ดีอีชงพ.ร.บ.เกมเข้าสภาฯเม.ย.นี้ ต่อยอดขึ้นท๊อป 3 ชิงแชร์อาเซียน

ดีอีชงพ.ร.บ.เกมเข้าสภาฯเม.ย.นี้ ต่อยอดขึ้นท๊อป 3 ชิงแชร์อาเซียน

'ประเสริฐ' จ่อแจ้งเกิด พ.ร.บ.เกม หวังพลิกโฉมเศรษฐกิจดิจิทัล ระบุตลาดเกมไทยถือเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ 1 ใน 3 ของอาเซียนและมีอัตราการเติบโตสูง หนุนเป็น New S-curve ปั้นไทยขึ้นแท่นผู้นำโลก ลุยรับฟังเสียงทุกภาคส่วน คาดกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ปลายปี 68

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานการประชุมผู้บริหารกระทรวงดีอี (Top Executives) ครั้งที่ 2/2568 ได้ล่าสุดได้มีมติเห็นชอบแผนการขับเคลื่อน (ร่าง) พ.ร.บ. ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกม พ.ศ. ... ตามที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (สศด.) หรือ ดีป้า ได้มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ครอบคลุมสาขาอุตสาหกรรมเกม แอนิเมชัน คาแรคเตอร์ และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ 

ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามูลค่าอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศ ในปี พ.ศ.2566 มีสูงถึง 44,236 ล้านบาท โดยเป็นมูลค่าการบริโภคในอุตสาหกรรมเกมถึง 34,288 ล้านบาท หรือคิดเป็นกว่า 77.5% โดยเป็นการนำเข้าสินค้าและบริการเกมเข้ามาบริโภคแทบทั้งสิ้น มีสัดส่วนที่ผลิตในประเทศเพื่อบริโภคและส่งออกมีเพียง 886 ล้านบาท ในขณะเดียวกันตลาดเกมไทยถือเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ 1 ใน 3 ของอาเซียนและมีอัตราการเติบโตสูง 

ดังนั้น เพื่อเป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกมให้เป็นอุตสาหกรรม New S-curve และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้น จำเป็นต้องมีการวางกลไกและแนวทางการขึ้นทะเบียน กำกับ และการส่งเสริมที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับบริบทการส่งเสริมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศ โดยแยกจาก (ร่าง) พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ฉบับใหม่ 

“ดีอีรับรายงานความคืบหน้าพ.ร.บ.เกม พ.ศ. ... ได้จัดประชาพิจารณ์ไปเสร็จเรียบร้อย ตอนนี้กระทรวงดีอี กำลังจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆนี้ จากนั้นส่งไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไข ถ้าผ่านการเห็นชอบคาดว่าเดือนเม.ย. 2568 จะเข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎร หากผ่านการเห็นชอบ จะสามารถนำไปประกาศลงราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ทันที ”

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกม มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกมไทยสู่มาตรฐานสากล ผ่านการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ การพัฒนามาตรฐานและการกำกับควบคุม พร้อมตั้งกองทุนส่งเสริม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยวางเป้าหมายสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมเศรษฐกิจและการปกป้องสังคม

ร่างกฎหมายฉบับนี้ครอบคลุม 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การปรับปรุงนิยาม การตั้งคณะกรรมการ การขึ้นทะเบียน การกำกับดูแล และการจัดตั้งกองทุน

โดยเน้นการดูแลเยาวชน การป้องกันผลกระทบทางจิตใจ และการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมในเชิงบวก รวมถึงการดึงดูดการลงทุนจากผู้ประกอบการระดับโลก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ตัวแทนจากภาคเอกชนและการศึกษา เสนอให้เพิ่มประเด็นการพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรม และเรียกร้องให้มีตัวแทนจากภาคเอกชนและผู้เชี่ยวชาญด้านเกมร่วมในคณะกรรมการ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็วและเหมาะสม

ทั้งนี้ ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน รวมถึงผลการประชุม 4 ครั้งก่อนหน้า จะถูกนำมาปรับปรุงร่างกฎหมายให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยดีป้าคาดว่าจะเสนอร่าง พ.ร.บ.เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน เม.ย.68 และประกาศใช้ภายในสิ้นปีเดียวกัน

นอกจากนี้ ดีป้ายังได้รายงานความคืบหน้าของบัญชีบริการดิจิทัล และตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ประกอบการดิจิทัล (วิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น (Digital Startup) และบริการดิจิทัล ที่ขอขึ้นทะเบียนบัญชีบริการดิจิทัล โดยกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้ผลักดันเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และเป็นหนึ่งในหมวดพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการดิจิทัลร่วมพัฒนาระบบราชการไทย

สำหรับการขึ้นทะเบียนบัญชีบริการดิจิทัล ดีป้า จะทำหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ประกอบการดิจิทัลไทย รวมถึงสินค้าและบริการดิจิทัลที่ขอรับการขึ้นทะเบียน ไม่ว่าจะเป็น Software, Software as a Service, Digital Content Service, Smart Devices และ Hardware and Firmware ฯลฯ ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดด้านมาตรฐานตามที่สำนักงานฯ กำหนด เช่น CMMI, ISO 

สำหรับ Software และ dSURE สำหรับ Smart Devices ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานด้านความปลอดภัย การใช้งาน และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ มั่นใจข้อมูลถูกจัดเก็บในประเทศไทย ไม่รั่วไหล โดยจะต้องมีการระบุราคาที่ชัดเจน เชื่อถือได้ เป็นไปตามข้อกำหนดของกรมบัญชีกลาง ซึ่งถือเป็นกลไกหลักที่จะช่วยพัฒนาผู้ประกอบการดิจิทัลไทย ขณะเดียวกัน ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากบริการภาครัฐที่ได้รับการยกระดับด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นของคนไทย สอดรับกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น

พร้อมกันนี้ ดีป้า ยังจัดเตรียมแพลตฟอร์ม TECHHUNT ที่ได้รวบรวมสินค้าและบริการดิจิทัลจากผู้ประกอบการไทยที่มีคุณภาพ และมีข้อมูลชัดเจน ซึ่งในปัจจุบันมีสินค้าและบริการดิจิทัลที่ขึ้นทะเบียนบัญชีบริการดิจิทัลแล้ว 615 สินค้าและบริการ จาก 91 บริษัท และอยู่ระหว่างการเชิญชวนหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้เข้ามาใช้บริการผ่านบัญชีบริการดิจิทัลแล้ว 5,515 หน่วยงาน