'เอ็ตด้า' เปิดเครื่องมือฉบับใหม่ชวนองค์กรเช็กความพร้อมด้าน AI

'เอ็ตด้า' เปิดเครื่องมือฉบับใหม่ชวนองค์กรเช็กความพร้อมด้าน AI

เอ็ตด้า ชวนองค์กรภาครัฐและเอกชน ร่วมประเมินความพร้อมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ภายในองค์กร ด้วยเครื่องมือ AI Readiness Scan ให้องค์กรได้ทราบถึงสถานะความพร้อมตัวเอง

นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กล่าวว่า ปัจจุบันหลายองค์กรไทยนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI เข้ามาประยุกต์ใช้ในการทำงานและการทำธุรกิจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจาก “ผลการสำรวจความพร้อมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) สำหรับบริการดิจิทัล ปี 2567 หรือ AI Readiness Measurement 2024” ฉบับล่าสุดของ พบว่า 

ภาพรวมองค์กรไทย มีคะแนนเฉลี่ยของความพร้อมในการประยุกต์ใช้ AI เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 55.1 % จากปี 2566 ที่มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 45.3% โดยมี AI Readiness อยู่ในระดับ AI Aware หมายถึง องค์กรมีความตระหนักและเริ่มต้นที่นำ AI มาประยุกต์ใช้งานแล้ว และอีกกว่า 73.3% มีแผนที่จะนำมาใช้ในอนาคต โดยองค์กรส่วนใหญ่กว่า 69.6% ยังไม่เริ่มใช้ เพราะอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูล 

ส่วนอีก 59.8% ระบุว่า รอนโนบายจากผู้บริหาร และอีก 56.8% อยู่ระหว่างพิจารณาด้านงบประมาณและความคุ้มค่า นอกจากนี้ องค์กรส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า ตนเองมีความพร้อมรองรับการประยุกต์ใช้ AI อยู่ที่ระดับใด จึงทำให้ยังไม่กล้าตัดสินใจที่จะใช้ AI ในองค์กร  

ศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI Governance Center (AIGC) ภายใต้เอ็ตด้า ที่มุ่งสนับสนุนและส่งเสริมให้องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนเกิดการยกระดับการทำงานและธุรกิจด้วยเทคโนโลยี AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับมาตรฐานสากล อย่างมีจริยธรรมและธรรมาภิบาล จึงได้ออกแบบเครื่องมือ "AI Readiness Scan" หรือ แบบประเมินความพร้อมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ภายในองค์กร’ เพื่อให้องค์กรได้ทราบถึงสถานะความพร้อมในการประยุกต์ใช้ AI ว่าปัจจุบันมีความพร้อมอยู่ในระดับใด มีช่องว่างที่ต้องไปต่อ

หรือจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ในการเปลี่ยนผ่านด้าน AI & Digital Transformation ที่เหมาะสมกับองค์กรอย่างไรบ้าง ผ่านการทำแบบประเมินด้วยการตอบแบบสอบถามที่ถูกพัฒนาและสร้างสรรค์โดยผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ AIGC ที่ร่วมกันจัดทำขึ้น เพื่อให้องค์กรมีเครื่องมือในการช่วยประเมินความพร้อมด้าน AI ที่สามารถนำผลการประเมินไปใช้งานได้จริง สู่การพัฒนาองค์กรให้สามารถประสบความสำเร็จตามเป้าหมายและป้องกันผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นจากการประยุกต์ใช้ AI ได้อย่างมืออาชีพ

โดย AI Readiness Scan ประกอบไปด้วยแบบสอบถามทั้งหมด 5 ด้าน รวมทั้งหมด 12 คำถามครอบคลุมตั้งแต่

