เวทีประชาพิจารณ์ ‘คลื่นมือถือ’ ย้ำ ‘ราคา’ ต้องไม่กระทบผู้บริโภค

เวทีประชาพิจารณ์ ‘คลื่นมือถือ’ ย้ำ ‘ราคา’ ต้องไม่กระทบผู้บริโภค

สำนักงาน กสทช.ประขาพิจารณ์รับรอบ 2 นักวิชาการ หนุนมัดรวมประมูลทุกคลื่น ตั้งราคาเหมาะสมไม่กระทบผู้บริโภค วงการทีวีขอความชัดเจน 3500 MHz ให้อุตสาหกรรมเดินต่อไป

บนเวทีรับฟังความเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) วานนี้ (1 เม.ย.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ สำนักงาน กสทช.จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ หรือ ประชาพิจารณ์ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์ 1500 เมกะเฮิรตซ์ 1800 เมกะเฮิรตซ์ 2100 เมกะเฮิรตซ์ 2300 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ อีกครั้ง 

หลังจากที่เคยประชาพิจารณ์ ไปแล้วเมื่อ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา สำหรับการเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ มีจำนวน 6 เรื่อง ได้แก่

  1. คลื่นความถี่ที่จะนำมาประมูล
  2. วิธีประมูล
  3. ราคาขั้นต่ำ (Reserve Price)
  4. เงื่อนไขชำระเงินประมูลคลื่นความถี่และการจัดให้มีโครงข่ายโทรคมนาคม
  5. เงื่อนไขเกี่ยวกับการให้ดำเนินการเพื่อสังคม และการคุ้มครองผู้บริโภค
  6. ประเด็นอื่นๆ อาทิ ความเห็นเกี่ยวกับคลื่น 3500 เมกะเฮิรตซ์ หากนำมาประมูลตามแผนแม่บทด้วยนั้น จะก่อให้เกิดประโยชน์กับอุตสาหกรรมและประเทศชาติ

ชูประมูลรวมทุกคลื่น-ดันราคาเหมาะสม

"ไพโรจน์ ไววานิชกิจ" นักวิชาการโทรคมนาคม กล่าวว่า การนำย่านความถี่ 2100 ทั้งผืนมาจัดสรรในคราวเดียว ช่วยให้เกิดการใช้คลื่นความถี่มีประสิทธิภาพ ผู้เข้าประมูลสามารถวางแผนคลื่นได้ล่วงหน้าช่วยเพิ่มมูลค่าและความต้องการในการใช้งานคลื่น ซึ่งคุ้มค่าในการประมูลคลื่นมากกว่าการแยกประมูลไม่เต็มผืน 

นอกจากนี้ กสทช. ควรแยกช่วงความถี่คลื่น 2100 จำนวน 3 สล็อต ที่หมดอายุปี 2568 และ คลื่น 2100 จำนวน 9 สล็อต ที่หมดอายุปี 2570 ออกเป็นคนละกลุ่มในการประมูลครั้งนี้ เนื่องจากมีความต้องการใช้คลื่นและเวลาเริ่มต้นใช้คลื่นแตกต่างกัน

เวทีประชาพิจารณ์ ‘คลื่นมือถือ’ ย้ำ ‘ราคา’ ต้องไม่กระทบผู้บริโภค

"ชูชาติ เตชะโพธิวรคุณ" นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า หากมีประมูลแยกกัน สำนักงาน กสทช. จะมีต้นทุนและภาระจัดประมูลเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งครั้งโดยไม่จำเป็น การประมูลคลื่นล่วงหน้าสามารถทำได้ตามกฎหมาย ช่วยให้ไม่เกิดปัญหาอุปสรรคในช่วงเปลี่ยนผ่านตอนใบอนุญาตเดิมใกล้หมดอายุ 

นอกจากนี้ การประมูลไม่พร้อมกันจะทำให้มูลค่าคลื่นลดลง เพราะในการประมูลแต่ละครั้ง สำนักงาน กสทช. ต้องตีมูลค่าคลื่นใหม่ตามบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนไป ดังนั้นจึงไม่มีหลักประกันใดว่าหากประมูลปี 2570 จะมีราคาสุดท้ายที่สูงกว่าประมูลพร้อมกันในปี 2568

ย้ำประมูลแพงกระทบค่าบริการ

"นราพล ปลายเนตร" ตัวแทนภาคประชาชน กล่าวว่า การตั้งราคาคลื่นที่แพงไม่สอดคล้องมูลค่าที่แท้จริง จะส่งผลต่อค่าบริการที่อาจสูงขึ้น ดังนั้น สำนักงาน กสทช. ไม่ควรกำหนดราคาขั้นต่ำสูงเกินไป การตั้งมูลค่าและราคาคลื่นที่ไม่เหมาะสมสูงหรือต่ำเกินไปจะกระทบโครงสร้างต้นทุนและงบประมาณลงทุน อาจส่งผลต่ออัตราค่าบริการและอาจจะกลายเป็นภาระของผู้บริโภคในอนาคตได้

"ปริวุฒิ บุตรดี" ภาคประชาชน อีกท่านระบุว่า สำนักงาน กสทช. ควรต้องวางแผนในการกำหนด หลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่นอกเหนือจากการประมูลเพียงอย่างเดียว เช่น อาจใช้วิธีการ บิวตี้ คอนเทสต์ ที่ประกวดผลตอบแทนให้ภาครัฐทั้งที่เป็น ส่วนของเงินค่าตอบแทน และในส่วนเทคโนโลยี นวัตกรรม ตลอดจนการส่งเสริมการเข้าถึงโครงข่าย โทรคมนาคมให้กับผู้ด้อยโอกาส และในพื้นที่ห่างไกล

เวทีประชาพิจารณ์ ‘คลื่นมือถือ’ ย้ำ ‘ราคา’ ต้องไม่กระทบผู้บริโภค

ย้ำเกณฑ์จ่าย 3 งวดรัฐได้ประโยชน์

"ชูชาติ เตชะโพธิวรคุณ" นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า สำนักงาน กสทช. ไม่ควรเพิ่มเติมเงื่อนไข 10 งวด งวดละ 10% ให้กับรายใหม่ เพราะการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดการเข้ามายื่นประมูลโดยไม่ได้หวังจะนำคลื่นความถี่ไปใช้งานจริง แต่มีวัตถุประสงค์อื่นๆแอบแฝง ซึ่งในอดีตทาง กสทช. ก็เคยมีบทเรียนในเรื่องนี้มาแล้ว นอกจากนี้การผ่อนชำระ 3 งวด ก็ทำให้รัฐได้เงินก้อนแรก 50% เพื่อนำไปพัฒนาประเทศ 

โดยหลักของแคชโฟล์วแล้ว ก็ได้เงินค่าประมูลเร็วกว่า มากกว่า ย่อมเป็นผลดีต่อประเทศชาติมากกว่า การที่ผู้เข้าประมูลมีความพร้อมในการชำระเงินค่าประมูล ย่อมแสดงถึงสภาพทางการเงินที่ดีของผู้เข้าประมูล ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการทิ้งใบอนุญาตดังเช่นในอดีต

เชื่อคลื่น 3500 หนุนอุตฯโดยรวม

"วรศิริ ผลเจริญ" นักวิชาการ กล่าวว่า การใช้งาน 5จี บนคลื่นความถี่ 3500 เพิ่มโอกาสในการประยุกต์ใช้งานนวัตกรรมต่างๆ การนำคลื่น 3500 มาประยุกต์ใช้อุปกรณ์ต่างๆในระบบ 5จี ของภาคเอกชนนั้น ช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม ที่จะช่วยต่อยอดและช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ 

อีกทั้ง ยังช่วยส่งเสริมให้เกิดผู้พัฒนาโซลูชั่นบนอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ เช่น ทางด้านการแพทย์ ช่วยให้เกิดการพัฒนาทางด้านโทรเวชกรรม ทางด้านอุตสาหกรรม ช่วยให้เกิดการพัฒนาเกี่ยวกับ Automated Factory & Mining ด้านอุตสาหกรรมSoftware/Platform ช่วยให้เกิดการประยุกต์ใช้ AR / VR ตลอดจน Automated vehicle และ Logistic ทางด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ ช่วยต่อยอดเรื่องเซนเซอร์ และ Alert system เช่น การตรวจจับความร้อนไฟป่า 

"ประเมนทร์ ภักดิ์วาปี" อดีตผู้บริหารทีวีดิจิทัล ระบุว่าการใช้งานคลื่น 3500 MHz ร่วมกันระหว่าง 2 อุตสาหกรรม คือ โทรศัพท์เคลื่อนที่ และ TV ที่รับสัญญาณผ่านจาน ดาวเทียม C-Band จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ ผลกระทบของสัญญาณรบกวนที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากปี 2568-2572 นั้น หากมีการดำเนินการอย่างมีแบบแผน ทั้งในแง่ของการติดตั้งเสาโทรศัพท์และการสำรวจเพื่อแก้ไขปัญหาสัญญาณรบกวนกันอย่างเป็นระบบ