ซิมผี 2 แสนเบอร์พ่นพิษ! กสทช.สั่งเช็คบิลสอบเอกชนเปิดช่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์
กสทช.อุดช่องโหว่ ป้องกันซื้อขายซิมการ์ดจำนวนมาก เร่งหาวีธีกำกับดูแล ป้องกันนิติบุคคลซื้อเบอร์เพื่อไปจำหน่ายต่อ ทำระบบรั่วหลุดไปยังมิจฉาชีพ เผยซิมผีแก๊งคอเซ็นเตอร์จีนเทากว่า 200,000 เลขหมายที่ตำรวจจับเป็นซิมเติมเงินทั้งหมด ประสานค่ายมือถือเจ้าส่งรายงาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันนี้ (24 ธ.ค.) พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ด้านกฎหมาย และประธานอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยีฯ เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช.จะมีการหารือในการกำกับดูแลการซื้อขายซิมการ์ดจำนวนมากๆ หลังจากที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับแก็งคอลเซ็นเตอร์ชาวจีนในคอนโดมีเนียมย่านห้วยขวาง และได้ยึดซิมการ์ดได้มากถึง 200,000 เลขหมาย
โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า เป็นซิมการ์ดในระบบพรีเพด (เติมเงิน) ซึ่งถูกซื้อมาในนามนิติบุคคล ซึ่งยอมรับว่า ถึงตอนนี้ยังไม่มีการจำกัดจำนวนในกรณีบริษัทที่เป็นนิติบุคคลซื้อซิมการ์ดจำนวนมากเพื่อไปจำหน่ายต่อ มีเพียงการออกกฎระเบียบให้ผู้ที่ถือครองซิมการ์ดมากกว่า 5 เลขหมาย มาจดแจ้งการถือครองซิมในการใช้งาน โดยทาง กสทช.กำลังเร่งแก้ปัญหาไปทีละขั้นตอน เพราะหากใช้ยาแรงทันทีอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้งานและผู้ประกอบธุรกิจต่างๆ ได้ และจะทำหนังสือให้ค่ายมือถือที่เป็นเจ้าของซิมการ์ดที่ถูกจับกุมมารายงานถึงขั้นตอนการจำหน่ายซิมการ์ดไปยังคู่ค้าด้วย
“ในอดีตที่ผ่านมามีการแจกซิมการ์ดฟรีจำนวนมาก ซิมการ์ดบางส่วนจะอยู่ใน อุปกรณ์ไอโอที จีพีเอส และพ็อกเกตไว-ไฟ เป็นต้น ที่อาจถูกเปลี่ยนผ่านมา แล้วอยู่ในกลุ่มที่ทำผิดกฎหมายได้ ขณะเดียวกันก็มีซิมการ์ดบางส่วนถูกขายไปยังนักท่องเที่ยว และนำไปขายในต่างประเทศให้นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในไทย โดยตอนนี้ทางเจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบว่าเป็นซิมการ์ดที่จับได้จากแก็งคอลเซ็นเตอร์ว่าของใครบ้าง”
พล.ต.อ.ณัฐธร กล่าวต่อว่า ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นคือในอดีตมีการจำหน่ายซิมโดยไม่ผ่านการลงทะเบียน ส่งผลให้การตรวจสอบและติดตามการกระทำผิดเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนที่มีการลักลอบใช้งานซิมการ์ดจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในส่วนของการที่รัฐบาลและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้มีการเสนอแก้ไข พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 นั้น ที่จะมีการกำหนดให้ผู้ประกอบการมือถือและธนาคารต้องมีส่วนร่วมผิดชอบนั้น
ในส่วนของกสทช.จะมีกำหนดขั้นตอนให้ทางค่ายมือถือ และสถานบันการเงิน และ ธนาคารต้องปฏิบัติตาม แต่หากไม่ดำเนินการอะไรเลยก็ต้องมีส่วนร่วมรับผิด เช่น หากมีธุรกรรมที่ผิดปกติ มีการโอนเงินจำนวนมากต้องรีบเจ้าของบัญชีทันที เป็นต้น แต่หากผู้ประกอบการดำเนินการตามทุกขั้นตอนแล้ว แต่ความเสียหายเกิดจากความโลภของผู้ใช้งาน ก็ไม่ต้องร่วมรับผิด ซึ่งต้องมีการพิสูจน์เป็นกรณีไป และต้อรอดูกฎหมายที่ออกมาอีกครั้ง
ประเทศสิงคโปร์ได้ออกกฎหมาย ให้มือถือและธนาคารต้องมีส่วนร่วมผิดชอบแล้ว และประเทศออสเตรเลียก็กำลังดำเนินการ ซึ่งจะร่วมถึงแพลตฟอร์มโซเซียลมีเดียด้วย เพราะเป็นประเทศที่มีอำนวจการต่อรองสูง แต่ประเทศไทยอาจจะยังทำไม่ได้ เพราะโซซียลมีเดียต่างๆ จดทะเบียนอยู่นอกประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ในส่วนเรื่องการเข้มงวดในเรื่องการส่งเอสเอ็มเอส (SMS) แนบลิงก์สำหรับบริการส่งข้อความสั้น จะต้องทำการลงทะเบียนใหม่ทั้งหมดนั้น ทางอนุกรรมการฯ ได้ประชุมกันเรียบร้อยแล้ว จะเร่งดำเนินการให้เสร็จบังคับใช้ได้ในต้นปี 68 เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด