกตเวย์จริงๆ แม้กระทั่งธนาคารเองก็ยังมีเลย แต่พอคำว่าคู่แข่งในตลาด ถ้าเรามองแบบสวมเลนส์เข้าไปลึกอีกหนึ่งเลเวล เราก็จะเห็นว่ามีแต่ละเจ้าจับแต่ละจุดของตลาด แล้วเราเข้ามาแก้ปัญหาในส่วนไหน เช่น เน้นการรับชำระเงินก็อาจจะเวิร์คกับธนาคารหนึ่งก็ได้ แต่ถ้าเรามองลงไปลึกๆ เจ้าที่เราจับกับเจ้าที่อีกเจ้าจับ ก็ต่างกันเยอะมาก ไม่ว่าจะด้วยขนาด หรือว่าอุตสาหกรรม ระบบรับชำระเงินจะต่างกันไป เราจึงไปโฟกัสที่จุดที่เราเก่ง กับร้านค้าของเรา”
Beam อยู่กลุ่มไหน ?
“Beam ร่วมงานกับบริษัทที่เป็นไซส์กลางขึ้นไป ที่มีความต้องการเรื่องการชำระเงินที่ครบเครื่องมากขึ้น บวกกับอุตสาหกรรมฝั่งรีเทลเยอะเป็นพิเศษ ค้าปลีกในฝั่งแฟชั่น สายเสื้อผ้า หรือฝั่งอิเล็กทรอนิกส์ ขายอุปกรณ์ไฟฟ้า Home&Living รวมถึงพาร์ทเนอร์ฝั่ง Health&Beauty ด้วย”
ถ้าบริษัทอยากร่วมงานกับ Beam มีความยืดหยุ่นอย่างไร ?
“แน่นอนครับ เพราะเราคุยกับทีมเสมอว่าเราสร้างธุรกิจมา วิธีการออกแบบแต่ละโปรดักท์ แต่ละฟีเจอร์ เราไม่ได้มองว่าเจ้านี้ทำอย่างไร เจ้านู้นทำอย่างไร หรือแม้แต่ที่ต่างประเทศเขาทำอย่างไร นั่นเป็นสิ่งสุดท้ายที่เราทำ แต่สิ่งแรกคือเรามาดูก่อนว่าปัญหาที่เขาพบคืออะไร อุปสรรคของเขาคืออะไร เขามีความท้าทายอะไรในการขยายธุรกิจบ้าง แล้วในอุตสาหกรรมของเขาจะต้องแก้ปัญหาเพย์เมนต์อะไรถึงจะโตได้ แล้วเรามาดูสิว่าถ้าเริ่มต้นจากกระดานขาวนี้ ลองมาวาดภาพตรงนี้มาว่าควรจะเป็นอย่างไร แล้วเราสร้างสิ่งนั้นให้เขาโดยพัฒนาต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จากฟีดแบกที่เราได้รับ นั่นคือวิธีที่ Beam โตมาจนถึงปัจจุบัน โดยที่เราไม่ได้พยายามเป็นเหมือนคนอื่น”
ด้วยความที่ Customize ได้ ใครคือลูกค้าของ Beam ?
“คำว่า Custom เราอาจจะไม่ได้ทำถึงขั้นว่าคุณอยากเปิดบริษัทหนึ่ง เดี๋ยวเรามาออกแบบเว็บไซต์ให้ เราไม่ได้ทำในแบบนั้น แต่เราอาจจะ Custom ไปในจุดที่ว่าอุตสาหกรรมนั้นๆ ต้องการอะไร เช่น ในอุตสาหกรรมรีเทลที่ Beam เก่ง หรือมีลูกค้าอยู่เยอะหน่อย ก็คือการขายของผ่านหลากหลายช่องทางออนไลน์ ถ้าเป็นค้าปลีกทั่วไป ส่วนหนึ่งเขาอาจจะอยากอยู่บนหน้าเว็บของเขาเอง ส่วนหนึ่งอยู่บน Social Commerce อีกฝั่งหนึ่งอาจมีการขายบน Marketplace หน้าร้านอาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ ทีนี้จะทำอย่างไรให้ตอบโจทย์การขายผ่านแต่ละช่องทางของเขาเองได้”
อะไรคือจุดแข็งที่ทำให้ลูกค้าเป็นพันรายอยู่กับ Beam ?
“เราคิดเสมอว่าจะทำอย่างไรให้ Beam ช่วยเขารับชำระเงินได้หลากหลายช่องทางที่เขาขาย อันนี้พูดถึงช่องทางการขายก่อนนะครับ ส่วนต่อไปคือช่องทางการชำระเงิน ทำอย่างไรให้มีช่องทางการชำระเงินได้ครบ และแน่นอน แต่ละช่องทางการชำระเงิน เรามอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้เขา เช่น บัตรเครดิตลำระเงินเข้ามา ในรอบต่อไป กดคลิกเดียวก็จะชำระเงินได้ทันที เป็นต้น”
เมื่อจำนวนคลิกน้อยลง ขั้นตอนง่ายขึ้น Beam มีเรื่องความปลอดภัยอย่างไร ?
“เรามีมาตรฐานที่ Beam ทำในขั้นที่เกินว่าจำเป็นในธุรกิจของเราด้วยซ้ำ เช่น ในโรงงานอุตสาหกรรมจะมี ISO ส่วนของเพย์เมนต์จะมีสิ่งที่เรียกว่า PCI DSS คือ ข้อกำหนดด้านความปลอดภัยเพื่อปกป้องสภาพแวดล้อมที่ข้อมูลบัญชีการชำระเงินถูกจัดเก็บ ประมวลผล หรือส่งต่อ อันนี้ Beam ก็อยู่ในเลเวล 1 เป็นเลเวลที่สูงที่สุดในตลาด และเราก็ทำไปเพื่อความปลอดภัยในการรับชำระเงินด้วยบัตร
และในฝั่ง Non-card แน่นอนว่าในสามคลิกที่เราตั้งใจให้จบขั้นตอน เราก็จำเป็นจะต้องมีการยืนยันตัวตนเข้าไปในแอปธนาคาร อาจจะเป็นลายนิ้วมือ อาจจะเป็นสแกนหน้า ก็ยังคงจำเป็นต้องมี หรือการใส่บัตรครั้งแรกก็จะต้องมี OTP ความปลอดภัยเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ
อีกส่วนหนึ่งคือความปลอดภัยของการดูแลเงินของร้านค้า และดูแลไม่ให้คนที่ประสงค์ร้ายเข้ามาทำการโจรกรรม เราได้ร่วมกับแบงก์ชาติ มีใบอนุญาตสองใบที่จะประกอบธุรกิจนี้ เพระาฉะนั้นเราถูกกำกับอยู่ภายใต้แบงก์ชาติอยู่แล้ว เพื่อดูแลเงินของร้านค้า และเราได้มีการตรวจสอบบัญชีที่เข้ามาทำธุรกรรม รับเงิน ให้โปร่งใสทั้งหมด
นอกจากนี้เรายังร่วมงานกับ ปปง. เพื่อช่วยดูแลตรวจสอบไม่ให้มีร้านค้าที่จะทำการฟอกเงิน จะเห็นว่าเราดูครบวงจรเพื่อป้องกันภัยแต่ละอย่างที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และมั่นใจได้ว่าการชำระเงินตรงนี้ปลอดภัยที่สุด
และเราไม่ได้ทำครั้งเดียวแล้วจบ เพราะนับวันผู้ประสงค์ร้ายก็จะเก่งขึ้น เราก็ต้องปรับตัวตลอดเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านความปลอดภัยอยู่เสมอ”
นอกจากเรื่อง Security ยังมีเรื่อง Privacy ด้วย Beam จัดการเรื่องนี้อย่างไร ?
“ที่เราพูดถึงการกรอกฟอร์ม นั่นคือเรื่องความเป็นส่วนตัวเลย เพราะเมื่อ 5 ปีที่แล้วเมืองไทยยังร่าง PDPA อยู่เลย ตอนนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในยุโรปจะมีสิ่งที่เรียกว่า GDPR เป็น PDPA เวอร์ชันของเขา ส่วนนั้นเป็นส่วนที่เรานำแรงบันดาลใจมาตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้ง Beam เพราะเราต้องทำอย่างไรให้ข้อมูลส่วนตัวไม่มีการรั่วไหล พอมาถึง PDPA เป็นเรื่องที่ Beam ทำตั้งแต่วันแรกที่เราทำเพย์เมนต์ ในเรื่องความเป็นส่วนตัวจึงเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญมาก
เราทำตามกฎหมาย PDPA และทำมากไปกว่านั้นด้วยจากการนำแรงบันดาลใจจาก GDPR มาใช้ เรามีการแนะนำลูกค้าซึ่งหมายถึงร้านค้า ว่าการดูแลข้อมูลเหล่านี้จะต้องดูแลอย่างไร แน่นอนว่าข้อกังวลของ PDPA คือเป็น พรบ.ที่ยังใหม่ ความใหม่นี้ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะรู้จักดี Beam จึงให้คำแนะนำสิ่งเหล่านี้”
ถ้ามีบริษัทอยากใช้บริการ Beam ต้องทำอย่างไร ?
“ง่ายมากเลยครับ นี่คือจุดเด่นอีกอย่างที่เราตั้งใจทำ คือการสมัครระบบรับชำระเงินเป็นสิ่งที่ในยุคก่อนๆ ไม่ง่าย เอกสารเป็นตั้งเลย เราจึงพยายามทำให้เปิดบัญชีได้ภายใน 1-3 วัน
ถ้าเข้าไปในเว็บไซต์เรา กด Get Started ลงทะเบียนเข้ามา กรอกข้อมูลเบื้องต้นไม่กี่ช่อง แล้วเราจะมีทีมติดต่อกลับไปภายในวันนั้น เพื่อสอบถามความต้องการและแนะนำการลงทะเบียนที่ง่ายครับ”