‘เดลล์’ มองอิทธิพล ‘AI’ ขุมพลังขับเคลื่อนโลกธุรกิจปี 68
“เดลล์ เทคโนโลยีส์” จับเทรนด์ไอที ซึ่งกำลังเข้ามาเป็นตัวกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในปี 2568 และปีถัดไปจากนี้
KEY
POINTS
- Agentic จะเป็นคำแห่งปี 2568 ความก้าวหน้าในการกำหนดทิศทางของเทคโนโลยี AI
- ปี 2568 จะเป็นปีที่เราจะได้เห็นว่ามีการขยายการใช้งาน AI ในองค์กรอย่างแท้จริง
- การผสานขุมพลังควอนตัมและ AI จะเป็นตัวพลิกโฉมอุตสาหกรรม
- ความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างมนุษย์กับ AI และระหว่างมนุษย์กับมนุษย์จะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนอนาคตดิจิทัล
“เดลล์ เทคโนโลยีส์” จับกระแสไอที วิเคราะห์แนวโน้มเกิดใหม่ที่สำคัญ ซึ่งกำลังเข้ามากำหนดทิศทางและพลิกโฉมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในปี 2568 และปีถัดไป...
จอห์น โรส ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีระดับโลก และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่าย AI เดลล์ เทคโนโลยีส์ เปิดมุมมองว่า ไม่ว่าปัจจุบันองค์กรธุรกิจจะพิจารณาเทคโนโลยีใดอยู่ก็ตาม ทุกอย่างล้วนเชื่อมโยงกับระบบนิเวศ AI ทั้งสิ้น
ทุกเทคโนโลยีในปัจจุบันมีทั้งให้ศักยภาพด้าน AI หรือไม่ก็ใช้ศักยภาพของ AI มาช่วยในการทำงาน เรากำลังพัฒนาจาก AI ที่รับคำสั่งและตอบสนองตามนั้น ไปสู่ชุดเครื่องมือที่ตอบโต้การทำงานแบบอัตโนมัติได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และให้ความสามารถเชิงลึกมากขึ้นซึ่งจะช่วยให้เราทำอะไรได้มากมายอย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน
'Agentic AI’ วาระแห่งปี 68
ที่น่าจับตามองอย่างมากคือ “การเติบโตของสถาปัตยกรรม Agentic AI” เดลล์คาดการณ์ว่า Agentic AI คือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการโต้ตอบระหว่างมนุษย์กับ AI
Agentic จะเป็นคำแห่งปี 2568 โดยเป็นความก้าวหน้าในการกำหนดทิศทางของเทคโนโลยี AI และจะเป็นตัวเร่งให้เกิดความก้าวหน้าที่สำคัญต่อแนวทางการออกแบบสถาปัตยกรรม AI
การพัฒนาของ Generative AI ทำให้เกิดเอเจนต์ AI อัจฉริยะที่สามารถทำงานซับซ้อนได้แบบอัตโนมัติ สื่อสารด้วยภาษาธรรมชาติ และทำงานร่วมกับมนุษย์และเอเจนต์ AI อื่นๆ ได้อย่างราบรื่น
โดยเอเจนต์ AI ที่มีความชำนาญเฉพาะทางเหล่านี้จะมีทักษะการทำงานที่หลากหลาย ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมและปฏิวัติกระบวนการทำงาน
สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น กำลังก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วในการเตรียมพร้อมและนำ AI ไปปรับใช้งาน โดยได้รับแรงผลักดันจากการลงทุนจำนวนมหาศาล ซึ่งคาดว่าจะสูงถึง 110 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2028 การเติบโตนี้เห็นได้ชัดจากการขยายตัวของตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ที่พร้อมรองรับ AI ทั่วภูมิภาค และความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นของระบบเอเจนต์ AI ที่ทำให้เกิดความจำเป็นในการพัฒนาชุดเทคโนโลยี (technology stacks) อย่างรวดเร็วเพื่อรองรับสถาปัตยกรรมที่หลากหลาย
ปีแห่งการ ‘ใช้งานจริง’
โรส เผยว่า วันนี้องค์กรมีแนวคิดที่ต้องขยายการใช้งาน AI อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันกำลังให้ความสำคัญกับผลตอบแทนจากการลงทุนที่จับต้องได้และมูลค่าทางธุรกิจจากโครงการความริเริ่มด้าน AI มากขึ้น มีการจัดตั้งคณะกรรมการด้าน AI โดยเฉพาะที่นำโดยประธานเจ้าหน้าที่ด้าน AI หรือประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสารสนเทศ (CIO)
แนวทางที่เน้นการปฏิบัติได้จริงนี้สะท้อนให้เห็นอัตราความสำเร็จที่เพิ่มขึ้นของโครงการนำร่อง GenAI ในมุมมองของเรา ปี 2568 จะเป็นปีที่เราจะได้เห็นว่ามีการขยายการใช้งาน AI ในองค์กรอย่างแท้จริง อีกทั้งให้ผลลัพธ์อย่างเต็มรูปแบบ
