สื่อสารผ่าน ‘ข้อความ’ โตแรง! คนไทยยังเทใจให้ ‘แชต’ มากกว่าโทร

"Infobip" เผยเทรนด์การสื่อสารผ่านข้อความในรูปแบบการสนทนาพุ่งสูงทั้งในไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รับแรงขับเคลื่อนจากการเติบโตของทั้ง WhatsApp, LINE และ Messenger
Infobip ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการสื่อสารผ่านคลาวด์ระดับโลกเปิด รายงาน Messaging Trends ซึ่งเผยให้เห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของการใช้การสื่อสารผ่านข้อความเชิงสนทนา (Conversational Messaging) ในประเทศไทย
จากการวิเคราะห์การสื่อสารระหว่างกลุ่มธุรกิจและผู้บริโภคกว่า 530,000 ล้านครั้งในปี 2024 บนแพลตฟอร์มของตนเอง เพื่อเจาะลึกเทรนด์การสื่อสารผ่านข้อความเชิงธุรกิจทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค พบว่าการใช้งานช่องทางการสื่อสารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง โดย Rich Communication Services (RCS) และ Apple Messages for Business เติบโตเพิ่มขึ้น 102% และ 90% ตามลำดับ
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยเองมีความโดดเด่นด้วยแนวโน้มการเติบโตที่น่าสนใจ โดยในปี 2024 การสื่อสารผ่าน WhatsApp พุ่งสูงขึ้นถึง 208% ขณะที่แอปส่งข้อความยอดนิยมอย่าง LINE ก็เติบโตขึ้นเช่นกันที่ 29%
นอกจากนี้ การสื่อสารผ่านเสียงและวิดีโอก็เพิ่มขึ้นถึง 89% ส่วนการใช้งานการสื่อสารในกลุ่มธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ก็มีการขยายตัวสูงถึง 38% ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัลที่ต้องการการสื่อสารที่รวดเร็วและสะดวกยิ่งขึ้น
พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยที่นิยมใช้ช่องทางการสื่อสารเหล่านี้สอดคล้องกับการเติบโตของตลาดการค้าบนโลกโซเชียลภายในประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 2,554.9 ล้านดอลลาร์ในปี 2025
ตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างพฤติกรรมการสื่อสารของผู้บริโภค และวิธีที่พวกเขาใช้เพื่อติดต่อกับกลุ่มธุรกิจบนแพลตฟอร์มการซื้อขายในตลาดดิจิทัล
เอกรัฐ งานดี Head of New Business, APAC ของ Infobip กล่าวว่า การเติบโตของการสื่อสารผ่านข้อความในรูปแบบของการสนทนาในประเทศไทยนั้นไม่ได้เป็นเพียงกระแส แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของวิธีที่ผู้คนและฝั่งธุรกิจเชื่อมต่อกัน
ด้วยอัตราการใช้งานแอปส่งข้อความที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับอัตราการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือที่สูงมาก และมีการเชื่อมต่อผ่านเครือข่ายมือถือเกินกว่าจำนวนประชากรถึง 139% สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวไทยใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้เป็น "ช่องทางหลัก" ในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน
รวมไปถึงการสื่อสารกับแบรนด์ด้วยเช่นกัน สำหรับภาคธุรกิจนั้น การสร้างตัวตนและกลยุทธ์การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพบนแพลตฟอร์มเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ “ทางเลือก” ที่ถ้าหากมีไว้ก็ดีอีกต่อไป แต่กลายเป็นสิ่งจำเป็นในการเข้าถึงและสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับลูกค้าชาวไทย
ในอนาคต ธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ที่มีความเฉพาะบุคคล ไร้รอยต่อ และมีการสื่อสารเชิงโต้ตอบภายใต้สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยการสื่อสารผ่านข้อความเชิงสนทนาเช่นนี้ จะเป็นผู้ที่เติบโตและประสบความสำเร็จในโลกดิจิทัลของไทยที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
เป็นโอกาสสำคัญสำหรับธุรกิจไทยในการใช้พลังของการสื่อสารผ่านข้อความเชิงตอบโต้และ AI เพื่อยกระดับการมีส่วนร่วมของลูกค้า และขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจ โดยการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ตั้งแต่เนิ่นๆ พร้อมแนวทางเชิงรุกในการผสานเทคโนโลยีเหล่านี้เข้าด้วยกัน จะช่วยสร้างความได้เปรียบให้กับผู้ที่เริ่มก่อน และวางรากฐานสู่ความสำเร็จในระยะยาว ภายใต้สภาพแวดล้อมของตลาดที่พัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง