เมื่อสมรภูมิโทรคมฯ ถูกแช่แข็ง ผลประโยชน์ผู้บริโภคอยู่ตรงไหน?
อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเหลือผู้เล่นเพียง 2 ราย คือ ‘เอไอเอส และ ทรู’ หลังจากดีลควบรวมมากกว่า 2.4 แสนล้านบาท ได้รับเห็นชอบจากบอร์ด กสทช. และต่อมาวงการเน็ตบ้าน ก็สร้างความฮือฮาตามมาติดๆ เมื่อ เอไอเอส ไฟเบอร์ ควักเงินเฉียด 2 หมื่นล้าน เทคโอเวอร์บริษัท 3บีบี
ตั้งแต่ที่ไทยเหลือผู้เล่นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเพียง 2 ราย คือ ‘เอไอเอส และ ทรู’ หลังจาก ‘ดีแทค’ โอเปอเรเตอร์จากเทเลนอร์ กรุ๊ป ถอยการลงทุนแล้วทำดีลซื้อขายหุ้นกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เกิดดีลควบรวมกิจการมูลค่าเฉียด 3 แสนล้านบาท
ผ่านมาถึงขณะนี้ปี 2568 การควบรวมทรู และดีแทค สู่บริษัทจดทะเบียนใหม่ในชื่อ ‘ทรู คอร์ปอเรชั่น’ เป็นเวลา 2 ปีกว่าแล้ว พูดได้เต็มปากว่า ภาพของการแข่งขันสงครามราคา โปรโมชัน และแพ็กเกจ เพื่อดึงดูดใจลูกค้า ได้เลือนหายไปเรื่อยๆ จนถึงวันนี้ราคาทุกแพ็กเกจของ 2 ค่ายมือถือใหญ่ที่มี ก็เรียกได้ว่าเท่ากันเป๊ะๆ ทุกโปรโมชันแบบนัดกันมาก็ว่าได้
สิ่งที่ชาวเน็ตจะได้ปี 2568
การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ บอร์ด กสทช. นัดสุดท้ายของปีเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 ยังมีวาระค้างการพิจารณาเรื่องการเปรียบเทียบรายงานการควบรวมกิจการของทรู และ ดีแทค กับการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) และ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ (3บีบี)
ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมากลั่นกรอง เพื่อจะเปรียบเทียบธุรกิจรวมถึงต้นทุนการให้บริการเพื่อคำนวณราคากลางในแต่ละธุรกิจ และทางบอร์ด กสทช. เองได้มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. เป็นผู้จัดทำราคากลางของโปรโมชันในแต่ความเร็วที่เอกชนให้บริการอยู่ว่าควรยึดตามเกณฑ์มาตรฐานตามราคากลางที่บอร์ด กสทช.กำลังจะมีผลบังคับใช้
ดังนั้น คาดว่าจะนำเสนอออกเป็นร่างประกาศฯและนำไปประชาพิจารณ์ จากนั้นจะมีการบังคับใช้ราคากลางที่ต้องยึดโยง ตามหน่วยวัดนี้ก่อนที่จะนำไปออกเป็นโปรโมชันให้กับลูกค้า
ความหวังของผู้บริโภคคือ การที่ กสทช.เริ่มจะขยับในการออกราคากลางของค่าโทรฯ เพราะอย่าลืมว่าโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในปัจจุบันนี้ ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่ควรจะต้องมีการกำกับดูแลไม่ต่างจากสาธารณูปโภคอื่น เช่น ค่าไฟ ค่าน้ำ
สปีด 5G ยังเป็นจุดขาย
เมื่อสงครามราคาเริ่มยุติลง สิ่งที่จะได้เห็นจาก 2 ค่ายมือถือคือ การโชว์ว่าสัญญาณมือถือของตัวเองแรงแค่ไหน 5G สปีดแรงเท่าไร เริ่มต้นที่
ประเทศ ตันกุรานันท์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยี ทรู เปิดเผยว่า บริษัทได้ยกระดับโครงข่ายสู่ความทันสมัย (Network Modernization) ได้ดำเนินการแล้วกว่า 10,800 สถานีฐาน คิดเป็น 64% ของแผนงานทั้งหมด และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568 การพัฒนาครั้งนี้ส่งผลให้ประสิทธิภาพเครือข่ายเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
โดยความเร็ว 5G เพิ่มขึ้น 48% ความเร็ว 4G เพิ่มขึ้น 13% และแบนด์วิธเพิ่มขึ้น 35% ในพื้นที่ที่ได้รับการอัปเกรด (ข้อมูล ณไตรมาส 3/2567) พร้อมรองรับการเติบโตของผู้ใช้บริการ 5G ที่มีจำนวน 12.4 ล้านราย เพิ่มขึ้น 5.4% จากไตรมาสก่อน