  1. ด้านยุทธศาสตร์และความสามารถขององค์กร เช่น การสนับสนุนจากผู้บริหารระดับ การยอมรับจากบุคลากรในองค์กร วัฒนธรรมในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ การวางแผนหรือเป้าหมายในการนำ AI ไปประยุกต์ใช้
  2. ด้านบุคลากร การมีความรู้ ความเข้าใจและทักษะด้าน AI ที่เกี่ยวข้อง
  3. ด้านข้อมูล เช่น มาตรการในการควบคุมคุณภาพข้อมูลที่ใช้งานร่วมกับ AI การรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ  ที่ถูกต้องน่าเชื่อถือ
  4. ด้านโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศด้าน AI ที่รองรับการพัฒนา และการนำ AI ไปประยุกต์ใช้ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลสำหรับจัดเก็บข้อมูลส่วนกลาง เพื่อใช้งานร่วมกับ AI
  5. ด้านธรรมาภิบาล เช่น องค์กรมีการกำกับดูแลการประยุกต์ใช้ AI สอดคล้องตามหลักจริยธรรมและป้องกันผลกระทบเชิงลบที่อาจจะเกิดขึ้น 

ทั้งนี้ หลังตอบแบบประเมินเครื่องมือ AI Readiness Scan จะทำการประมวลผลสถานะความพร้อมด้าน AI ขององค์กร โดยแบ่งความพร้อมออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่

1) ระดับ AI Unaware หมายถึง องค์กรรู้จักการใช้ AI แต่อาจไม่ทราบถึงประโยชน์ และไม่ทราบว่าจะนำ AI มาช่วยในการทำงานอย่างไร

2) ระดับ AI Aware หมายถึง องค์กรเข้าใจถึงประโยชน์ของ AI และสามารถนำผลิตภัณฑ์ AI ที่พร้อมใช้งาน มาประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างเหมาะสม

3) ระดับ AI Ready หมายถึง องค์กรสามารถเลือกใช้และนำโมเดลแบบ Pre-trained มาปรับใช้กับองค์กรได้อย่างเหมาะสม แต่ยังไม่มีการบริหารจัดการและแผนปฏิบัติการในระดับองค์กรได้

4) ระดับ AI Competent หมายถึง สามารถสร้าง AI Solutions/AI Models ที่ปรับให้เข้ากับความต้องการ เฉพาะของธุรกิจได้ มีการบริหารจัดการ และแผนปฏิบัติงานในระดับองค์กร รวมถึงมีศักยภาพในการพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง 

ซึ่งนอกจากองค์กรหรือผู้ตอบแบบประเมินจะได้รับรายงานผลระดับความพร้อมด้าน AI ขององค์กร ที่มาพร้อมคำอธิบาย ครอบคลุมระดับความพร้อมในการประยุกต์ใช้ AI ทั้ง 4 ระดับแล้ว ยังจะได้รับคำแนะนำในการพัฒนาเชิงกลยุทธ์ที่เหมาะสม เพื่อการวางแผนการพัฒนาองค์กรที่แม่นยำ เสริมศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจ เพื่อให้องค์กรสามารถนำผลลัพธ์ที่ได้มาช่วยในการกำหนดทิศทางวางแผนกลยุทธ์ขององค์กรให้มีความชัดเจน สู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ ลดต้นทุนในการผลิต รวมถึงการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้พื้นฐานด้าน AI พร้อมกับนำข้อเสนอแนะการพัฒนาในแต่ละด้านมายกระดับความพร้อมในการประยุกต์ใช้ AI ให้มีความปลอดภัยและลดผลกระทบในเชิงลบที่อาจจะตามมาด้วย

ในโลกที่ AI กำลังเข้ามาเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำงาน และวิถีชีวิตของผู้คน เราเชื่อว่า AI ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีแห่งอนาคต แต่คือ กุญแจสำคัญ ในการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมไทยให้พร้อมแข่งขันในเวทีโลก การประเมินความพร้อมด้วย AI Readiness Scan จึงไม่ใช่แค่เครื่องมือ แต่คือจุดเริ่มต้นของการเดินทางสู่ยุคที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน สามารถเข้าถึง เรียนรู้ และใช้ AI ได้อย่างเข้าใจและประยุกต์เข้ากับธุรกิจของตัวเอง