‘เอสไอเอส’ ผนึก ‘ดูบอท’ บุกตลาดหุ่นยนต์ ‘โคบอท’ ในไทย

“เอสไอเอส” ร่วมมือ “ดูบอท” เปิดเกมรุกตลาดหุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติงาน “โคบอท” ตั้งเป้าเจาะกลุ่มการผลิต ยานยนต์ โลจิสติกส์ และการศึกษา มองเอเชียแปซิฟิกเป็นตลาดโคบอทที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก เชื่อมั่นประเทศไทยเป็นตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตที่สำคัญในภูมิภาค
นายสมชัย สิทธิชัยศรีชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้จัดจำหน่ายสินค้าไอทีรายใหญ่ในศไทย เผยว่า การใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานมนุษย์นั้นแพร่หลายมากขึ้นทั่วโลกทั้งในภาคการผลิตและบริการ เมื่อปัญหาการขาดแคลนแรงงานกลายเป็นปัญหาเร่งด่วนในสังคมสูงวัย
กรณีของประเทศไทย รายงานของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า 1 ใน 5 ของประชากรหรือประมาณ 13 ล้านคน มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ดังนั้น งานที่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย เช่น พนักงานขนส่งในธุรกิจโลจิสติกส์หรือพนักงานในสายการผลิตจึงต้องพึ่งพาหุ่นยนต์มากขึ้น
ตามรายงานของเวิลด์ โรโบติกส์ 2023 (World Robotics 2023) โดยสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติหรือไอเอฟอาร์ (International Federation of Robotics (IFR)) ระบุว่า ประเทศไทยมีการนำเข้าเพื่อใช้งานหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยไปแล้วกว่า 3,600 ตัวในปี 2566 ซึ่งสะท้อนถึงความก้าวหน้าในการใช้หุ่นยนต์ของประเทศ ทำให้ประเทศไทยเป็นอันดับที่ 15 ของโลกและเป็นอันดับที่ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในด้านจำนวนผู้ใช้หุ่นยนต์รายใหญ่ที่สุด
ทั้งนี้เห็นได้ชัดว่าประเทศไทยใช้ประโยชน์จากหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ยานยนต์ อาหารและเครื่องดื่ม อิเล็กทรอนิกส์ งานโลหะ การแพทย์และเครื่องสำอาง พลาสติกและโพลีเมอร์ และการศึกษาและวิทยาศาสตร์ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและผลผลิตในขณะที่สามารถลดต้นทุนได้
เอสไอเอส มองเห็นว่า ตลาดหุ่นยนต์เป็นตลาดที่มีศักยภาพอย่างมาก โดยเฉพาะตลาดหุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติงานหรือโคบอท (Collaborative Robot: Cobot) ที่มีข้อได้เปรียบด้วยการทำงานร่วมกับมนุษย์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย ปัจจัยเหล่านี้ช่วยกระตุ้นให้มีการนำโคบอทมาใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมต่างๆ
ล่าสุดได้เป็นตัวแทนจำหน่าย ดูบอท (Dobot) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำโคบอทระดับโลก และถือว่าเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวของเอสไอเอสในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ด้านหุ่นยนต์สำหรับอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนของการดำเนินงาน ซึ่งดูบอท เป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องและเป็นเทคโนโลยีของตนเองมีการใช้งานแล้วในหลายประเทศทั่วโลก
เอสไอเอส ได้ลงทุนสร้างเวิร์กช็อปเพื่อการสร้างเสริมการเรียนรู้ และการฝึกอบรมให้กับพาร์ทเนอร์ในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญในงานระบบอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการช่วยสนับสนุนการขาย และการประยุกต์ใช้งานโคบอทในกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ และได้ประสิทธิผลจากการผลิตที่สูงที่สุด
สำหรับด้านการศึกษาได้วางแผนจัดการแข่งขันเขียนโปรแกรมเพื่อแก้โจทย์ต่างๆ ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาไปจนถึงระดับอุดมศึกษา เพื่อสร้างพื้นฐานการเรียนรู้ และความเข้าใจ ในการใช้งานโคบอท โดยได้ตั้งเป้ายอดขายสำหรับดูบอทในปี 2568 ที่ 80 ล้านบาท และคาดว่ามียอดขาย 300 ล้านบาทในปี 2570
นายเจอรี่ หลิว ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดูบอท กล่าวเสริมว่า ดูบอท (Dobot) เป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติงาน หรือ โคบอท (Collaborative Robots: Cobot) ชั้นนำระดับโลกจากประเทศจีน
ที่ผ่านมาสามารถพัฒนาเทคโนโลยีหลักของตนเองที่เป็นระดับแถวหน้าของโลก ได้แก่ ระบบขับเคลื่อนและการควบคุมแบบบูรณาการ การโต้ตอบอัจฉริยะ การควบคุมการเคลื่อนไหวประสิทธิภาพสูง ความปลอดภัย การตรวจจับอัจฉริยะ และเอไอ เป็นต้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เรียกว่าเซฟสกิน (SafeSkin) ซึ่งเป็น “เทคโนโลยีหยุดก่อนชน” สามารถหยุดหุ่นยนต์ก่อน 10-15 เซนติเมตร ก่อนจะถึงวัตถุได้
นำเสนอโซลูชันที่ครอบคลุมสำหรับภาคอุตสาหกรรม การค้าปลีก และการศึกษา ด้วยการขับเคลื่อนการผลิตอัจฉริยะและการอัปเกรดอุตสาหกรรม พร้อมทั้งเชื่อมโยงอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรสำหรับอนาคต
จากรายงานของสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ หรือไอเอฟอาร์ คาดว่าขนาดตลาดโคบอททั่วโลกสูงถึง 1.4 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2567 และจะเติบโตถึง 4.9 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2571 คิดเป็นอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) ที่ 36.6% โดยภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกเป็นหนึ่งในตลาดโคบอทที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก
สำหรับดูบอทมีอัตราการเติบโตสูงถึง 90% ในภูมิภาคนี้ในปี 2567 โดยตลาดที่มีศักยภาพสำคัญในประเทศต่างๆ เช่น ไทย มาเลเซีย เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย
ประเทศไทยนับเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีศักยภาพในการผลิตที่แข็งแกร่งและข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ โดยในปี 2566 การผลิตยานยนต์ของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 1.83 ล้านคัน ทำให้เป็นตลาดยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยความก้าวหน้าของแผนริเริ่ม "ประเทศไทย 4.0" ภาคการผลิตของประเทศกำลังเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วไปสู่การดำเนินงานอัจฉริยะและอัตโนมัติ ซึ่งสร้างโอกาสมากมายสำหรับหุ่นยนต์ร่วมปฏิบัติงาน หรือ โคบอท
ดังนั้น การใช้งานของโคบอทในประเทศไทยนั้นมีแนวโน้มที่ดีมาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งโคบอทสามารถจัดการกระบวนการที่ซับซ้อน เช่น การประกอบชิ้นส่วน การพ่นสี การเชื่อม และการตรวจสอบคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ โคบอทช่วยให้ธุรกิจต่างๆ ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนแรงงานได้
โดยการเปิดใช้งานการทำงานอัตโนมัติเต็มรูปแบบ ด้วยความยืดหยุ่น ความปลอดภัย และความสะดวกในการใช้งาน โคบอทสามารถตอบสนองความต้องการด้านการผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ ได้โดยไม่คำนึงถึงขนาด และขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงไปสู่การผลิตอัจฉริยะ