‘ซิสโก้’ ผ่า 6 เทรนด์ดิจิทัล ขับเคลื่อนภูมิทัศน์ธุรกิจปี 2568

‘ซิสโก้’ ผ่า 6 เทรนด์ดิจิทัล ขับเคลื่อนภูมิทัศน์ธุรกิจปี 2568

"ซิสโก้" คาดการณ์แนวโน้มด้านเทคโนโลยี ความท้าทาย ผลกระทบ และการปรับตัวขององค์กร ปี 2025 โดยเฉพาะ AI ที่วันนี้อาจมีความสำคัญเหนือกว่า "คลาวด์" หรือ "อินเทอร์เน็ต" ก็เป็นได้

KEY

POINTS

  • ปัจจุบัน AI อาจมีความสำคัญเหนือกว่าคลาวด์ หรืออินเทอร์เน็ตในฐานะ “ตัวพลิกโฉมเทคโนโลยีที่สร้างการเปลี่ยนแปลง
  • การใช้ประโยชน์จาก AI นั้นไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด
  • ธุรกิจมีโจทย์หินที่ต้องรับมือเรื่องช่องว่างด้านทักษะ ความยั่งยืน และความปลอดภัย
  • ความท้าทายหลักๆ ที่ไม่อาจก้าวข้ามยังคงเป็นเรื่อง “ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน” 
  • เมื่อ AI เข้าถึงได้ง่ายและแพร่หลายมากขึ้น “การควบคุม" และ "การกำกับดูแลข้อมูล” จะกลายเป็นประเด็นสำคัญ

ปีที่ผ่านมาภูมิทัศน์ทางธุรกิจได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ...

วีระ อารีรัตนศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ประเทศไทย แสดงทัศนะว่า หนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญคือ การมี AI แบบสร้างสรรค์ หรือ Generative AI ในโลกธุรกิจและใช้ในการขับเคลื่อนกลยุทธ์

ด้วยผลกระทบในวงกว้างในปัจจุบัน AI อาจมีความสำคัญเหนือกว่าคลาวด์ หรืออินเทอร์เน็ตในฐานะ “ตัวพลิกโฉมเทคโนโลยีที่สร้างการเปลี่ยนแปลง” ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อวิธีที่ธุรกิจจะรับมือกับเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องช่องว่างด้านทักษะ ความยั่งยืน และความปลอดภัย

อุปสรรคที่ไม่คาดคิดของ AI

ซิสโก้ คาดการณ์ “6 แนวโน้ม” ทางเทคโนโลยีที่สำคัญซึ่งจะกำหนดภูมิทัศน์ทางธุรกิจของประเทศไทยในปี 2568 ประกอบด้วย

1. AI ยังคงมีบทบาทสำคัญในภาคธุรกิจ แต่การนำมาใช้งานจริงกลับพบอุปสรรคที่ไม่คาดคิด: เป็นเวลากว่าหนึ่งปีแล้วที่ AI กลายเป็นประเด็นหลักในโลกธุรกิจ แรงกดดันในการนำ AI มาใช้งานยังคงมีอย่างต่อเนื่อง

ทุกบริษัทที่ร่วมผลการสำรวจความพร้อมด้าน AI ของซิสโก้เมื่อปี 2567 รายงานว่า มีความเร่งด่วนในการนำโซลูชัน AI มาใช้เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา

เมื่อองค์กรต่างๆ เริ่มนำ AI มาใช้ พวกเขาก็ตระหนักว่าการใช้ประโยชน์จาก AI นั้นไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด มีเพียง 21% ของบริษัทในไทยที่มีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการใช้ประโยชน์จากศักยภาพของ AI

นอกจากนี้ เริ่มปรากฏชัดว่าต้องใช้อะไรบ้างจึงจะประสบความสำเร็จ แม้ว่า AI จะเป็นการลงทุนที่มีความสำคัญ แต่หลายบริษัทกำลังพบว่าผลตอบแทนจากการลงทุนเหล่านี้ต่ำกว่าที่คาดหวังไว้

ด้านความท้าทาย หลักๆ ยังคงเป็นเรื่อง “ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน”ซึ่งมีช่องว่างในด้านการประมวลผล เครือข่ายศูนย์ข้อมูล และความปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมถึงด้านอื่นๆ

โดยมีเพียง 33% ของบริษัททั้งหมดที่มี GPU ที่รองรับความต้องการด้าน AI ทั้งในปัจจุบันและอนาคต และน้อยกว่าครึ่ง (47%) ที่มีความสามารถในการปกป้องข้อมูลในโมเดล AI ด้วยการเข้ารหัสแบบ end-to-end รวมถึงการตรวจสอบความปลอดภัย การเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง และการตอบสนองต่อภัยคุกคามแบบทันที

ท้าทาย ‘การกำกับดูแล’

2. เมื่อ AI เข้าถึงได้ง่ายและแพร่หลายมากขึ้น “การควบคุม และ "การกำกับดูแลข้อมูล” จะกลายเป็นประเด็นสำคัญ: เมื่อ AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันมากขึ้น ประเด็นการถกเถียงจะมุ่งเน้นไปที่การใช้งานอย่างรับผิดชอบ การปฏิบัติตามกฎระเบียบ การคุ้มครองข้อมูล กฎหมาย anti-discrimination และมาตรฐานคุณภาพของ AI

ดังนั้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนจะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดมาตรฐานและกฎระเบียบที่ส่งเสริมนวัตกรรมและเพิ่มความปลอดภัยของ AI 

แน่นอนว่าผู้นำธุรกิจจะต้องเผชิญแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นในการนำกรอบการทำงานมาใช้เพื่อเพิ่มความรับผิดชอบของระบบ AI และจัดการกับปัญหาด้านจริยธรรม รวมถึงข้อมูลบิดเบือนที่เกิดจากการใช้ AI 

องค์กรต่างๆ จำเป็นต้องนำกรอบการทำงานด้าน AI ที่มีรับผิดชอบมาใช้ ทำการประเมินความเป็นส่วนตัวอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงพัฒนาและนำแผนการจัดการเหตุการณ์ที่มีประสิทธิภาพมาใช้เพื่อให้แน่ใจว่ามีการใช้ AI อย่างรอบคอบ พร้อมรับมือแรงกดดันที่สอดคล้องไปกับกฎหมายหรือข้อกำหนดของแต่ละท้องถิ่นมากขึ้น

เปลี่ยนโฉม ‘ความปลอดภัย’

3. ความปลอดภัยทางไซเบอร์ยกระดับสู่การทำงานด้วย “ระบบอัตโนมัติ” ขณะที่เครือข่ายจะทำหน้าที่ทั้งเชื่อมต่อและปกป้องทุกสิ่ง:

เครือข่ายจะไม่ได้ถูกใช้เพียงเพื่อการเชื่อมต่ออีกต่อไป เมื่อมีอุปกรณ์และบริการเชื่อมต่อมากขึ้น ความเสี่ยงและความซับซ้อนของการโจมตีจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

เครือข่ายจะกลายเป็นเสาหลักสำคัญในการจัดการเวิร์คโหลด และทำหน้าที่เป็นทั้งด่านแรกและด่านสุดท้ายในการป้องกันความปลอดภัย และจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเมื่อการโจมตีใช้วิธีการเคลื่อนที่แบบแนวราบ (lateral movement attacks) ที่เข้าถึงจุดเดียวเพื่อแทรกซึมเข้าสู่ส่วนที่เหลือของเครือข่ายและเจาะลึกเข้าไปในระบบขององค์กร

AI จะเปลี่ยนโฉมความปลอดภัย โดยช่วยทีมรักษาความปลอดภัยจัดการเครื่องมือง่ายขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการวิเคราะห์และการตัดสินใจของมนุษย์ให้แม่นยำมากขึ้น และทำให้ขั้นตอนการทำงานที่ซับซ้อนเป็นแบบอัตโนมัติ

อย่างไรก็ดี ขอบเขตใหม่ของความปลอดภัยไม่เพียงเกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยภายในองค์กรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอีโคซิสเต็มของพันธมิตรและเวนเดอร์ด้วย

เติมพลังเส้นทาง ‘ความยั่งยืน’

4. บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือในการรักษาสมดุลระหว่าง “ความยั่งยืน และการเติบโต” ในยุคที่ขับเคลื่อนด้วย AI:

การแข่งขันด้าน AI จะยังคงเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่ระดับการใช้พลังงานที่สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการปล่อยคาร์บอนในทุกระดับ

ในโลกที่เป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์และการลดการปล่อยคาร์บอนมีความสำคัญมาก บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องหาโซลูชันที่สร้างสมดุลระหว่างเป้าหมายด้านความยั่งยืนกับโอกาสการเติบโตจาก AI

กำหนดอนาคต ‘แรงงาน’

5. มนุษย์และ AI จะอยู่ร่วมกันในแรงงานยุคต่อไป: อนาคตของการทำงานจะไม่ใช่การเลือกระหว่างมนุษย์หรือเครื่องจักรเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ทั้งสองฝ่ายจะอยู่ร่วมกันเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วง

AI จะพัฒนาจากการเป็นเพียงผู้สนับสนุนงาน สู่การเป็น “ส่วนสำคัญของแรงงานในอนาคต” ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนทักษะในอุตสาหกรรมต่างๆ

ซิสโก้พบว่า พนักงานที่สามารถใช้ประโยชน์จาก AI ในการทำงานจะมีผลงานที่ดีกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้ AI ทั้งในด้าน คุณภาพของงาน ผลผลิต และประสิทธิภาพ การมีทักษะที่เหมาะสมในการใช้ประโยชน์จาก AI จะมีความสำคัญ และพนักงานทุกคนจะต้องพัฒนาทักษะของตนเองเพื่อเท่าทันยุคสมัย

‘ความไว้วางใจ’ องค์ประกอบสำคัญ

6. องค์กรจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้ต้องอาศัยการสร้าง “คุณค่าขององค์กร” ควบคู่ไปกับการสร้าง “ความไว้วางใจ”:

การกลับมาทำงานที่บริษัทควรเป็นแรงดึงดูด ไม่ใช่ข้อบังคับ เมื่อมองภาพอนาคตของการทำงาน จะเป็นการทำงานที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ซึ่งบทบาทในการทำงานจะพัฒนาไปพร้อมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และผู้คนจะแสวงหาความยืดหยุ่นในการทำงานอย่างเป็นธรรมชาติ

ทั้งนี้ “ความไว้วางใจ” เป็นองค์ประกอบสำคัญในทุกขั้นตอนของกระบวนการ นายจ้างต้องไว้วางใจว่าพวกเขาได้จ้างคนที่เหมาะสมสำหรับบทบาทที่เหมาะสม และพนักงานจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในทำนองเดียวกัน พนักงานต้องไว้วางใจว่าความพยายามของพวกเขาจะได้รับการยอมรับ พร้อมโอกาสในการเติบโตและพัฒนา

ความไว้วางใจจะกลายเป็นความสัมพันธ์แบบต่างตอบแทน องค์กรที่สร้างและรักษาความไว้วางใจนี้ไว้ได้ จะมีประสิทธิภาพและผลงานที่เหนือกว่าคู่แข่งอย่างเห็นได้ชัด