โอกาสใหม่กับ GenZ

โอกาสใหม่กับ GenZ

การเปิดเวทีให้คนทุกรุ่นได้แลกเปลี่ยนความเห็นกันจึงเป็นสิ่งจำเป็น

การเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตของคนทั่วไปนั้น เกิดขึ้นไม่บ่อยนักกับคนรุ่นก่อน ตรงกันข้ามกับยุคปัจจุบันที่เราจะเห็นการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีอนาล็อกอย่างเครื่องแฟกซ์ เครื่องรับส่งโทรเลข โทรทัศน์ขาวดำ ฯลฯ มาสู่การสื่อสารยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ

เช่นเดียวกับการเติบโตของธุรกิจที่แต่เดิมต้องอาศัยระยะเวลาหลายสิบปีนับตั้งแต่การก่อตั้งการวางรากฐานธุรกิจ การขยายตัว ไปจนถึงการเติบโตอย่างมั่งคั่งต้องใช้เวลาจากรุ่นสู่รุ่น แต่ทุกวันนี้เราจะเห็นคนรุ่นใหม่ประสบความสำเร็จสู่จุดสูงสุดได้ตั้งแต่อายุยังน้อย

อาจเป็นเพราะคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะคน GenZ ที่เติบโตมาพร้อมเทคโนโลยีอันทันสมัยและคุ้นเคยจนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเหมือนเป็นอวัยวะหนึ่งของตัวเอง ทำให้เขาเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและรู้วิธีที่จะเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ที่เป็น GenZ ด้วยกัน

น่าเสียดายที่องค์กรจำนวนไม่น้อยปฏิเสธคน Gen นี้เพราะรู้สึกว่าทำงานด้วยยาก อาจมาจากประสบการณ์ที่เคยทำงานกับคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ GenZ แล้วพบว่าวิธีคิดไม่เหมือนกัน และแนวทางการทำงานก็แตกต่างกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้โอกาสที่องค์กรจะเดินหน้าไปได้ในทิศทางเดียวกันจึงเป็นไปไม่ได้ เพราะคนรุ่นเก่า ยังคงคาดหวังให้คนรุ่นใหม่เชื่อฟังเขาอย่างเคร่งครัด มีระเบียบวินัยที่ดี คิดถึงแต่ส่วนรวม และทำงานอย่างเต็มที่ให้องค์กรโดยไม่ต้องลังเลใจ

ขณะที่แนวคิดคนรุ่นใหม่ ก็อยากให้คนรุ่นเก่ารับฟังเขามากกว่านี้ และเขาเชื่อว่า แนวทางที่เขาคิดนั้นอาจช่วยเปลี่ยนองค์กรให้ดีขึ้นได้ เราจึงควรพยายามสื่อสารกับเขาให้มากกว่านี้ และต้องคิดถึงวิธี ที่จะดึงศักยภาพจากเขามาใช้เป็นพลังในการขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงองค์กรให้สำเร็จ

เริ่มจากวิธีแรก คือ เปิดเวทีให้เขาได้แสดงออกทางความคิดอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นแบบทางการในห้องประชุม หรือการประชุมแบบไม่เป็นทางการที่ควรเปิดโอกาสให้เขาได้มีส่วนร่วมวิพากษ์วิจารณ์นโยบายและแนวทางต่าง ๆ อย่างเสรี

คนรุ่นเก่าจึงไม่ควรผูกขาดหน้าที่ในการนำความคิดของผู้เข้าร่วมประชุม แต่ต้องเป็นผู้ฟังที่ดี เมื่อเรายกเวทีให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงออกอย่างอิสระเต็มที่ และยกย่องความคิดของเขาเมื่อมีโอกาสเพื่อเป็นการสร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

แม้จะมีความเห็นที่ขัดแย้งกันก็จำเป็นต้องให้เขาได้อธิบายว่าทำไมถึงคิดแตกต่างกัน อาจเป็นเพราะความเชื่อที่แต่ละคนมีไม่เหมือนกัน หรือบางทีอาจเป็นความรู้ใหม่ที่เขาอาจมีความเชี่ยวชาญมากกว่า ซึ่งก็จะช่วยเปิดมุมมองให้สมาชิกในทีมได้ด้วย

ประเด็นสำคัญที่คน GenZ คิดแตกต่างจากคนรุ่นเก่าคือการสมดุลชีวิตระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว โดยในสายตาของคนรุ่นเก่าอาจเห็นว่าเขาให้น้ำหนักกับชีวิตส่วนตัวมากกว่างาน แต่เรื่องเหล่านี้ไม่ควรปฏิเสธไปเสียทั้งหมด เพราะหากเปิดใจได้คุยกันแล้วคนทั้งสองรุ่นอาจหาจุดสมดุลที่ลงตัวกันได้

เช่นเดียวกับการใช้ระบบอาวุโสที่คน GenZ มองว่าไม่จำเป็นเพราะเขาเติบโตมาในยุคที่คนรุ่นใหม่อย่างเขาเติบโตขึ้นมาเป็นเจ้าของกิจการและประสบความสำเร็จได้โดยไม่ต้องอาศัยประสบการณ์ยาวนานเหมือนคนรุ่นเก่า

การเปิดเวทีให้คนทุกรุ่นได้แลกเปลี่ยนความเห็นกันจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะคนรุ่นเก่าเองก็ผ่านทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวที่สามารถให้แง่คิดกับคนรุ่นใหม่ได้ เช่นเดียวกับคนรุ่นใหม่ก็มีทักษะในการใช้เครื่องไม้เครื่องมือสมัยใหม่ถ่ายทอดให้กับคนรุ่นเก่าได้

เมื่อได้พูดคุยกันคนทุกรุ่นจึงมีโอกาสสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ร่วมกันได้ จึงเป็นการสร้างการยอมรับซึ่งกันและกันโดยไม่จำเป็นต้องดับฝันของคนรุ่นใหม่ลงแต่ประการใด