ยกเครื่อง 'พ.ร.บ.ดีอี' รับเทคโนโลยีขั้นสูง ปูทางสู่ยุคก้าวหน้าเต็มรูปแบบ

ยกเครื่อง 'พ.ร.บ.ดีอี' รับเทคโนโลยีขั้นสูง ปูทางสู่ยุคก้าวหน้าเต็มรูปแบบ

สดช.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น พ.ร.บ. ดีอี ต่อยอดการใช้ประโยชน์กฎหมายดิจิทัลรับเอไอ บล็อกเชน ควอนตัม ไอโอทีเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มุ่งสร้างศักยภาพเศรษฐกิจและสังคม ลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงเทคโนโลยี

นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ.ดีอี) ภายใต้โครงการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวจะมุ่งส่งเสริมการพัฒนาดิจิทัลของประเทศ โดยวางโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศอย่างเป็นระบบ ลดความซ้ำซ้อน และสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน กฎหมายนี้ยังรองรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ สนับสนุนการใช้ดิจิทัลในการบริการและทำธุรกรรม เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

"พ.ร.บ.ดีอี จะมุ่งลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งเสริมความรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ และพัฒนาคลังข้อมูลดิจิทัล ซึ่งมาตรา 5 และมาตรา 6 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีจัดทำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตามข้อเสนอของบอร์ดดีอี และให้หน่วยงานรัฐทุกแห่งดำเนินการให้สอดคล้องกัน"

เขา กล่าวอีกว่า เพื่อให้การพัฒนาดิจิทัลเป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีประสิทธิภาพทั่วประเทศ อีกทั้งยังจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล นวัตกรรม และธุรกิจรูปแบบใหม่ โดยมีกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) สนับสนุนเงินทุนแก่โครงการพัฒนาดิจิทัล โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน การวิจัย และบุคลากร สำหรับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

นายเวทางค์ กล่าวว่า สำหรับ พ.ร.บ. ดีอี ขณะนี้ครบรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ประเมินผลสัมฤทธิ์ คือกฎหมายมีผลบังคับใช้อย่างน้อย 5 ปี ดังน้้น การรับฟังความเห็นครั้งนี้จึงเป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงกฎหมายให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ตอบสนองความต้องการของภาครัฐและเอกชน และสร้างประโยชน์แก่ประชาชนในการเข้าถึงนวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย ทั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่พบปัญหาสำคัญในการบังคับใช้กฎหมาย จึงถือว่า พ.ร.บ. ดีอี บรรลุวัตถุประสงค์ในระดับหนึ่ง

 

ดังนั้น ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว พ.ร.บ. ดีอี จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความท้าทายทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น การเติบโตของปัญญาประดิษฐ์ (AI) บล็อกเชน (Blockchain) เทคโนโลยีควอนตัม(Quantum technology) และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) 

ทั้งนี้ การปรับปรุงกฎหมายอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่ยั่งยืนและครอบคลุมสำหรับทุกคน นอกจากการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในครั้งนี้แล้ว สดช.ยังได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลในรูปแบบของแบบสอบถามออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย 

นอกจากนี้ ยังมีการสัมภาษณ์เชิงลึกของผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนมิถุนายน ๒๕๖๘เพื่อนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้ไปเป็นแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนาพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายด้านการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมต่อไป