"สรณ" ชี้ "โอทีที" เป็นวาระแห่งชาติ กล่อมรัฐบาลออกกฎหมายคุมแพลตฟอร์ม
“นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์” ประธานกสทช.เผย กฎหมายกสทช.ไม่มีอำนาจกำกับดูแลโอทีที เหตุถือเป็นแพลตฟอร์มที่ไม่ใช่กิจการกระจายเสียง เหมือนทีวีดิจิทัล หรือ วิทยุ เสนอรัฐบาลออกกฎหมายกำกับดูแล และผลักดันเป็นวาระชาติ
ปฎิเสธไม่ได้ว่า อิทธิพลของแพลตฟอร์มบริการบนโครงข่ายหลัก (โอเวอร์ เดอะ ท๊อป หรือ โอทีที) เข้ามาดิสทรัปชั่นในหลายอุตสาหกรรม ทั้งด้านการค้าขายสินค้าที่มีการขายผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและโซเชียล มีเดียมากขึ้น การใช้ไลน์ในการโทรศัพท์มากกว่าการใช้เบอร์โทรศัพท์
ในขณะที่ค่ายมือถือต้องลงทุนเน็ตเวิร์กอย่างหนัก เพื่อให้คุณภาพของเน็ตเวิร์กรองรับการใช้งาน และที่สำคัญคือการรับชมคอนเท็นต์ของผู้บริโภคที่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบการดูผ่านทีวีดิจิทัล อีกต่อไป
บทบาทกสทช.ในการกำกับดูแล
การกำกับดูแลโอทีทีถูกพูดถึงมาระยะหนึ่งแล้ว ว่าท้ายที่สุดแล้ว หน่วยงานไหนต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ประเด็นแรกที่มีปัญหาก่อนหน้า คือ การทำอย่างไรถึงจะเก็บภาษีโอทีทีได้ เรื่องนี้กระทรวงการคลัง ก็มีการออกกฎหมายทำให้ปัจจุบันโอทีทีต่างเข้ามาจดทะเบียนนิติบุคคลในประเทศไทยกันแล้ว
ส่วนเรื่องการคุมคุณภาพการขายสินค้าในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซผ่านโอทีที สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ก็มี กฎหมาย Digital Platform Service หรือ DPS เพื่อให้แพลตฟอร์มมาจดแจ้งการดำเนินธุรกิจเพื่อป้องกันการขายสินค้าไม่เป็นธรรม
และ หากมีการผลิตคอนเท็นต์ไม่เหมาะสมลงโซเชียลมีเดียต่างๆ กระทรวงดีอี ก็มี พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ไว้เอาผิดกับผู้กระทำผิดได้
แต่ก็ยังคงมีคำถามว่า แล้วการที่โอทีทีเข้ามาดิสรัปธุรกิจค่ายมือถือ เพราะเป็นบริการที่ใช้แบนด์วิธจำนวนมาก ขณะที่ โอทีทีไม่ได้ลงทุนเน็ตเวิร์กเอง รวมถึงการเข้ามากลายเป็นแพลตฟอร์มแทนที่ทีวีดิจิทัล ที่ผู้คนสามารถดูคอนเท็นต์จากอุปกรณ์ใดก็ได้นั้น
คำถามคือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม จะมีบทบาทอย่างไรในการกำกับดูและโอทีทีบ้างนั้น
ถึงเวลาโอทีทีวาระแห่งชาติ
นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช.ให้มุมมองในความคิดเห็นส่วยตัวว่า ปัจจุบันโอทีที เช่น YouTube และ facebook ยังไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. ตามกฎหมาย เพราะกฎหมายระบุชัดว่าบทบาท หน้าที่ของ กสทช. คือ การกำกับดูแล กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
แต่โอทีทีหากดูนิยามแล้ว ไม่ใช่ “การแพร่ภาพและกระจายเสียง” แบบเข้าถึงทุกคนพร้อมกัน ดูเนื้อหาเหมือนกัน แต่โอทีทีเป็นลักษณะการนำเสนอคอนเทนต์แบบ “Narrowcasting” คือการให้ผู้ใช้เลือกเนื้อหาด้วยตนเองผ่าน อัลกอริทึม จึงแตกต่างจากการแพร่ภาพกระจายเสียงแบบดั้งเดิมที่เน้นการส่งเนื้อหาไปยังผู้ชมในวงกว้าง
ดังนั้น การกำกับดูแลโอทีทีจึงควรผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ รัฐบาลต้องเป็นผู้พิจารณาปรับปรุงกฎหมายหรือออกกฎหมายใหม่ผ่านสภาเพื่อให้อำนาจการกำกับชัดเจนและสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง
รวมถึงต้องดูถึงความเป็นไปได้ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย โดยเฉพาะแพลตฟอร์มโอทีทีที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยประเทศเดียวจะมีอำนาจในการบังคับเขาได้หรือไม่ หรือ ต้องเป็นการจับมือร่วมกันในระดับอาเซียน
อำนาจต่อรองน้อยต้องผนึกกำลัง
ประธาน กสทช.ยกตัวอย่างว่า ในบางประเทศ เช่น ฝรั่งเศส ได้ออกกฎหมายบังคับให้แพลตฟอร์มโอทีที ต้องมีเนื้อหาโลคอลอย่างน้อย 25-30% เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในประเทศ นอกจากนี้ยังมีการตั้งเงื่อนไขในการต่อรองกับแพลตฟอร์มต่างๆ อย่าง Netflix และ YouTube เพื่อให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เหมาะสม
ดังนั้น ประเทศที่มีการกำกับดูแลโอทีทีอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ฝรั่งเศสและบางประเทศในยุโรป มีอำนาจการต่อรองสูงกว่า เนื่องจากมีความร่วมมือระดับภูมิภาค เช่น สหภาพยุโรป ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีความร่วมมือระดับภูมิภาคในลักษณะเดียวกัน
“Netflix มีรูปแบบการให้บริการแบบสมาชิก (Subscription) เราก็สามารถรู้ได้ว่า เขามีคอนเท็นต์อะไรให้บริการบ้าง ตรงนี้จะง่ายในการกำกับ แต่ YouTube เป็นคอนเท็นต์ที่ไม่รู้มาจากไหนบ้าง คนดูสามารถค้นหาดูได้หมด เราจะดูแลตรงนี้ทั้งหมดไหวหรือไม่”