เดลล์ระบุว่า ระดับความพร้อมด้าน AI ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่นมีความแตกต่างกันมาก บางองค์กรมุ่งเน้นการขยายระบบ AI ที่มีการใช้งานอยู่แล้ว ขณะที่อีกหลายองค์กรยังคงจัดการกับความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และบริการ
อย่างไรก็ดี การขยายการใช้ AI ให้ประสบความสำเร็จ องค์กรธุรกิจต้องจัดลำดับความสำคัญของกระบวนการทำงานที่สร้างผลกระทบมากที่สุดและวางรากฐาน AI เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำอีกทั้งขยายขอบเขตการทำงานได้ ส่วนของความท้าทายมาพร้อมความหลากหลายของกฎระเบียบและความกังวลด้านความเป็นส่วนตัวที่เพิ่มมากขึ้น
ผสานรวมนวัตกรรม ‘ท้องถิ่น’
อีกประเด็นที่น่าจับตามองคือ การนำ Sovereign AI มาใช้เพื่อสร้างนวัตกรรมในท้องถิ่น จะเห็นได้ว่าวันนี้หลายประเทศมีความพยายามมากขึ้นในการพัฒนา Sovereign AI หรือปัญญาประดิษฐ์แบบพึ่งพาตนเอง เพื่อสร้างระบบนิเวศ AI ในท้องถิ่นที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม ภาษา และความต้องการด้านความปลอดภัยของข้อมูล
โดยแนวคิดดังกล่าวมุ่งเน้นที่ความสามารถของประเทศในการสร้างคุณค่าและความแตกต่างด้าน AI โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานและข้อมูลของตนเอง มาช่วยส่งเสริมระบบนิเวศที่สะท้อนถึงทรัพย์สินทางปัญญาของท้องถิ่นและการให้ความสำคัญ
พบด้วยว่า การผสานรวมของ AI กับเทคโนโลยีเกิดใหม่ เป็นหัวข้อสำคัญ เนื่องจากศักยภาพที่แท้จริงของ AI อยู่ที่การเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีเกิดใหม่เข้ากับความก้าวหน้าในด้านต่างๆ เช่น ควอนตัม คอมพิวติ้ง, อินเทลลิเจนท์ เอดจ์, การรักษาความปลอดภัยแบบซีโร่ ทรัสต์, เทคโนโลยี 6G, และดิจิทัล ทวิน
การผสานขุมพลังของควอนตัม คอมพิวติ้ง และ AI จะเป็นตัวพลิกโฉมให้กับหลายอุตสาหกรรม การให้พลังการประมวลผลที่จำเป็นจะช่วยให้นำ AI ไปใช้ในสาขาที่ซับซ้อน อย่างเช่น วิทยาศาสตร์วัสดุ การคิดค้นยา และในการแก้ไขปัญหาได้เหมาะสมที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่การประมวลผลแบบเดิมยังมีข้อจำกัดอยู่
อีกทางหนึ่ง เกิดผลกระทบในวงกว้างของ AI ต่ออุตสาหกรรมต่างๆ ตั้งแต่การปฏิวัติการดำเนินงานเครือข่ายโทรคมนาคมไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงของพีซีให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐาน AI
พลิกโฉม ‘คนทำงาน’
ผู้บริหารเดลล์ยังได้เน้นย้ำถึงผลกระทบที่เปลี่ยนแปลงของ AI ต่อตลาดแรงงาน ซึ่งต้องการให้องค์กรลงทุนในการพัฒนาความเชี่ยวชาญด้าน AI ของบุคลากร
เมื่อเอเจนต์ AI สามารถจัดการกับงานประจำได้มากขึ้น บทบาทของมนุษย์จะพัฒนาไปสู่การคิดเชิงกลยุทธ์ในระดับที่สูงขึ้น รวมถึงการแก้ปัญหาในเชิงสร้างสรรค์ และการตัดสินใจที่ซับซ้อน
ปัจจุบัน AI กำลังสร้างงานใหม่ในระดับสูง และเป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดการลงทุนครั้งใหญ่ในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งส่งผลกระทบเชิงบวกอย่างมหาศาลต่อการสร้างงาน
เรารู้ว่าจะมีงานพื้นฐานที่ AI สามารถทำได้ง่ายและทำซ้ำได้ อย่างไรก็ตาม ส่วนที่น่าตื่นเต้นคือมีการสร้างงานใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกที่
แน่นอนว่าเรื่องนี้มาพร้อมความท้าทายด้านช่องว่างบุคลากรและทรัพยากร ดังนั้นมีความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาทักษะด้าน AI ด้วยอนาคตของ AI ขึ้นอยู่กับความร่วมมือระหว่างมนุษย์กับ AI รวมถึงระหว่างองค์กรกับพันธมิตรด้านเทคโนโลยี
เมื่อมองไปข้างหน้า ความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างมนุษย์กับ AI และระหว่างมนุษย์กับมนุษย์จะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนอนาคตดิจิทัลร่วมกัน