‘AWS’ คิกออฟ ‘Region’ เป็นทางการในไทย คาดปลุก GDP ทะลุ 1 หมื่นล้านดอลล์
‘AWS ยังไม่ทิ้งไทย’ เดินหน้าแผนลงทุน 1.9 แสนล้าน เปิด “AWS Asia Pacific (Thailand) Region” ปลุก GDP ไทยทะลุหมื่นล้านดอลล์ สร้างงาน 11,000 ตำแหน่ง
KEY
POINTS
- AWS เปิดบริการ “AWS Asia Pacific (Thailand) Region” ในประเทศไทย อย่างเป็นทางการ
- คาดช่วยเพิ่มมูลค่า GDP ไทยมากกว่า 1 หมื่นล้านดอลล์ สร้างงานไม่น้อยกว่า 11,000 ตำแหน่งต่อปี
- Region แห่งใหม่นี้จะช่วยให้ลูกค้าในไทยใช้ประโยชน์จากคลาวด์ และเทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง Generative AI ได้ง่ายขึ้น
- ผลักดันการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย และสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลาง AI ของภูมิภาค
- AWS ให้คำมั่นว่าจะลงทุนระยะยาวในประเทศไทย ด้วยมูลค่ากว่า 5 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.9 แสนล้านบาท) ในระยะเวลา 15 ปี
- มองภาพรวมการใช้จ่ายไอทีในประเทศไทยปี 2568 ยังมีสัญญาณบวก สอดคล้องไปกับทิศทาง GDP
“เอดับบลิวเอส” รักษาคำมั่นกับประเทศไทย เดินหน้าแผนลงทุน 1.9 แสนล้านบาท ดีเดย์เปิดบริการโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ “AWS Asia Pacific (Thailand) Region” คาดช่วยเพิ่มมูลค่าจีดีพีไทยมากกว่า 1 หมื่นล้านดอลล์ สร้างงานไม่น้อยกว่า 11,000 ตำแหน่งต่อปี
วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส หรือ เอดับบลิวเอส (AWS) เผยว่า เอดับบลิวเอส พร้อมให้บริการ AWS Asia Pacific (Thailand) Region อย่างเป็นทางการในประเทศไทยแล้ววันนี้ (8 ม.ค.2568)
การเปิดตัวนี้จะเพิ่มทางเลือกให้กับหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นนักพัฒนา สตาร์ตอัป ผู้ประกอบการ องค์กรธุรกิจ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ให้มีตัวเลือกมากขึ้นในการใช้งานแอปพลิเคชัน และให้บริการลูกค้าผ่านศูนย์ข้อมูลของเอดับบลิวเอสที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย
เอดับบลิวเอสเชื่อว่า การลงทุนสร้าง และดำเนินงานของ AWS Region แห่งใหม่ในไทยนี้จะส่งผลกระทบเชิงบวกในวงกว้างทั้งทางตรง และทางอ้อม โดยเฉพาะต่อเศรษฐกิจไทย และชุมชน รวมถึงโอกาสในการจ้างงาน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน ตลอดจนการพัฒนาทักษะของบุคลากรภายในประเทศ
คาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับจีดีพีของประเทศไทยมากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกันสนับสนุนการจ้างงานเต็มเวลาเฉลี่ยมากกว่า 11,000 ตำแหน่งต่อปีในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุมหลากหลายสาขา ได้แก่ การก่อสร้าง การดูแลรักษาอาคาร วิศวกรรม โทรคมนาคม และอื่นๆ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ
รีเจียนแห่งใหม่นี้จะช่วยให้ลูกค้าในประเทศไทย สามารถใช้ประโยชน์จากคลาวด์ และเทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง Generative AI ได้ง่ายขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เปิดโอกาสให้คนในประเทศได้รับโอกาสเสริมทักษะด้านเทคโนโลยี ที่สำคัญช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลอย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับโอกาสทางธุรกิจ เฟสแรกคาดว่าจะเป็นภาคการเงินการธนาคาร การผลิต รวมถึงค้าปลีกที่มีการใช้งานคลาวด์จำนวนมาก และที่ตื่นตัวอย่างมากยังมีเฮลท์แคร์ โดยระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ทางเอดับบลิวเอสได้เตรียมโครงการสำหรับช่วยลูกค้าย้ายเวิร์กโหลดโดยไม่มีค่าใช้จ่ายไว้ด้วย
สานพันธกิจ ‘ลงทุนไทย’
เอดับบลิวเอสเผยว่า รีเจียนแห่งใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมอบบริการคลาวด์ที่ทันสมัย และปลอดภัย พร้อมทั้งโครงการพัฒนาทักษะ การฝึกอบรม และการมีส่วนร่วมกับชุมชน
เราได้ให้คำมั่นว่าจะลงทุนระยะยาวในประเทศไทย โดยวางแผนที่จะลงทุนมากกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.9 แสนล้านบาท) ในระยะเวลา 15 ปี ภายในปี 2580
ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2563 บริษัทได้เปิด Amazon CloudFront edge locations 6 แห่งในไทย ช่วยให้การส่งข้อมูล วิดีโอ แอปพลิเคชัน และ API ไปยังผู้ใช้งานทั่วโลกเร็วขึ้น และมีความหน่วงต่ำ ทั้งยังได้เปิดตัว AWS Outposts เพื่อให้องค์กรสามารถใช้บริการคลาวด์ได้อย่างไร้รอยต่อ สร้างประสบการณ์ไฮบริดที่สอดคล้องกันอย่างแท้จริง
ขณะที่ปี 2565 เพิ่มการลงทุนในประเทศไทยด้วยการเปิดตัว AWS Local Zones ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่นำการประมวลผล การจัดเก็บข้อมูล ฐานข้อมูล และบริการที่คัดสรรมาไว้ใกล้กับประชากรจำนวนมาก และศูนย์กลางอุตสาหกรรม ช่วยให้ลูกค้าสามารถใช้งานแอปพลิเคชันที่ต้องการความเร็วสูงระดับมิลลิวินาทีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หนุนไทยฮับ AI ระดับภูมิภาค
ปราสาท กัลยาณรามัน รองประธานฝ่ายบริการโครงสร้างพื้นฐาน เอดับบลิวเอส กล่าวว่า องค์กรธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หันมาใช้บริการคลาวด์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากลูกค้าหลายรายได้ค้นพบประโยชน์อันมหาศาลจากระบบคลาวด์ที่ครอบคลุม น่าเชื่อถือ และปลอดภัย
รีเจียนแห่งใหม่ในประเทศไทยจะช่วยให้ลูกค้าในทุกอุตสาหกรรมสามารถใช้งานแอปพลิเคชันขั้นสูงด้วยเทคโนโลยีที่หลากหลาย ซึ่งประกอบด้วยบริการพื้นฐาน เช่น การประมวลผล การจัดเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ ระบบเครือข่าย และบริการชั้นสูงที่ช่วยให้ธุรกิจก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว รวมถึง AI และแมชชีนเลิร์นนิง
เรารู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย และสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลาง AI ของภูมิภาค
การเปิดตัว AWS Asia Pacific (Thailand) Region ทำให้เอดับบลิวเอส มี Availability Zones รวมทั้งสิ้น 111 แห่งใน 35 AWS Regions ทั่วโลก หลังจากนี้ยังมีแผนขยายเพิ่มอีก 15 Availability Zones และ 5 AWS Regions ในเม็กซิโก นิวซีแลนด์ ซาอุดีอาระเบีย ไต้หวัน และ AWS European Sovereign Cloud
มั่นใจตอบโจทย์ ‘ครบวงจร’
เอดับบลิวเอส ระบุว่า AWS Regions ประกอบด้วย Availability Zones ที่มีโครงสร้างพื้นฐานแยกกันตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ สำหรับ AWS Asia Pacific (Thailand) Region นั้นมี Availability Zones 3 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ห่างกันเพียงพอที่จะรองรับบริการที่ให้ความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจของลูกค้า แต่ก็อยู่ใกล้กันพอที่จะให้บริการด้วยความหน่วงต่ำสำหรับแอปพลิเคชันที่ต้องการความพร้อมใช้งานสูง
แต่ละ Availability Zone จะมีระบบไฟฟ้า ระบบทำความเย็น และระบบรักษาความปลอดภัยที่แยกเป็นอิสระจากกัน โดยเชื่อมต่อผ่านเครือข่ายที่มีความหน่วงต่ำมาก และมีระบบสำรองหลายชั้น ด้วยโครงสร้างนี้ ลูกค้าที่ต้องการความพร้อมใช้งานสูงสามารถออกแบบแอปพลิเคชันให้ทำงานในหลาย Availability Zones เพื่อเพิ่มเสถียรภาพ รวมถึงมีความยืดหยุ่น และทนทานสูงมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน เอดับบลิวเอสเป็นผู้นำด้านบริการคลาวด์ที่ครอบคลุม และได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก มีบริการมากกว่า 240 ประเภท ครอบคลุมทั้ง การประมวลผล การจัดเก็บข้อมูล ฐานข้อมูล ระบบเครือข่าย การวิเคราะห์ข้อมูล แมชชีนเลิร์นนิง AI ไอโอที เทคโนโลยีมือถือ ความปลอดภัย ระบบไฮบริด สื่อ รวมถึงการพัฒนา การใช้งาน และการจัดการแอปพลิเคชันต่างๆ ฯลฯ
ดังนั้น ลูกค้าทุกประเภทสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีขั้นสูงของบริษัทเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรม ตอบสนองความต้องการในการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลภายในประเทศ เพิ่มความเร็วในการเข้าถึงข้อมูลอย่างรวดเร็ว และตอบโจทย์ความต้องการใช้คลาวด์ทั้งในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
