‘แคสเปอร์สกี้’ เผย ปี 67 ‘เซิร์ฟเวอร์’ ในไทยถูกโจมตีเพิ่มขึ้น 125%

รายงานความปลอดภัยไซเบอร์ล่าสุดของ “แคสเปอร์สกี้” ตรวจพบเหตุการณ์อันตรายที่เกิดจากเซิร์ฟเวอร์ในประเทศไทยมากกว่า 7.3 แสนรายการ
จากบันทึกพบว่า เหตุการณ์อันตรายที่เกิดจากเซิร์ฟเวอร์ที่โฮสต์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในปี 2024 แคสเปอร์สกี้ตรวจพบเหตุการณ์ดังกล่าวจำนวน 732,620 รายการ ซึ่งเพิ่มขึ้น 125.91% เมื่อเทียบกับปี 2023 ที่ตรวจพบจำนวน 324,295 รายการ
ผู้ก่อภัยคุกคามจะโจมตีและใช้เซิร์ฟเวอร์ที่ถูกละเมิดเพื่อโฮสต์เว็บไซต์ใช้ส่งมัลแวร์ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ไม่ทันระวังจะถูกหลอกล่อเข้าสู่เว็บไซต์อันตรายโดยใช้โฆษณาปลอม ลิงก์ฟิชชิงในอีเมล SMS และวิธีการอื่นๆ จากนั้นคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ของเหยื่อจะถูกอาชญากรไซเบอร์สำรวจเพื่อหาช่องโหว่และช่องทางละเมิด
ย้อนกลับไปในปี 2019 แคสเปอร์สกี้ตรวจพบเหตุการณ์อันตรายจากเซิร์ฟเวอร์ในประเทศไทยมากที่สุด โดยตรวจพบ จำนวน 1,088,189 รายการ และลดลงในอีกสองปีถัดมา คือปี 2020 (273,458 รายการ) และปี 2021 (192,217 รายการ) อย่างไรก็ตาม จำนวนเหตุการณ์อันตรายได้เพิ่มขึ้นอีกครั้งในปี 2022 (364,219 รายการ) และปี 2023 (324,295 รายการ) และเพิ่มสูงสุดอีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว โดยแคสเปอร์สกี้ตรวจพบเหตุการณ์จำนวนทั้งสิ้น 732,620 รายการ
พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีผลบังคับใช้หกปีแล้วนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 (2019) ประเทศไทยประสบกับเหตุการณ์การรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลหลายครั้ง ซึ่งเกิดจากอาชญากรไซเบอร์ที่แทรกซึมเข้าระบบและเกิดจากมาตรการป้องกันที่ไม่เพียงพอ เหตุการณ์สำคัญในประเทศมีทั้งการละเมิดข้อมูลและการโจมตีโรงพยาบาลท้องถิ่นและโรงพยาบาลรัฐหลายแห่ง สายการบิน ธนาคารและสมาคมธนาคาร บริษัทประกันภัย เครือร้านอาหารทั่วประเทศ ระบบส่วนกลางรับนักศึกษามหาวิทยาลัย และระบบการลงทะเบียนวัคซีนของรัฐ
เอเดรียน เฮีย กรรมการผู้จัดการ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แคสเปอร์สกี้ กล่าวว่า เหตุการณ์ด้านความปลอดภัยไซเบอร์ที่เกิดจากเซิร์ฟเวอร์ที่ถูกละเมิดในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก
ทั้งนี้ภาคส่วนศูนย์ข้อมูลของไทยกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดจะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
การเติบโตนี้ได้รับแรงหนุนจากปัจจัยต่างๆ เช่น การใช้บริการคลาวด์ที่เพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่มากขึ้น และความต้องการโซลูชันการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลที่เพิ่มขึ้น
คาดว่าภายในปี 2030 ตลาดจะมีมูลค่าถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์ซึ่งสะท้อนถึงอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ประมาณ 13.1% เห็นได้ชัดว่าอาชญากรไซเบอร์รับรู้ถึงการเติบโตของศูนย์ข้อมูลในประเทศและเกาะกระแสนี้เพื่อหาประโยชน์”
ส่วนของการดำเนินงานของแคสเปอร์สกี้ในประเทศไทย เซียง เทียง โยว ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แคสเปอร์สกี้ กล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งนำไปสู่ความต้องการด้านความปลอดภัยไซเบอร์อย่างต่อเนื่องจากทั้งผู้บริโภคและองค์กร
ทิศทางธุรกิจของแคสเปอร์สกี้ในไทยจึงเน้นด้านการขยายตลาดที่มีอยู่ การปรับปรุงโซลูชันด้านความปลอดภัยไซเบอร์ การเสริมสร้างความร่วมมือในท้องถิ่น และการจัดการกับแนวโน้มและความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นใหม่
ปี 2025 คาดว่าจะสร้างรายได้เติบโตสองหลัก โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม B2B ซึ่งรวมถึงภาครัฐบาล ธนาคาร โทรคมนาคม การแพทย์ และองค์กรเอ็นเทอร์ไพรซ์ การขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 และ Smart City อีกทั้งการตระหนักรู้เพิ่มขึ้นเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์ ทำให้เรามีศักยภาพสูงในตลาด
ในปีนี้ เรายังเน้นย้ำและนำเสนอโซลูชันความปลอดภัยที่หลากหลาย ครอบคลุม B2C และ B2B ทุกขนาด อีกทั้งดำเนินงานเพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามและเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเช่น AI โดยให้ข้อมูลความรู้ผ่านหลักสูตรการฝึกอบรม เวิร์กช็อปต่างๆ และสื่อมวลชน