จับตา! วาระประชุม 'บอร์ดกสทช.' ลงมติ โรดแมปประมูลคลื่นมือถือ 4 ความถี่

จับตา! วาระประชุม 'บอร์ดกสทช.' ลงมติ โรดแมปประมูลคลื่นมือถือ 4 ความถี่

ลุ้นวาระประชุมบอร์ดกสทช. 14 ม.ค.นี้ สำนักงานฯ เล็งชงโรดแมป การจัดสรรคลื่นความถี่ที่จะสิ้นสุดใบอนุญาตส.ค.นี้ จัดเป็นการประมูลคลื่นล่วงหน้าเริ่มตั้งแต่ 850 1800 2100 และ 2300 เมกะเฮิรตซ์ ส่วนรูปแบบการเคาะราคา ต้องรอเฮียริ่ง อีกครั้ง คาดจัดสรรได้ไม่เกินเม.ย.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ บอร์ดกสทช. ในวันพรุ่งนี้ (14 ม.ค.) สำนักงาน กสทช. จะนำเสนอรายงานการจัดทำแผน การจัดสรรคลื่นความถี่ สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลของประเทศไทยระยะ 5 ปี (2567 – 2571) เพื่อรองรับในเดือนส.ค.ปี 2568 จนถึงปี 2570 ที่ประเทศไทยจะมีคลื่นความถี่ที่ได้จัดสรรให้เอกชนสิ้นสุด

ตามที่บอร์ดกสทช.ได้อนุญาตให้ใช้งาน คือ คลื่นความถี่ย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์ 1500 เมกะเฮิรตซ์ 2100 เมกะเฮิรตซ์ และ 2300 เมกะเฮิรตซ์ นำมาเสนอบอร์ด กสทช.เพื่อขออนุมัติ จากนั้นจะได้นำร่างการจัดการประมูล (ไอเอ็ม) ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์)

ทั้งนี้ เบื้องต้นคาดว่าไทม์ไลน์การประมูลที่จะเกิดขึ้นน่าจะปลายไตรมาส 1/2568 หรือในช่วงกลางเดือนเม.ย.นี้ ซึ่งการนำคลื่นความถี่ดังกล่าวมาจัดประมูลก็เพื่อให้สามารถนำมาจัดสรรใหม่ให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการใช้คลื่นความถี่ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และให้เอกชนได้เตรียมความพร้อมในการทำแผนธุรกิจรองรับ 

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ บอร์ดกสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า การจากหารือกับเอกชนมีความต้องการใช้งานในคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ และ 2300 เมกะเฮิรตซ์ ต่อเนื่อง และเห็นด้วยที่จะนำมาประมูลก่อน เพราะได้ลงทุนอุปกรณ์ต่างๆ ไปแล้วได้ใช้งานมาเพียง 3-5 ปีเท่านั้น 

และเมื่อดูงบประมาณการเงินของเอกชนน่าจะมีความพร้อมด้านการเงินในปี 2569 จากภาระการจ่ายค่าใบอนุญาตจะลดลง และการลงทุนในคลื่นดังกล่าวจะไม่มากไม่ต้องลงทุนใหม่ทั้งหมด โดยเบื้องต้นส่วนตัวมองว่าควรวางระยะเวลาใบอนุญาตไว้ประมาณ 10-15 ปี ส่วนราคาตั้งต้นประมูลคงไม่สูงเหมือนครั้งก่อนๆ เพราะไม่เช่นนั้นเอกชนต้องตั้งค่าบริการไว้สูง จะส่งผลเป็นภาระกับประชาชนที่ใช้งาน

นายสมภพ กล่าวต่อว่า สำหรับในส่วนของคลื่นความถี่ 3500 เมกะเฮิรตซ์ ที่มีแผนจะเรียกคืนมาจัดสรรใหม่ แต่ทางสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) คัดค้านเพราะปัจจุบันมีฐานคนดูทีวีดิจิทัลผ่านดาวเทียมด้วยจานดำกว่า 60% ซึ่งจะทำให้ฐานคนดูลดลงกระทบต่อเรทติ้งและการประกอบธุรกิจนั้น

โดยส่วนตัวคิดว่าได้น่าจะนำมาประมูลในปี 2570 และให้มีการเริ่มใช้งานในปี 2572 หลังใบอนุญาตของทีวีดิจิทัลหมดลง เพื่อให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้เตรียมตัวและมีเวลาในการเคลียร์คลื่นความถี่ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความเห็นของบอร์ด กสทช.ทั้งหมดด้วย 

โดยคลื่นย่านความถี่ 3300-3600 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 300 เมกะเฮิรตซ์ จะนำมาใช้ในโทรศัพท์เคลื่อนที่  ขณะที่ความย่านความถี่ 3600-3700  เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 100 เมกะเฮิรตซ์ จะใช้เป็นการ์ดแบนด์เพื่อกันคลื่นรบกวนกัน ส่วนคลื่น 3700-4200 เมกะเฮิรตซ์ ใช้ในกิจการดาวเทียม

อย่างไรก็ตามในทางสากล ทาง สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ก็ระบุแล้วว่า คลื่น 3500 เมกะเฮิรตซ์ เหมาะสมที่จะนำมาใช้งานเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือ

นอกจากนี้ ต้องดูความพร้อมของภาคเอกชนด้วยว่าพร้อมจะลงทุนต่อเนื่องหรือไม่ โดยหากเป็นการประมูลคลื่น 3500 เมกะเฮิรตซ์ เป็นคลื่นใหม่ซึ่งเอกชนต้องลงทุนในเรื่องอุปกรณ์ในการขยายโครงข่ายใหม่ด้วย