ไมโครซอฟท์ชะลอแผน Data Center หลายประเทศ ปรับกลยุทธ์ ‘เอไอ-คลาวด์’ ครั้งใหญ่

ผู้เชี่ยวชาญเริ่มกังวลถึง ‘ฟองสบู่’ ในตลาด Data Center หลังไมโครซอฟท์ชะลอการลงทุนในหลายประเทศ สอดคล้องกับคำเตือนจากประธาน Alibaba เมื่อเดือนมี.ค. ที่ระบุว่า บริษัทต่างๆ อาจสร้างศูนย์ข้อมูลมากเกินความจำเป็นที่ต้องใช้จริง
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน ไมโครซอฟท์ยุติการเจรจาหรือเลื่อนการพัฒนาพื้นที่ศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในหลายประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย อังกฤษ ออสเตรเลีย รวมถึงรัฐอิลลินอยส์ นอร์ทดาโคตา และวิสคอนซินในสหรัฐ สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทเริ่มทบทวนกลยุทธ์การสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับระบบคลาวด์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) อย่างจริงจังมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าเหตุใดไมโครซอฟท์จึงตัดสินใจชะลอการสร้างศูนย์ข้อมูลในครั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่าอาจเป็นได้สองกรณี กรณีแรกคือ บริษัทอาจคาดการณ์ว่าในอนาคตจะมีผู้ใช้บริการเอไอ และคลาวด์น้อยลงกว่าที่ประเมินไว้เดิม จึงไม่จำเป็นต้องสร้างศูนย์ข้อมูลในปริมาณมากขนาดนั้น
หรืออาจเป็นกรณีที่สองคือ เพียงแค่มีปัญหาชั่วคราวในการก่อสร้าง เช่น การขาดแคลนวัสดุก่อสร้าง หรือมีข้อจำกัดด้านไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอในบางพื้นที่
ความกังวลเกี่ยวกับการตัดสินใจครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นเทคโนโลยีทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตชิปอย่างอินวิเดีย (NVIDIA) ซึ่งได้รับงบประมาณส่วนใหญ่จากการก่อสร้างศูนย์ข้อมูล หุ้นของไมโครซอฟท์เองก็ลดลง 2.3% เหลือ 373.32 ดอลลาร์ในช่วงเช้าที่นิวยอร์ก ท่ามกลางการขายทำกำไรในตลาดที่กว้างขึ้น และราคาหุ้นได้ลดลงประมาณ 9% สำหรับปี 2568 ณ วันพุธที่ 3 เมษายน
ทางด้านไมโครซอฟท์ได้ยอมรับว่ามีการเปลี่ยนแปลงแผนศูนย์ข้อมูลจริง แต่ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดเกี่ยวกับโครงการส่วนใหญ่
โฆษกของไมโครซอฟท์รายหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กว่า บริษัทมีการวางแผนเรื่องศูนย์ข้อมูลไว้ล่วงหน้าหลายปี เพราะเราต้องมั่นใจว่าเมื่อถึงเวลานั้น บริษัทจะมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมใช้งานในทุกพื้นที่ ที่ต้องการ ขณะนี้เอไอกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว บริษัทก็จำเป็นต้องขยายศูนย์ข้อมูลไปพร้อมกัน การปรับแผนที่เราดำเนินการไปแสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้ยึดติดกับสูตรตายตัว แต่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
“เราลงทุนอย่างมากจนตอนนี้ระบบเราพร้อมเต็มที่สำหรับลูกค้า แม้ความต้องการจะเพิ่มขึ้นอีกก็ตาม แค่ปีที่แล้วปีเดียว เราขยายเซิร์ฟเวอร์เยอะที่สุดเท่าที่เคยมีมา บางพื้นที่อาจต้องชะลอหรือปรับแผนหน่อย แต่โดยรวมเรายังโตต่อเนื่องทุกที่ การปรับแบบนี้ช่วยให้เราโฟกัสจุดสำคัญสำหรับอนาคตได้ แผนลงทุนกว่า 80 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีนี้ยังเดินหน้าตามปกติ เพราะเราต้องขยายระบบให้ทันกับความต้องการของลูกค้า” โฆษกของไมโครซอฟท์ กล่าว
การปรับแผนศูนย์ข้อมูลของไมโครซอฟท์
1. ยกเลิกการเจรจาเช่าพื้นที่ศูนย์ข้อมูล - ไมโครซอฟท์ได้ตัดสินใจยกเลิกการเจรจาเช่าพื้นที่ศูนย์ข้อมูลในลอนดอน และเคมบริดจ์ (อังกฤษ) ซึ่งเดิมทีได้มีการโฆษณาว่าศูนย์ข้อมูลดังกล่าวสามารถรองรับชิปกราฟิกประสิทธิภาพสูงจากอินวิเดียได้ นอกจากนี้ บริษัทยังได้หยุดการเจรจาเช่าพื้นที่ใกล้ชิคาโก (สหรัฐ) อีกด้วย
2. ถอนตัวจากข้อตกลงเพิ่มกำลังการผลิตกับ CoreWeave - ไมโครซอฟท์เคยเช่ากำลังประมวลผลส่วนเกินจาก CoreWeave ซึ่งเป็นบริษัทคลาวด์ที่เน้นเทคโนโลยีเอไอ แต่ล่าสุดได้ถอนตัวจากข้อเสนอในการขยายกำลังการผลิต ไมเคิล อินเทรเตอร์ (Michael Intrator) ซีอีโอของ CoreWeave ได้ระบุว่า CoreWeave สามารถหาผู้เช่ารายใหม่มาทดแทนได้แล้ว แต่ไม่ได้เปิดเผยว่ามีกี่โครงการที่ได้รับผลกระทบ
3. ชะลอการก่อสร้างศูนย์ข้อมูลบางแห่ง - ในรัฐวิสคอนซิน (สหรัฐ) ไมโครซอฟท์ได้ชะลอการขยายศูนย์ข้อมูลเมาท์เพลซแซนท์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่อดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน เคยเดินทางมาเยี่ยมชม และในรัฐไอโอวา (สหรัฐ) บริษัทได้หยุดการทำงานบางส่วนในวิทยาเขตศูนย์ข้อมูลที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยในช่วง 6 เดือนแรกของโครงการวิสคอนซิน ไมโครซอฟท์ได้ใช้งบประมาณไปแล้วถึง 262 ล้านดอลลาร์ โดยเกือบ 40 ล้านดอลลาร์เป็นค่าวัสดุก่อสร้างเพียงอย่างเดียว
4. การเจรจาที่ล่าช้า และข้อตกลงที่หมดอายุ - บริษัทศูนย์ข้อมูลอย่าง Applied Digital เคยเจรจากับไมโครซอฟท์เพื่อเช่าศูนย์ข้อมูลในนอร์ทดาโคตา (สหรัฐ) แต่การเจรจาดำเนินไปอย่างล่าช้าจนทำให้ข้อตกลงหมดอายุไป
ปัจจุบัน Applied Digital กำลังเจรจากับบริษัทอื่นแทน และได้รับเงินทุนจาก Macquarie Asset Management เพื่อพัฒนาโครงการต่อ โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปีหน้า ความล่าช้านี้ส่งผลให้ราคาหุ้นของ Applied Digital ลดลงประมาณ 8%
5. การเจรจาเช่าพื้นที่ในลอนดอนที่ยังไม่สรุป - ไมโครซอฟท์กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาเช่าพื้นที่ศูนย์ข้อมูลขนาด 210 เมกะวัตต์ใน Docklands ของ Ada Infrastructure แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจอย่างเป็นทางการ ในขณะเดียวกัน บริษัท Ada Infrastructure กำลังเสนอพื้นที่ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากศูนย์การเงิน Canary Wharf เพียงไม่กี่กิโลเมตรให้กับผู้เช่าที่มีศักยภาพรายอื่น
6. โครงการที่ยังเดินหน้าต่อ - โฆษกของไมโครซอฟท์ได้ยืนยันว่าบริษัทจะยังคงดำเนินการโครงการมูลค่า 3.3 พันล้านดอลลาร์ในวิสคอนซินต่อไป โดยมีกำหนดเปิดใช้งานในปีหน้า นอกจากนี้ ยังเตรียมที่จะขยายศูนย์ข้อมูลในอินโดนีเซีย ซึ่งมีแผนจะเปิดในไตรมาสที่ 2 ของปี 2568 อย่างไรก็ตาม โฆษกไม่ได้กล่าวถึงการหยุดชะงักในบางส่วนของโครงการที่ได้รับผลกระทบ
7. การปรับกลยุทธ์การใช้จ่าย - บริษัทได้วางแผนที่จะใช้งบประมาณสูงถึง 80 พันล้านดอลลาร์ สำหรับศูนย์ข้อมูลภายในเดือนมิถุนายน 2567 แต่จะเน้นการติดตั้งอุปกรณ์ในศูนย์ข้อมูลที่มีอยู่แล้วแทนการก่อสร้างศูนย์ข้อมูลใหม่
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของไมโครซอฟท์ในมุมนักวิเคราะห์
บรรดานักวิเคราะห์เริ่มตั้งคำถามกับการลงทุนศูนย์ข้อมูล หลังจากที่ DeepSeek สตาร์ตอัปเอไอจากจีน ประกาศพัฒนาโมเดลแข่งขันได้โดยใช้ทรัพยากรน้อยกว่าบริษัทสหรัฐ ซึ่งอาจหมายความว่า ในอนาคต “เอไออาจต้องการพลังประมวลผลน้อยกว่าที่คาด”
นักวิเคราะห์จาก TD Cowen ชี้ว่าไมโครซอฟท์ยกเลิกโครงการศูนย์ข้อมูลใหม่ในสหรัฐ และยุโรป ที่รวมกันแล้วมีกำลังผลิต 2 กิกะวัตต์ โดยมองว่าเป็นการปรับตัวรับมือกับ “การมีศูนย์ข้อมูลมากเกินไปเมื่อเทียบกับการคาดการณ์ความต้องการปัจจุบัน”
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า OpenAI พันธมิตรหลักของไมโครซอฟท์ เริ่มกระจายความเสี่ยงด้วยการร่วมมือกับ Oracle และ SoftBank ในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอไอมูลค่า 1-5 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อลดความเสี่ยงในการถูกผูกขาด และพึ่งพากับระบบคลาวด์ของไมโครซอฟท์เพียงแห่งเดียว
ในช่วงปลายเดือนมีนาคม โจ ไทร์ (Joseph Tsai) ประธาน Alibaba เตือนถึงความเป็นไปได้ที่ตลาดศูนย์ข้อมูลอาจเกิด “ฟองสบู่” เนื่องจากมีการสร้างมากเกินความต้องการเริ่มต้น ขณะที่ Intrator จาก CoreWeave เชื่อว่าการตัดสินใจของไมโครซอฟท์ครั้งนี้เป็น “การปรับตัวตามสถานการณ์” มากกว่าเป็นสัญญาณวิกฤติของอุตสาหกรรมคลาวด์หรือเอไอโดยรวม
เอ็ด โซเซีย (Ed Socia) ผู้อำนวยการที่บริษัทข้อมูลอุตสาหกรรมที่ datacenterHawk กล่าวว่า บริษัทคลาวด์กำลังปรับแผนเพื่อลดต้นทุน และเน้นโครงการที่เปิดใช้งานได้เร็วขึ้น “บางครั้งคุณคิดว่าโครงการหนึ่งจะเสร็จเร็ว แต่พอเจอปัญหาด้านแรงงาน ห่วงโซ่อุปทาน หรือการจ่ายพลังงาน ก็ต้องเปลี่ยนแผนด่วน”
อ้างอิง: Bloomberg
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์