ดีป้า - สภาดิจิทัล แนะภาครัฐเร่งมือพัฒนาคน AI เสริมแกร่งประเทศ

ดีป้า - สภาดิจิทัล แนะภาครัฐเร่งมือพัฒนาคน AI เสริมแกร่งประเทศ

ดีป้า - สภาดิจิทัล ชี้ไทยยังเป็นเพียงผู้ใช้ AI ไม่ใช่ผู้สร้าง ขาดบุคลากร - การศึกษาเทคโนโลยี เสนอแนวทางเร่งพัฒนาคน หวั่นถูกเพื่อนบ้านแซงหน้า

KEY

POINTS

  • ประเทศไทยมีผู้ใช

เมื่อวันที่ 27 มี.ค.68 ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เปิดเผยในงานสัมมนา AI Revolution 2025: A New Paradigm of New World Economy ที่จัดโดย หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจว่า ช่วง Panel Discussion: AI & Digital Talent: Building Future-Ready Thai Entrepreneurs ว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยกว่า 3 ล้านราย โดยเกือบทั้งหมดมีการนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในการประกอบกิจการ เพียงแต่อาจจะยังไม่เข้าใจหรือยังไม่รู้ตัวว่าเทคโนโลยีที่ใช้งานอยู่นั้น ทำงานผ่านระบบปฏิบัติการของ AI และคิดเป็นสัดส่วนแค่ไม่ถึง 1% เท่านั้น ที่มีการประยุกต์ใช้ AI อย่างเข้มข้น ซึ่งในจำนวนนั้นเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ภายในประเทศ อย่างสถาบันทางการเงิน ส่วนที่เหลือยังติดปัญหาการเข้าถึงเทคโนโลยี ทุน และทักษะพื้นฐาน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร และแรงงานนอกระบบ

ทั้งนี้ ข้อมูลจากการสำรวจภาคสนาม พบว่า ผู้ใช้งาน AI อย่างจริงจังในชีวิตประจำวันมีเพียงผิวเผิน โดยแพลตฟอร์มที่ใช้งานอยู่มักเป็นของต่างชาติ เช่น โซเชียลมีเดีย หรือเครื่องมือจากบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติ ขณะที่ผู้ประกอบการไทยจำนวนมากยังไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองได้ ทำให้เกิดความเสี่ยงในการพึ่งพาภายนอกมากเกินไป

ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันคนไทยต้องเปลี่ยน Mindset และมุ่งมั่นที่จะ Upskill ตัวเองผ่านหลักสูตรของบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกที่ขึ้นทะเบียนบนแพลตฟอร์มออนไลน์

ดีป้า - สภาดิจิทัล แนะภาครัฐเร่งมือพัฒนาคน AI เสริมแกร่งประเทศ

จัดกลุ่มประชากรเป้าหมาย

ทั้งนี้ ดีป้า เสนอให้เร่งแบ่งกลุ่มประชากรเป้าหมายออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่  

ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องแบ่งกลุ่มผู้ใช้เทคโนโลยี AI ให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น

1) ประชาชนทั่วไปที่สามารถเรียนรู้ พัฒนาทักษะ และสามารถนำเทคโนโลยี AI มาใช้ได้อย่างชาญฉลาดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้

2) แรงงานที่ต้องการ Upskill ตัวเอง โดย depa จะสนับสนุนในเรื่องของสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อเป็นการส่งเสริมการจ้างงานและการพัฒนาทักษะ สำหรับองค์กรธุรกิจที่ส่งพนักงานฝึกอบรมในหลักสูตรดิจิทัลที่ depa และเครือข่ายพันธมิตรให้การรับรอง สามารถนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 250%

นอกจากนี้ ยังสามารถหักค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 150% ของเงินเดือน 12 เดือนแรกของผู้จบการศึกษาด้านดิจิทัล สำหรับประชาชนทั่วไป depa จะช่วยแบ่งเบาภาระภาษี โดยประชาชนสามารถนำใบเสร็จค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนเรียนในหลักสูตรที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับดิจิทัลวงเงินรวมไม่เกิน 50,000 บาทมาหักค่าใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2568 ได้ 100%

3) ระดับมืออาชีพ ซึ่งกลุ่มนี้จะต้องแข่งขันช่วงชิงกับบริษัทระดับโลก ในทางกลับกัน ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องดึงดูดกำลังคนดิจิทัลในสาขาขาดแคลนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่าน Global Digital Talent Visa ซึ่ง depa มองว่าจะเป็นการสร้างประโยชน์และช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรดิจิทัลให้กับภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ของประเทศ

เขา เสนอว่า การออกแบบระบบเรียนรู้แบบใหม่ ควรทำให้เข้าถึงง่าย ไม่จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน เช่น การใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ โค้ชจากผู้เชี่ยวชาญ และระบบการฝึกอบรมแบบเปิด (Open Course) พร้อมเสนอให้รัฐออกมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อการเรียนรู้ สำหรับผู้ประกอบการ และบุคคลทั่วไปที่ลงทุนในการเพิ่มทักษะของตนเอง

หวั่นไทยขาดบุคลากรไอที

ดังนั้น หากประเทศไทยยังไม่เร่งปรับโครงสร้างการศึกษา และระบบพัฒนาทักษะ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน และแรงงานภาคการผลิต อาจไม่สามารถแข่งขันกับประเทศในอาเซียนได้ โดยเฉพาะเวียดนาม และมาเลเซียที่เร่งพัฒนาแรงงานด้านเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ การพัฒนาคนให้เข้าใจ และใช้งาน AI ได้อย่างแท้จริง จะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต และจะต้องไม่จำกัดอยู่เพียงแค่กลุ่มหัวกะทิ แต่ต้องกระจายสู่คนทุกระดับให้ได้มากที่สุด

ประเทศไทยจะเหลืออะไร หากต่างชาติดึงเอาหัวกะทิคนไอทีไปหมด เราจะกลายเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีแบบขาดทุน เราต้องแบ่งกลุ่มประชากรให้ชัดเจนถึงจะกำหนดทิศทางประเทศได้ และเกิดการใช้อย่างเชี่ยวชาญ

ดันไทยสู่ประเทศผู้สร้าง

ขณะที่ ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ธุรกิจไทยส่วนใหญ่ยังใช้ AI ในฐานะผู้บริโภคเท่านั้น โดยไม่รู้ตัวว่าเทคโนโลยี AI ได้แทรกซึมเข้าสู่ชีวิตประจำวันไปแล้ว ทั้งในซอฟต์แวร์สำนักงานหรือเครื่องมือแต่งภาพ พร้อมตั้งคำถามกลับว่า ประเทศไทยจะยอมเป็นแค่ผู้ใช้ หรือจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิต ในสนามเทคโนโลยีโลก ขณะที่ หลายคนใช้งาน AI อยู่โดยไม่รู้ตัว เช่น ฟีเจอร์ใน Microsoft Office หรือระบบอัตโนมัติในกล้องถ่ายภาพ การใช้ AI ยังอยู่ในวงจำกัด เพราะขาดความรู้ความเข้าใจ และที่สำคัญคือ ขาด "คนที่สร้าง" ไม่ใช่แค่ "คนที่ใช้"

เขา ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีบุคลากรที่สามารถเขียนโปรแกรมได้จริงไม่ถึง 1% เมื่อเทียบกับประเทศอย่างมาเลเซียที่มีคนเรียนด้าน STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม คณิตศาสตร์) สูงถึง 50% ชี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยยังไม่สามารถผลิตเทคโนโลยี AI ของตัวเองได้

"ตัวเลขนี้ไม่ได้เริ่มที่มหาวิทยาลัย แต่มันเริ่มตั้งแต่อนุบาล ระบบการศึกษาไทยบังคับให้เด็กเลือกสายตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เราสูญเสียคนจำนวนมากไปจากสายเทคโนโลยี แม้รัฐบาลจะมีความพยายามดึงดูดผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเข้ามา แต่หากไม่เร่งลงทุนพัฒนาคนไทย ให้สามารถสร้างเทคโนโลยีได้เอง ก็จะตกเป็นเพียงผู้พึ่งพาต่างชาติแบบไม่รู้จบ" ดร.อธิป กล่าว

ดีป้า - สภาดิจิทัล แนะภาครัฐเร่งมือพัฒนาคน AI เสริมแกร่งประเทศ

ใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนเกมธุรกิจ

ดร.อธิป กล่าวว่า ยกตัวอย่างประเทศอินเดียที่เคยถูกมองว่าไม่สามารถพัฒนา AI ได้ แต่กลับใช้เงินเพียงหลักพันล้านบาทในการสร้างโมเดล AI ของตัวเองขึ้นมาได้สำเร็จ จนนำไปสู่การประกาศว่าอินเดียจะพัฒนาเทคโนโลยี AI โดยไม่ต้องพึ่งพาบริษัทข้ามชาติอีกต่อไป ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายแห่งกำลังปลุกพลังสร้างของตัวเอง ประเทศไทยก็ต้องถามตัวเองว่า เราจะเป็นผู้ใช้หรือจะเป็นผู้ผลิตในสนามนี้

โดยเทคโนโลยี AI กำลังเปิดโอกาสให้พนักงานที่มีศักยภาพลุกขึ้นมาสร้างธุรกิจใหม่ แทนที่จะอยู่ภายใต้ระบบเดิม เพราะ AI ทำให้ต้นทุนการเริ่มต้นธุรกิจลดลงอย่างมหาศาล คนที่ใช้ AI ได้ดีสุดคือ คนที่เก่งอยู่แล้ว และจะเก่งขึ้นไปอีก ส่วนคนที่ไม่เรียนรู้จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และองค์กรที่ไม่ปรับตัวอาจต้องสูญเสียคนเก่งที่สุดไป เพราะเขาจะไปสร้างสิ่งใหม่เอง ประเทศไทยต้องเปลี่ยนวิธีคิดโดยด่วน หากยังต้องการอยู่รอดในโลกที่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนทุกเกมธุรกิจ และการแข่งขันบนเวทีโลก

อยากให้ผู้ประกอบการ หรือคนไทยมองทะลุวาทกรรมที่ว่าไทยเป็นผู้ผลิตเองไม่ได้ เราต้องทลายมายด์เซตตรงนี้แล้ว ถ้าเราเชื่อว่าทำได้มันก็ทำได้

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์