เปิดบ้านทรูไอดี คุยกับ 'วินท์รดิศ' ในวันที่ต้องลงแข่งในสนามคอนเทนต์

ทรูไอดี ยอมรับว่าธุรกิจมีการแข่งขันสูงมาก การสร้างแพลตฟอร์มของคนไทย เพื่อส่งออกคอนเทนต์ไทย วัฒนธรรมไทย สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญคือ การพัฒนาเพื่อเพิ่มความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ เพราะสิ่งนี้คือหัวใจของธุรกิจ
วินท์รดิศ กลศาสตร์เสนี ประธาน ทรูไอดี เปิดเผยว่า ธุรกิจคอนเทนต์มีการแข่งขันสูง และต้นทุนการผลิตคอนเทนต์เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดนี้มีความท้าทาย ทรูไอดี ไม่ต้องการเป็นแค่แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งทั่วไป แต่ตั้งเป้าเป็น “ซูเปอร์แอป” ที่ให้บริการครอบคลุมหลายด้าน เช่น คอนเทนต์ อีคอมเมิร์ซ บริการดิจิทัล และการเชื่อมโยงกับคอมมูนิตี้ของผู้ใช้ แนวคิดนี้คล้ายกับ WeChat ของจีน ซึ่งรวมทุกอย่างไว้ในแอปเดียวเพื่อให้บริการแบบครบวงจร
การแข่งขันในธุรกิจโอเวอร์ เดอะ ท๊อป (โอทีที) ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศเท่านั้น เพราะประเทศไทยกำลังก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านคอนเทนต์ระดับโลก ซึ่งทำให้แพลตฟอร์มระดับนานาชาติให้ความสนใจเข้าสู่ตลาดมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น YouTube และ Netflix ที่มีโมเดลธุรกิจแตกต่างกัน YouTube อาศัยรายได้จากโฆษณาและเปิดให้ทุกคนโพสต์คอนเทนต์ได้ ส่วน Netflix เน้นการสมัครสมาชิกเพื่อเข้าถึงคอนเทนต์พรีเมียม
โมเดลรายได้ทรูไอดี
แพลตฟอร์มโอทีทีทั่วโลกส่วนใหญ่ใช้โมเดล โฆษณาเป็นหลัก (Advertising-Based) ทรูไอดี เองก็ใช้แนวทางเดียวกัน โดยมี Free Tier เพื่อให้ประชากรไทยกว่า 70 ล้านคนสามารถเข้าถึงคอนเทนต์คุณภาพได้ฟรี รายได้หลักมาจากโฆษณาที่ได้รับจากแบรนด์และเอเจนซี นอกจากนี้ ยังมีทางเลือกให้ผู้ใช้สมัครสมาชิกแบบไม่มีโฆษณา
สิ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากแพลตฟอร์มต่างชาติคือ การเน้นให้บริการที่ เข้าถึงคนไทยได้มากที่สุด โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งช่วยให้แพลตฟอร์มสามารถขยายฐานผู้ชมได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันทรูไอดีมีผู้ใช้งานกว่า 30 ล้านคนต่อเดือน และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ข้อพิพาทกับกสทช.
วินท์รดิศ ยอมรับว่า กำลังเผชิญกับความท้าทายในเรื่องกฎหมายแพลตฟอร์มโอทีทีของไทย ซึ่งยังไม่มีข้อบังคับที่ชัดเจน ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมระหว่างแพลตฟอร์มไทยและต่างชาติ ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎเดียวกัน ดังนั้น เราต้องการให้เกิด กฎระเบียบที่เป็นธรรม เพื่อให้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันได้โดยไม่เสียเปรียบแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ
ประเด็นที่เป็นข้อพิพาทสำคัญคือ เอกสารที่ทรูไอดีได้รับจากคู่ค้า ซึ่งทำให้บริษัทต้องสอบถามไปยัง กสทช. แต่กลับไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน เมื่อเรื่องส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ทรูไอดี จึงต้องดำเนินการทางกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิของแพลตฟอร์มและผู้ใช้
ขอย้ำว่าทรูไอดีไม่ต้องการมีปัญหากับภาครัฐ แต่ต้องการให้มีแนวทางปฏิบัติที่เป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย เพราะปัจจุบันโอทีทียังไม่มีกฎหมายควบคุมที่ครอบคลุม ทำให้แพลตฟอร์มไทยเสียเปรียบแพลตฟอร์มต่างชาติที่ไม่อยู่ภายใต้ข้อบังคับเดียวกัน
แผนพัฒนาในอนาคต
ทรูไอดีมุ่งเน้นพัฒนาธุรกิจใน 3 ด้านหลัก ได้แก่
พัฒนาประสบการณ์ของผู้ใช้ – ใช้ข้อมูลเชิงลึกเพื่อให้บริการที่ตรงใจ และนำเสนอคอนเทนต์ที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
สร้าง Social Commerce – ผสานคอนเทนต์เข้ากับการซื้อขายสินค้าออนไลน์ คล้าย TikTok Shop แต่ปรับให้เข้ากับพฤติกรรมคนไทย
นำ AI ช่วยพัฒนาแพลตฟอร์ม – เทคโนโลยี AI จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของแพลตฟอร์ม ตั้งแต่การแนะนำคอนเทนต์ไปจนถึงการสร้างประสบการณ์ที่เป็นส่วนตัวมากขึ้น
พร้อมทั้ง มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยแนวทางการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง TrueID เชื่อว่าการเป็น แพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนไทยได้ดีที่สุด คือกุญแจสำคัญในการแข่งขัน และจะช่วยให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านคอนเทนต์ระดับโลกในอนาคต
"คอนเทนต์ไม่ได้เป็นเพียงความบันเทิง แต่เป็นศูนย์กลางที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจโดยรวม การแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้จึงต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชน"