ทักษะ ‘Generative AI’ เรื่องใหญ่ที่ ‘ซีอีโอ’ ต้องรู้
สิ่งที่ผู้นำควรรู้เกี่ยวกับทักษะ Generative AI และแนวโน้มการศึกษาในปี 2568 เพราะการลงทุนพัฒนาบุคลากรจะช่วยเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อความสำเร็จขององค์กรในอนาคต
KEY
POINTS
-
องค์กรเริ่มนำ Generative AI มาใช้เพื่อสร้างนวัตกรรม และพัฒนากระบวนการทำงานมากขึ้น
-
ปี 2568 ผู้บริหารองค์กรจึงต้องจัดฝึกอบรมทักษะด้าน AI ให้พนักงานต่อเนื่อง
-
การเรียนรู้โดยใช้ Generative AI กำลังเติบโตรวดเร็ว ภายในปี 2568 เทคโนโลยีนี้จะเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ของเราอย่างมีนัยสำคัญ
-
ไม่ว่าทิศทางธุรกิจจะเป็นอย่างไร การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยให้องค์กรก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง
เจเนอเรทีฟ เอไอ (Generative AI) น่าจะเป็นเรื่องที่คนทั่วโลกให้ความสนใจตลอดทั้งปีนี้ โดยเฉพาะในแวดวงเทคโนโลยี ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ก็มีคนพูดถึงและพยายามทำความเข้าใจว่ามันจะส่งผลต่อธุรกิจอย่างไร เชื่อว่าแม้ก้าวข้ามผ่านไปปี 2568 เราจะยังคงได้ยินเรื่องนี้อยู่
หากประเด็นการพูดคุยอาจกำลังเปลี่ยนไป เนื่องจากหลายองค์กรสามารถเริ่มนำ Generative AI ไปใช้งานได้จริง รวมถึงการทดลองใช้งานมากขึ้น
“มอรีน โลเนอร์แกน” รองประธานฝ่าย Training and Certification ของ Amazon Web Services (AWS) ยกผลศึกษาของ “ดีลอยท์” พบว่า สองในสามขององค์กรกำลังเพิ่มการลงทุนใน Generative AI เพราะเห็นว่า สร้างคุณค่าให้กับธุรกิจ การลงทุนที่เพิ่มขึ้นหมายความว่า ธุรกิจต้องการคนที่มีทักษะ AI มากขึ้น เพื่อทำตามแผนและกลยุทธ์ด้าน AI
ดังนั้นปี 2568 ผู้บริหารองค์กรจึงต้องจัดการฝึกอบรมทักษะด้าน AI ให้พนักงานต่อเนื่อง ในปี 2567 เราเห็นว่า ลูกค้าและพาร์ตเนอร์ของ AWS ต้องการช่วยให้พนักงานมีความรู้ด้าน AI มากขึ้น ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้จัดการฝึกอบรมทักษะด้าน AI โดยไม่มีค่าใช้จ่ายให้แก่บุคลากรจำนวนสองล้านคนทั่วโลก ภายในระยะเวลาเพียงหนึ่งปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ AI Ready ของ Amazon และความต้องการฝึกอบรมทักษะด้าน AI นี้จะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป
เปิดแนวโน้ม 5 ทักษะอื่นที่ไม่ควรมองข้าม
ขณะที่ แนวโน้มทักษะอื่นๆ อีก 5 เรื่องที่คาดว่า จะส่งกระทบต่อองค์กร และกลยุทธ์ด้านบุคลากรในปี 2568 ได้แก่ 1.ทักษะด้าน Generative AI ยังคงความสำคัญ แต่อย่าละเลยทักษะในด้านอื่นๆ ปัจจุบัน องค์กรเริ่มนำ Generative AI มาใช้เพื่อสร้างนวัตกรรม และพัฒนากระบวนการทำงานมากขึ้น
ผู้บริหารจำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับ Generative AI แต่ก็ต้องพัฒนาทักษะอื่นควบคู่กันไปด้วย
เช่น สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ การตัดสินใจ การฝึกสอนงาน และการบริหารการเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงมักมาพร้อมความไม่แน่นอน ผู้บริหารจึงต้องช่วยให้พนักงานเตรียมพร้อมและเข้าใจแนวทางองค์กรเกี่ยวกับการใช้ Generative AI
พนักงานต้องการคำแนะนำที่ชัดเจนและการสนับสนุนให้มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง รวมถึงบรรยากาศที่เอื้อต่อการทดลองสิ่งใหม่ ๆ โดยไม่กลัวความผิดพลาด องค์กรควรพิจารณาว่า วัฒนธรรมองค์กรส่งเสริมการเรียนรู้ต่อเนื่อง การคิดวิเคราะห์ และการทดลองในทุกระดับหรือไม่ Generative AI มีศักยภาพสร้างประโยชน์อย่างมหาศาล เกินกว่าที่หลายคนคาดการณ์ไว้ และเพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ได้เต็มศักยภาพ องค์กรจำเป็นต้องพร้อมทั้งทักษะด้านสังคม การทำงานร่วมกับผู้อื่นและทักษะทางเทคนิค
2.การเรียนรู้โดยใช้ Generative AI กำลังเติบโตรวดเร็ว คาดว่า ภายในปี 2568 เทคโนโลยีนี้จะเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ของเราอย่างมีนัยสำคัญ ความก้าวหน้าเทคโนโลยีช่วยลดข้อจำกัด ทำให้ผู้คนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพมากขึ้น
การเรียนรู้ที่ใช้ Generative AI จะเปิดโอกาสสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษาอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แม้ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถมีครูสอนพิเศษแบบตัวต่อตัวได้ แต่ด้วย Generative AI ผู้เรียนจำนวนมากสามารถได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ในลักษณะนี้ผ่านระบบดิจิทัล
งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า การสอนแบบตัวต่อตัวช่วยพัฒนาผลการเรียนของนักเรียนได้มีประสิทธิภาพ ระบบการสอนที่ขับเคลื่อนด้วย Generative AI จะช่วยเหลือผู้เรียนตลอดกระบวนการเรียนรู้ โดยวิเคราะห์ระดับความรู้ และทักษะปัจจุบัน ระบุจุดที่ต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติม พร้อมทั้งให้คำแนะนำและการโค้ชที่ปรับให้เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคนตลอดกระบวนการเรียนรู้
3.สนับสนุนการเรียนรู้แบบดิจิทัล ช่วยเร่งความสำเร็จขององค์กร ไม่เพียงแต่นักเรียนเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์จากผู้สอนหรือผู้ช่วยการเรียนรู้ที่ใช้ AI แต่พนักงานที่กำลังพัฒนาทักษะใหม่ก็ได้รับประโยชน์เช่นกัน ในมุมผู้บริหาร การลงทุนในระบบฝึกอบรมด้วยดิจิทัลสำหรับพนักงานจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ามากขึ้น เนื่องจากช่วยให้พนักงานเรียนรู้ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ส่งผลให้องค์กรสามารถพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะสำคัญเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว
กล่าวโดยสรุปคือเมื่อพนักงานสามารถเรียนรู้แนวคิดและทักษะใหม่ ๆ ได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย Generative AI พวกเขาก็จะสามารถช่วยองค์กรสร้างนวัตกรรมและขับเคลื่อนความสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
4.การฝึกอบรมแบบกลุ่มสร้างคุณค่าทางธุรกิจในระยะยาว การก้าวทันเทคโนโลยีทำได้ดีที่สุดด้วยการพัฒนาทักษะของคนทั้งองค์กร วิธีนี้สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่น่าสนใจและกระตุ้นการมีส่วนร่วม แต่การเลือกว่าจะลงทุนอะไร ที่ไหน อย่างไร เพื่อสร้างนวัตกรรมที่องค์กรต้องการมากที่สุดนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ในยุคที่ Generative AI กำลังมาแรง องค์กรต่าง ๆ มักจัดฝึกอบรมระยะสั้นที่เน้นเฉพาะด้าน
ไม่ว่าจะเป็นหัวข้อ ส่วนงาน หรือทีมใดทีมหนึ่ง สิ่งสำคัญคือการจัดอบรมแบบกลุ่มที่ส่งเสริมการทำงานร่วมกัน รวมถึงการระดมความคิด การลงมือปฏิบัติ และการพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีม การฝึกอบรมลักษณะนี้มีประโยชน์หลายประการ พนักงานได้กรณีศึกษาที่นำไปใช้ได้จริง ช่วยให้ใช้ทักษะใหม่ได้เต็มที่ และได้โอกาสทำงานสำคัญที่อาจไม่เกิดขึ้นหากไม่มีการเรียนรู้แบบร่วมมือ
นอกจากนี้ ผู้บริหารสามารถตัดสินใจได้เร็วในการมอบหมายงานใหม่หรือพัฒนาทักษะเพิ่มเติมให้บุคลากร และด้วยลักษณะการฝึกอบรมที่สั้นและเฉพาะเจาะจง องค์กรจะเห็นผลลัพธ์ได้เร็วขึ้น ซึ่งตอกย้ำประโยชน์ของการพัฒนาทักษะและนำไปสู่การสนับสนุนจากผู้บริหารมากขึ้น จากความสำเร็จของการฝึกอบรม Generative AI แบบกลุ่ม คาดว่าผู้บริหารจะใช้วิธีนี้มากขึ้นในการพัฒนาทักษะบุคลากรในปี 2568 และต่อๆ ไป เนื่องจาก Generative AI พัฒนาเร็วมาก ความรวดเร็วจึงสำคัญกว่าที่เคยในโลกเทคโนโลยีและธุรกิจ
5.การวัดผลทางธุรกิจจากการฝึกอบรม ในการเริ่มต้นการฝึกอบรมด้าน Generative AI สำหรับองค์กรต่าง ๆ สิ่งสำคัญคือการกำหนดวิธีวัดคุณค่าและผลลัพธ์ของการฝึกอบรม ประสิทธิภาพการทำงานเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องประเมิน แต่ยังมีอีกหลายด้านที่ต้องพิจารณา และเป็นเรื่องของการลงทุนระยะยาว การสร้างทีมที่มีทักษะที่เหมาะสมสำหรับแต่ละโครงการหรือแผนงานใหม่ ช่วยให้องค์กรไม่ต้องสรรหาบุคลากรใหม่ จ้างงานจากภายนอก
หรือแย่กว่านั้น คือ ต้องยกเลิกโครงการทั้งหมด การประเมินผลลัพธ์ทางธุรกิจจากการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องวัดผลได้จากการสามารถทำสิ่งที่ไม่อาจทำได้ หากไม่มีการพัฒนาทักษะ การวัดผลนี้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของบุคลากร อัตราการรักษาบุคลากร ประสิทธิภาพ การทำงานร่วมกัน และความกล้าในการริเริ่มสิ่งใหม่
อนาคตในปี 2568 ยังเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก เนื่องจาก AI มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะมีผลอย่างมากต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจและวิธีการทำงานของพนักงาน สิ่งที่ผู้นำองค์กรทำได้คือการสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้พนักงานพร้อมรับมือกับความท้าทายและโอกาสใหม่ ๆ อย่างมั่นใจ
ที่สำคัญไปกว่านั้น การลงทุนพัฒนาบุคลากรจะช่วยเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อความสำเร็จขององค์กรในอนาคต ไม่ว่าทิศทางธุรกิจจะเป็นอย่างไร การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยให้องค์กรก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง