ดองจนลืม! เช็ก 5 วาระค้างประชุมบอร์ด กสทช.พบเกือบ 2 ปีไม่ถูกพิจารณา

ดองจนลืม! เช็ก 5 วาระค้างประชุมบอร์ด กสทช.พบเกือบ 2 ปีไม่ถูกพิจารณา

เปิดศักราชประชุมบอร์ด กสทช.นัดแรกปี 2568 พบ 5 วาระสำคัญค้างเกือบ 2 ปี ทั้งเรื่องการกำกับค่าบริการโทรศัพท์มือถือ การตั้งคณะกรรมการติดตามปัญหาคุณภาพเน็ตต่ำ - ราคาสูง และโครงสร้างสำนักงาน กสทช.ใหม่

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช. เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2568 ซึ่งเป็นการประชุมนัดแรกของปี 2568 แต่ปรากฏว่า มีระเบียบวาระการประชุมที่ค้างการพิจารณาเป็นจำนวนมากถึง 42 เรื่อง โดยมีเรื่องสำคัญหลายเรื่องที่ค้างอยู่ บางวาระก็ค้างเกือบ 2 ปี ได้แก่ 

1.เรื่อง (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง การกำหนด และกำกับดูแลโครงสร้างอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ (ฉบับที่ 2) ซึ่งบรรจุวาระมาตั้งแต่ 26 ก.ค.2566 และได้มีการพิจารณาในที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2567  เพื่อให้นำข้อคิดเห็นไปปรับปรุง จากนั้นจนถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับการพิจารณา

2.เรื่อง การปรับปรุง (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การสนับสนุนการผลิตรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ และสรุปผล การรับฟังความเห็นสาธารณะซึ่งเสนอขอบรรจุวาระตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค.2566 แต่ประธาน กสทช. เพิ่งอนุมัติให้บรรจุวาระให้ที่ประชุม กสทช. พิจารณาเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2567

3.เรื่องการจัดตั้งคณะทำงานพหุภาคีเพื่อติดตามปัญหาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอินเทอร์เน็ตมีคุณภาพต่ำ อัตราค่าบริการสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงแพ็กเกจ การให้บริการโดยอัตโนมัติ ที่เสนอให้มีการบรรจุวาระตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.2566 และประธาน กสทช. ได้อนุมัติให้บรรจุวาระเมื่อ วันที่ 10 เม.ย.2567

4.เรื่อง (ร่าง) โครงสร้างสำนักงาน กสทช. ซึ่งได้รับการบรรจุตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 14/2566 เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2566  และมีการพิจารณาในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 16/2566 วันที่ 9 ส.ค.2566 แต่ประธาน กสทช. ปิดประชุมไปก่อนที่จะ กสทช. จะลงมติ

5.เรื่องการปรับปรุงระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ.2555  ซึ่งได้รับการบรรจุตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 13/2566  เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2566 เป็นต้น

ทั้งนี้ วาระที่ค้างพิจารณาในการประชุม กสทช.ครั้งที่ 1/2567 มีวาระค้างพิจารณาเพียง 34 เรื่อง ซึ่งน้อยกว่าการประชุม กสทช. ครั้งที่ 1/2568 ที่มีจำนวน 42 เรื่อง แสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมายังไม่สามารถดำเนินการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

แหล่งข่าวระบุอีกว่า นอกจากนี้  ในวาระแผนการตรวจสอบภายในของคณะกรรมการตรวจสอบภายใน กสทช. ได้มีการเสนอให้มีการตั้งกรรมการตรวจสอบภายในเพิ่มเติม อีก 1 คน โดย กสทช.พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ เสนอ นายประจักษ์ บุญยัง อดีตผู้ว่าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งมีความรู้ และประสบการณ์ทางด้านนี้โดยตรง เข้ามาช่วยงานเพิ่มเติม เนื่องจากมีกรรมการลาออก ไป 1 คน ทำให้ปัจจุบันเหลือเพียงแค่ 4 คน 

ตามกฎหมาย กสทช.กำหนดให้มี 3-5 คน แต่ประธาน กสทช.ไม่ยอมตั้งโดยอ้างว่าไม่อยู่ในวาระ และถามถึงเหตุผล ที่ทำไมไม่ยอมให้คนมีความรู้ประสบการณ์เข้ามาช่วยงาน โดยอ้าง และตัดบทว่า 4 คน ก็ทำงานได้แล้ว และไม่ยอมให้มีการโหวตเพื่อเสนอชื่อ นายประจักษ์ฯ เข้ามาเป็นกรรมการ 
เรื่องดังกล่าวสร้างความแคลงใจถึงความโปร่งใสในการตรวจสอบทางด้านการเงินของสำนักงาน กสทช. เป็นอย่างยิ่ง

เพราะแหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช. แจ้งว่า สมัยที่นายประจักษ์เป็นผู้ว่า สตง. ได้เคยแจ้งถึงเรื่อง กรณีที่นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการและรองเลขาธิการ กสทช. โดยให้ผลสอบว่าทำผิดกรณีอนุมัติการจ้างประชาสัมพันธ์บนรถไฟฟ้า BTS ราคาสูงเกินจริง รวมทั้งกรณีการแบ่งซื้อแบ่งจ้างในโครงการ ERP เป็นต้น 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์