‘เน็ตแอพ’ ผ่ากลยุทธ์เสริมพลังธุรกิจ ยุค ‘AI Transformation’
เปิดมุมมองผู้บริหาร "NetApp' กับเมกะเทรนด์เทคโนโลยีพลิกโลก AI เครื่องมืออันทรงพลังที่ช่วยขับเคลื่อนความสำเร็จให้กับธุรกิจยุคดิจิทัล มาดูกันว่า ปี 2568 มีอะไรบ้างที่น่าสนใจ ซึ่งธุรกิจจำต้องตามติดและเตรียมความพร้อมไว้บ้าง
KEY
POINTS
- ภูมิทัศน์ดิจิทัลของประเทศไทยเต็มไปด้วยโอกาสที่น่าสนใจ
- ปี 2568 จะเห็นการลงทุนที่เพิ่มขึ้นเพื่อผลักดันนวัตกรรมด้าน AI
- “ข้อมูล” เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนา การสร้างความสำเร็จในสมรภูมิ AI
- ความท้าทายที่องค์กรต้องเผชิญเมื่อต้องการนำ AI มาใช้งานคือ ความท้าทายด้านข้อมูล ความซับซ้อนของ AI และค่าใช้จ่าย
มาถึงวันนี้เริ่มมีบทพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “AI” เป็นเทคโนโลยีที่ทรงพลัง ตัวจักรสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนความสำเร็จให้กับธุรกิจยุคดิจิทัล...
อรรณพ วาดิถี ผู้จัดการประจำประเทศไทย เน็ตแอพ (NetApp) แสดงทัศนะว่า Al เป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพสูงและสร้างโอกาสใหม่ๆให้กับภาคธุรกิจ
ไม่ว่าจะเป็น Predictive AI ซึ่งสามารถระบุรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะจะใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพอย่างรวดเร็ว ไปจนถึง Generative AI ที่มีความสามารถในการสร้างรูปแบบใหม่ๆ เพื่อเพิ่มผลผลิต และสร้างประสบการณ์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
เน็ตแอพพบว่า ในปีนี้องค์กรไทยราว 17.8% ได้ก้าวข้ามช่วงทดลองและเริ่มใช้ AI ในการดำเนินงานจริงแล้ว ขณะเดียวกันอีก 73.3% กำลังวางแผนที่จะนำ AI มาใช้ในอนาคตอันใกล้
การเปลี่ยนแปลงนี้แสดงให้เห็นถึงการย้ายจากการทดลองไปสู่การใช้งานจริงอย่างเป็นรูปธรรม เพราะธุรกิจเริ่มเห็นศักยภาพของ AI ที่สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ปรับปรุงการจัดการภายใน และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ และบริการต่างๆ ได้
ทุกก้าวเต็มไปด้วย ‘ความท้าทาย’
สำหรับปี 2568 คาดว่าจะยังคงเห็นการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากบริษัทต่างๆ เพื่อผลักดันนวัตกรรมด้าน AI ให้ก้าวไปข้างหน้า
การนำ AI มาใช้ในวงกว้างนั้นเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอน เน็ตแอพพบว่า 31% ของบริษัททั่วโลกกำลังปรับงบประมาณจากส่วนงานธุรกิจอื่นๆ เพื่อมารองรับค่าใช้จ่ายในโครงการ AI ส่วนในไทยเองนอกจากการตื่นตัวของภาคเอกชน ได้เห็นว่ารัฐบาลไทยก็ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านนี้เช่นกัน
เมื่อประเมินความพร้อมของธุรกิจไทย เบื้องต้นพบว่ามีพัฒนาการที่ดี ธุรกิจไม่น้อยกว่า 15% ใช้ AI ในการทำงานแล้ว พบด้วยว่าธุรกิจไทยในหลากหลายอุตสาหกรรมเริ่มนำ AI มาใช้กันมากขึ้นอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ดี สิ่งที่องค์กรธุรกิจควรตระหนักและเตรียมความพร้อมสำหรับปี 2568 มีอยู่หลายประเด็น ทั้ง "การเสริมสร้างความไว้วางใจจากลูกค้า และการกำกับดูแลในบริการด้าน AI" สอดคล้องไปกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ขับเคลื่อนด้วย AI ทั้งในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ และบริการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา
ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ องค์กรจะต้องอธิบาย และพิสูจน์ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงลูกค้าเห็นถึงเหตุผล และวิธีการที่ AI ใช้ในการตัดสินใจ หลังจากนี้การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสจะเป็นสิ่งที่สำคัญมากขึ้นเมื่อความต้องการในการสร้างความไว้วางใจในบริการ AI นั้นเติบโต
องค์กรต้องมั่นใจว่า การใช้งาน AI ของตนมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และสอดคล้องกับมาตรฐานทางจริยธรรม การสร้างกรอบการกำกับดูแลที่แข็งแกร่งเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างความไว้วางใจ ป้องกันการใช้ AI อย่างไม่เหมาะสม และทำให้มั่นใจว่าเทคโนโลยี AI ถูกนำไปใช้อย่างรับผิดชอบและยั่งยืน
