'การ์ทเนอร์' คาดปี 68 ใช้จ่ายไอทีไทย มูลค่าเฉียด ‘ล้านล้านบาท’

"การ์ทเนอร์ อิงค์" คาดการณ์มูลค่าใช้จ่ายไอทีทั่วโลกปี 2568 จะเติบโตเพิ่มขึ้น 9.8% จากปี 2567 คิดเป็นมูลค่ารวม 5.61 ล้านล้านดอลลาร์
สำหรับประเทศไทย การ์ทเนอร์คาดว่าในปี 2568 ประเทศไทยจะมีมูลค่าการใช้จ่ายไอทีสูงเกือบ 996,000 ล้านบาท หรือประมาณ 29 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 7.9% จากปี 2567 โดยหมวดดาต้าเซ็นเตอร์จะเติบโตสูงสุดในปีนี้ เพิ่มขึ้นเกือบ 17% รองลงมาคือหมวดซอฟต์แวร์ 16.1%
จอห์น-เดวิด เลิฟล็อค รองประธานฝ่ายวิจัย การ์ทเนอร์ กล่าวว่า แม้งบประมาณซีไอโอจะมีเพิ่มขึ้น แต่ส่วนสำคัญกลับถูกนำไปใช้เพื่อชดเชยการปรับขึ้นราคาของค่าใช้จ่ายประจำเท่านั้น
หมายความว่าปีนี้การใช้จ่ายที่เป็นมูลค่าตามราคาปัจจุบัน หรือ Nominal Spending จะไม่ตรงกับมูลค่าการลงทุนไอทีที่แท้จริง เนื่องจากงบประมาณที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้จ่ายกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นของราคาสินค้าและบริการไอที ซึ่งราคาในทุกหมวดหลักต่างปรับตัวสูงขึ้นเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ซีไอโอต้องชะลอโครงการและปรับลดเป้าการลงทุนด้านไอทีลง”
การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า Gen AI จะมีอิทธิพลกับการลงทุนไอที แต่การใช้จ่ายด้านนี้จะไม่ได้เป็นไปเพื่อ GenAI โดยตรง
ในปี 2568 หมวดหมู่ต่างๆ อาทิ ระบบดาต้าเซ็นเตอร์ อุปกรณ์ดีไวซ์ และซอฟต์แวร์ ต่างเติบโตระดับเลขสองหลัก
ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการอัพเกรดฮาร์ดแวร์สำหรับ Generative AI ทว่าจะยังไม่เห็นความแตกต่างในแง่ของฟังก์ชั่นการทำงาน แม้จะมีฮาร์ดแวร์ใหม่ก็ตาม
แยกตามประเภทมูลค่าการใช้จ่ายทั่วโลกของดาต้าเซ็นเตอร์จะเติบโต 23.2% มูลค่า 405,505 ล้านดอลลาร์, ดีไวซ์ เติบโต 10.4% มูลค่า 810,234 ล้านดอลลาร์, ซอฟต์แวร์ 14.2% มูลค่า 1,246,842 ล้านดอลลาร์, บริการไอที 9% มูลค่า 1,731,467 ล้านดอลลาร์, บริการการสื่อสาร 3.8% มูลค่า 1,423,746 ล้านดอลลาร์
GenAI กำลังเลื่อนเข้าไปสู่ช่วงแห่งความผิดหวัง ซึ่งสะท้อนถึงความคาดหวังของซีไอโอที่ลดลงต่อ GenAI แต่ไม่ได้สะท้อนถึงการใช้จ่ายสำหรับเทคโนโลยีนี้
ตัวอย่างเช่น คอมพิวเตอร์พีซีที่รองรับ AI รุ่นใหม่ยังไม่มีแอปพลิเคชันที่ “จำเป็นต้องมี” ที่ใช้ประสิทธิภาพจากฮาร์ดแวร์ดังกล่าว แม้ทั้งผู้บริโภคและองค์กรจะซื้อพีซี แท็บเล็ต และโทรศัพท์มือถือที่รองรับ AI แต่การซื้ออุปกรณ์ไอทีเหล่านี้กลับไม่ได้มีแรงจูงใจหลักมาจากฟังก์ชั่น GenAI
นอกจากนี้ การใช้จ่ายสำหรับเซิร์ฟเวอร์ที่รองรับ AI หรือ AI-Optimized Servers มีมูลค่าเป็นสองเท่าของการใช้จ่ายสำหรับเซิร์ฟเวอร์แบบดั้งเดิม หรือ Traditional Servers ในปีนี้ โดยมีมูลค่าถึง 2.02 แสนล้านดอลลาร์
โดยสรุปแล้วบริษัทบริการด้านไอทีและไฮเปอร์สเกลเลอร์มีสัดส่วนการใช้จ่ายมากกว่า 70% ในปีนี้ และคาดว่าในอีกสามปี ไฮเปอร์สเกลเลอร์จะมี AI-Optimized Servers สำหรับใช้ดำเนินการมูลค่ารวมถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์แต่จะไม่อยู่ภายใต้โมเดลธุรกิจแบบเดิมหรืออยู่ในตลาด IaaS อีกต่อไป กลายเป็นส่วนหนึ่งของตลาด AI ที่ถูกควบคุมโดยบริษัทยักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่ราย
การคาดการณ์แนวโน้มการใช้จ่ายด้านไอทีของการ์ทเนอร์ดังกล่าว ใช้การวิเคราะห์อย่างเข้มข้นของยอดขายจากผู้ค้าและผู้ให้บริการหลายพันราย ครอบคลุมผลิตภัณฑ์และบริการด้านไอทีทั้งหมด