อะเมซอน ใช้หลักการ 4 ประการในการดำเนินงาน ได้แก่ การมุ่งเน้นที่ลูกค้ามากกว่าคู่แข่ง ความหลงใหลในการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ความมุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศในการดําเนินงาน และการคิดระยะยาว มุ่งเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับลูกค้ามากที่สุดในโลก เป็นบริษัทนายจ้างที่ดีที่สุดในโลก และสถานที่ทํางานที่ปลอดภัยที่สุดในโลก
ตั้งเป้า ‘โต’ ไปกับ ‘ความยั่งยืน’
เอดับบลิวเอส เผยว่า มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพการใช้พลังงานของศูนย์ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ด้วยการปรับปรุงการออกแบบศูนย์ข้อมูล การลงทุนในชิปที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ และการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อระบายความร้อนแบบใหม่
รายงานของ “เอคเซนเชอร์” ที่ได้รับมอบหมายจากเอดับบลิวเอส พบว่า โครงสร้างพื้นฐานของเอดับบลิวเอสมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้งานระบบไอทีภายในองค์กรถึง 4.1 เท่า สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้สูงสุดถึง 99%
ด้วยรีเจียนแห่งใหม่ในไทย ลูกค้าจะได้รับประโยชน์ด้านความยั่งยืนที่มีในทุกโครงสร้างพื้นฐานสอดคล้องไปกับพันธกิจของอะเมซอนที่มีเป้าหมายชัดเจนในการเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน โดยตั้งเป้าที่จะบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในทุกการดำเนินงานภายในปี 2583 ซึ่งเร็วกว่าข้อตกลงปารีสถึง 10 ปี เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง The Climate Pledge และเป็นบริษัทแรกที่ลงนามในปี 2562
สำหรับประเทศไทยแม้ขณะนี้ยังมีข้อจำกัดด้านกฎหมาย ทว่าหากเมื่อใดที่ไทยมีความพร้อมเอดับบลิวเอสก็พร้อมที่จะเปลี่ยนไปใช้ ส่วนระหว่างนี้ที่ยังไม่สามารถจ่ายโดยตรง บริษัทแก้ปัญหาด้วยการจัดซื้อเป็นออฟเซตเพื่อใช้ในการเคลมไปก่อน หากภาครัฐมีความชัดเจนก็จะยิ่งสามารถเปลี่ยนได้เร็วขึ้น
‘ลงทุนไอทีไทย’ สัญญาณบวก
วัตสันประเมินภาพรวมการใช้จ่ายไอทีในประเทศไทยปี 2568 ว่า จะสอดคล้องไปกับทิศทางการเติบโตของจีดีพีประเทศ ซึ่งน่าจะใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ทว่ายังเห็นว่ามีทิศทางเชิงบวกจากความจำเป็นที่ธุรกิจต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือวิกฤติทั้งด้านเศรษฐกิจ จีโอโพลิติกส์ ฯลฯ
นอกจากนี้ AI เป็นเทรนด์หลีกเลี่ยงไม่ได้แน่ๆ ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เส้นทางนี้ยังเหลืออีกยาว เชื่อว่า AI ไม่ได้มาแค่เทคโนโลยี แต่มาพร้อมกับข้อมูลที่มีความหลากหลาย การเทรนด์ ความถูกต้องของข้อมูล ความมหาศาลของแอป ส่วนควอนตัมยังเป็นขั้นแรกๆ ต้องผ่านอีกหลายขั้นกว่าจะนำมาใช้เชิงพาณิชย์ได้ และที่ไม่อาจมองข้ามคือไซเบอร์ซิเคียวริตี้
องค์กรที่สามารถปรับตัวได้เร็วย่อมได้เปรียบกว่า เพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ จำเป็นต้องใช้ดิจิทัลเพื่อเสริมความได้เปรียบ และคลาวด์จะเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจสามารถปรับตัวได้เร็วมากขึ้น รองรับการมาของ AI และยุคแห่งข้อมูล
หากมองถึงสมรภูมิการแข่งขันดาต้าเซนเตอร์ เอดับบลิวเอสเชื่อในจุดแข็งของบริษัททั้งด้านองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านคลาวด์ การให้บริการที่รองรับแอปที่มีธุรกรรมจำนวนมาก ต้องการความเร็ว บริการครอบคลุม ที่สำคัญมีความปลอดภัย
ขณะเดียวกัน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในไทยของเอดับบลิวเอสครั้งนี้มากับความพร้อมสเกลใหญ่ระดับรีเจียนไม่ใช่แค่ดาต้าเซนเตอร์ที่เป็นเพียงหนึ่งในองค์ประกอบ โดยมีมุมมองว่า “ไม่มีทางลัด” สำหรับคำว่าประสบการณ์
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์