อีกหนึ่งแนวทางที่องค์กรควรพิจารณาคือ "การใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ (data minimalism)” ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่มีระบบและมีประสิทธิผลในการจัดการกับการสะสมข้อมูลที่ไม่จำเป็นและสิ้นเปลือง หากทำได้ดีธุรกิจไทยจะสามารถวางรากฐานที่ดีด้านข้อมูล ลดต้นทุน และก้าวไปข้างหน้าอย่างมีนัยสำคัญในการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน
ไอดีซีพบว่า มีข้อมูลขององค์กรเพียงแค่ 32% เท่านั้นที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ ส่วนที่เหลืออีก 68% กลับไม่ได้ถูกใช้งานเลย
ที่ไม่อาจมองข้ามคือการเตรียม “แรงงานที่พร้อมสำหรับอนาคต” ด้วยการแก้ไขช่องว่างด้านทักษะ AI ก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน
ผมเชื่ออย่างมั่นใจว่าการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างกลุ่มบุคลากรที่มีทักษะ และความพร้อมในการทำงานกับเทคโนโลยี AI ซึ่งจะสามารถขับเคลื่อนนวัตกรรม และสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของชาติได้
‘ข้อมูล’ กุญแจชี้วัดความสำเร็จ
อรรณพวิเคราะห์ว่า “ข้อมูล” เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนา การสร้างความสำเร็จในสมรภูมิ AI ธุรกิจต้องสามารถพัฒนาและใช้งานโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลที่แข็งแกร่ง ชาญฉลาด มีระบบนิเวศ AI ที่มั่นคง ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เกิดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จำต้องหาจุดสมดุลระหว่างการลงทุนใน AI และการใช้งานที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
ความรอบคอบเรื่องการเงิน การปรับใช้โครงสร้างพื้นฐานข้อมูลที่แข็งแกร่งและชาญฉลาดจะช่วยให้องค์กรไทยสามารถควบคุมข้อมูลของตนได้อย่างเต็มที่โดยไม่กระทบต่อประสิทธิภาพ และความปลอดภัย เช่นเดียวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ อื่นๆ การปรับเปลี่ยนทัศนคติถือเป็นสิ่งสำคัญในการส่งเสริมและเพิ่มอัตราการนำไปใช้ทั้งในระดับองค์กร และสังคม
แน่นอนว่า ที่ต้องให้ความสำคัญยังมีการพัฒนาทักษะบุคลากร รวมถึงการมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งสำหรับขับเคลื่อนนวัตกรรม ทั้งธุรกิจไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายจากข้อมูลที่แยกส่วนซึ่งเป็นอุปสรรคต่อความพร้อมในการนำ AI มาใช้
โดยสรุปแล้วความท้าทายที่หลายองค์กรต้องเผชิญเมื่อต้องการนำ AI มาใช้งานคือ ความท้าทายด้านข้อมูลและความซับซ้อนของ AI และค่าใช้จ่าย ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือ ศักยภาพของ AI ในองค์กรขึ้นอยู่กับคุณภาพของข้อมูลที่เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของการใช้ AI หากข้อมูลไม่เพียงพอหรือมีข้อบกพร่อง ความสามารถของ AI ก็จะถูกจำกัดตามไปด้วย
เชิงเทคนิคมีข้อควรพิจารณาสำหรับการสร้างระบบนิเวศที่รองรับยุคแห่งข้อมูลและ AI คือ 1.โครงสร้างพื้นฐานข้อมูลที่สามารถขยายตัวได้ 2. การบริหารจัดการข้อมูลแบบสากล และ 3. ความปลอดภัยของข้อมูล นอกจากนี้ การมีโครงสร้างข้อมูลคลาวด์แบบไฮบริดที่ทันสมัย และเชื่อมต่อกันอย่างชาญฉลาดจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้องค์กรไทยสามารถเปลี่ยนไอเดียหรือการทดลองต่างๆ ให้กลายเป็นมูลค่าทางธุรกิจที่จับต้องได้จริง
‘3 เสาหลัก’ ขับเคลื่อนธุรกิจไทย
ส่วนของเน็ตแอพ ทิศทางธุรกิจได้วางกลยุทธ์ที่ครอบคลุม ปรับให้เหมาะสมกับความต้องการของธุรกิจ เพื่อช่วยให้องค์กรไทยสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เปลี่ยนข้อมูลให้กลายเป็นทรัพยากรเชิงกลยุทธ์สำหรับ AI
โดยอยู่ภายใต้ 3 เสาหลักคือ 1.ความเข้าใจ และการจัดการข้อมูลสำหรับ AI 2. การนำ AI มาสู่ดาต้า และ 3. การนำ AI มาใช้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด
เรามุ่งสนับสนุนองค์กรไทยให้ใช้ AI และโครงสร้างพื้นฐานทางข้อมูล ขณะเดียวกันสามารถก้าวข้ามอุปสรรคและจัดการกับความท้าทาย รองรับโอกาสใหม่ๆ ที่กำลังเข้ามา
เน็ตแอพมีมุมมองว่า ภูมิทัศน์ดิจิทัลของประเทศไทยเต็มไปด้วยโอกาสที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการที่รัฐบาลมุ่งมั่นในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล
เห็นได้จากแผนยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการ AI แห่งชาติของประเทศที่มีเป้าหมายในการยกระดับความพร้อมของประเทศด้าน AI และเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลปีละ 10% เพื่อสนับสนุนการพัฒนา AI ทั้งในภาครัฐและเอกชน