นอกจากนี้ ยังได้เร่งพัฒนาประสิทธิภาพเครือข่ายด้วยการอัปเกรดอุปกรณ์ส่งสัญญาณรุ่นใหม่ที่รองรับการกระจายสัญญาณหลายความถี่ มุ่งเน้นการขยายคลื่น 700 MHz และ 2600 MHz พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพคลื่น 700MHz และ 2100 MHz ส่งผลให้ลูกค้าทรู และดีแทคได้ใช้งานเครือข่ายที่ครอบคลุมพื้นที่ และมีความเร็วมากยิ่งขึ้น ยกระดับประสบการณ์การใช้งานสู่มาตรฐานระดับโลก
ขณะที่ กิตติ งามเจตนรมย์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยี เอไอเอส กล่าวว่า ปัจจุบันนี้วันนี้ AIS มีโครงข่ายสัญญาณทั้ง 5G และ 4G ที่ครอบคลุมแล้วกว่า 95% ของพื้นที่ประชากร โดยมีแนวคิดทำงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้ ลึก สูง กว้าง ไกล เชื่อมโยงเข้ากับ Ecosystem Economy ในทุกมิติ เพื่อให้บริการลูกค้าทั้ง 51 ล้านราย
โดยจากความมุ่งมั่นของทีมงาน จึงทำให้การพัฒนา Autonomous Network ของ AIS ในขณะนี้ก้าวสู่ระดับ 4 ที่สามารถใช้ระบบในการบริหารจัดการเครือข่ายได้ด้วยตัวเองเกือบ 100%
AI-ออโต ชี้ชะตาเกมแข่งขัน
นอกจากนั้น เรายังได้เห็นค่ายมือถือเร่งพัฒนาเครือข่ายให้มีอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วย เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI เพื่อให้ตรงกับการใช้งานของลูกค้า และลดรายจ่ายในการบริการโครงข่าย โดยทรูเดินเกมธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ "3Zero" เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย มุ่งสู่เป้าหมาย 3 ปี Zero Touch - AI และ Machine Learning เพื่อสร้างระบบบริหารจัดการแบบ เพิ่มระดับประสิทธิภาพการบริหารโครงข่ายให้สูงขึ้น 80% พร้อมลดการใช้พลังงานลง 30%
Zero Wait - AI ที่ปรับแต่งเครือข่ายแบบเรียลไทม์ตามพฤติกรรมผู้ใช้งานแบบไร้รอยต่อ เพิ่มความเร็วในการปรับแต่งเครือข่าย 50% พร้อมแก้ไขปัญหาลูกค้าได้เร็วขึ้น 3-4 เท่า และ Zero Trouble - AI วิเคราะห์ข้อมูลลดเวลาเครือข่ายขัดข้อง 40% ลดข้อร้องเรียน และเพิ่มความพึงพอใจลูกค้า
กิตติ ขยายความว่า เอไอเอสทุ่มเทในการพัฒนาเทคโนโลยีเครือข่ายอัตโนมัติ - Autonomous Network ซึ่งคือ เป้าหมายของ เอไอเอส ในฐานะ Cognitive Tech-Co ผ่าน AI และแมชชีนเลิร์นนิง (ML) ในการจัดการ และปรับปรุงเครือข่ายให้ทำงานได้อย่างอัตโนมัติ ซึ่งช่วยลดความซับซ้อนในการบริหารจัดการเครือข่าย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานของลูกค้าให้ดีมากขึ้น
จุดเด่นของเครือข่ายอัตโนมัติของเอไอเอสคือ ความสามารถในการวิเคราะห์ และตอบสนองต่อสถานการณ์แบบเรียลไทม์ เช่น การตรวจจับ และปรับปรุงแก้ไขปัญหาสัญญาณ เมื่อพบปัญหาที่สถานีฐานไม่สามารถให้บริการได้ แบบอัตโนมัติ, การบริหารแบนด์วิธให้เหมาะสมกับปริมาณการใช้งานในแต่ละช่วงเวลา ให้เครือข่ายมีความยืดหยุ่นสูงรองรับการใช้งานที่หลากหลาย
นอกจากนี้ AI ยังช่วยเรียนรู้รูปแบบการทำงานของเครือข่ายเพื่อลดปัญหาที่เกิดซ้ำ และพัฒนาโซลูชันแบบอัตโนมัติที่ตอบโจทย์การใช้งานเฉพาะด้าน เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพของเครือข่าย 5G และการรองรับอุปกรณ์ IoT ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์