จับตาสมรภูมิ "คลื่นความถี่" ระอุ ค่ายมือถือทุ่มรับ "เทคฯขั้นสูง"

จับตาสมรภูมิ "คลื่นความถี่" ระอุ ค่ายมือถือทุ่มรับ "เทคฯขั้นสูง"

เปิดไทม์ไลน์ประมูลคลื่นความถี่ กสทช.รวบตึงดึงคลื่นออกประมูล 450 MHz รวมราคาเริ่มต้น มูลค่า 121,026 ล้านบาท ประชาพิจารณ์ไปแล้ว 2 รอบ ข้อถกเถียงหลักหนีไม่พ้น “ราคา” รวมถึงปมคลื่น 3500 กลุ่มทีวีดิจิทัลค้านหนักหวั่นกระทบผู้บริโภคจอดำ ‘กลุ่มนักวิชาการ’ หวั่นคลื่นกระจุกตัวแค่ 2 รายใหญ่ ท่ามกลางการไร้มาตรการส่งเสริมแข่งขันที่ชัดเจน ผู้บริโภคเสียประโยชน์

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เตรียมจัดประมูลคลื่นความถี่รอบใหม่จำนวน 6 ย่านความถี่ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความสำคัญต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย รวมถึงเป็นหมากสำคัญขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5G ไปอีกขั้นของผู้ประกอบการโทรคมนาคม

ไทม์ไลน์การจัดประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้ คาดว่าสำนักงาน กสทช.จะใช้ราคาประมูลตั้งต้นเดิมที่สำนักงาน กสทช.เสนอมา คือ การประมูลรวมทั้งสิ้น จำนวน 450 เมกะเฮิรตซ์ รวมราคาเริ่มต้นมีมูลค่า 121,026 ล้านบาท ประกอบด้วย คลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 2 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 2x5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 6,609 ล้านบาท คลื่น 1500 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 11 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 904 ล้านบาท คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 7 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 2x5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 6,219 ล้านบาท

และความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 12 ชุด ความถี่ ใบอนุญาตละ 2x5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 3,391 ล้านบาท ความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 3 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 497 ล้านบาท ความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 7 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 10 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 1,675 ล้านบาท ความถี่ 26 กิกะเฮิรตซ์ จำนวน 1 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 100 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท
 

ทั้งนี้ ความคืบหน้าล่าสุด สำนักงาน กสทช.เปิดรับฟังความเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) คลื่นไปแล้ว 2 ครั้ง เนื่องจากมีประเด็นเรื่องราคากลางที่ใช้เริ่มต้นประมูลรวมถึงการจะนำเอาคลื่น 3500 MHz เข้ามาประมูลด้วย

แต่ได้รับเสียงคัดค้านอย่างหนักจากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเพราะยังใช้คลื่นดังกล่าวอยู่จนถึงปี 2572 ที่จะสิ้นสุดอายุใบอนุญาต ดังนั้น สำนักงาน กสทช.จะสรุปผลจากประชาพิจารณ์เข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดกสทช.วันที่ 18 เม.ย.นี้ และจะกำหนดกรอบเวลาวันประมูลใหม่ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเป็นสิ้นเดือนพ.ค.นี้

เปิดข้อเสนอแนะนักวิชาการ

นายพรเทพ เบญญาอภิกุล ผู้อำนวยการโครงการเศรษฐศาสตรบัณฑิต หลักสูตรนานาชาติ และอาจารย์ประจำคณะคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า ส่วนตัวรู้สึกกังวลเนื่องจากคลื่นความถี่ที่ใช้ประมูลครั้งนี้มีจำนวนค่อนข้างมาก

และบางส่วนเปิดให้ยื่นประมูลล่วงหน้าทั้งที่คลื่นยังไม่ครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาเดิม เช่น 2100 MHz ซึ่งยังเหลืออายุอีก 3 ปี จึงน่ากังวลว่าคลื่นอาจกระจุกตัวอยู่กับผู้ให้บริการ 2 รายใหญ่ ทั้งที่ยังไม่มีมาตรการส่งเสริมการแข่งขันที่ชัดเจน

เขา เผยว่า นับตั้งแต่เกิดการควบรวมกิจการโทรคมนาคมราว 2 ปีก่อน ส่งให้ผลให้ผู้ประกอบการรายใหม่มีโอกาสเข้ามาร่วมการประมูลน้อยมาก ทำให้การแข่งขันประมูลน้อยลงไปตาม และไม่มีหลักประกันว่าผู้บริโภคจะได้รับบริการที่ดีจากผู้เข้าประมูล 2 ราย

แม้ในอดีต กสทช. มักจะลดราคาตั้งต้นให้ต่ำกว่าราคาประเมินเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้ามาร่วมการประมูล แต่ในครั้งนี้ชัดเจนว่ามีผู้เข้าร่วมน้อยมาก จึงควรกำหนดราคาตั้งต้นประมูลให้ใกล้เคียงกับราคาประเมินเพื่อไม่ให้ภาครัฐสูญเสียโอกาสในการจัดเก็บรายได้โดยไม่จำเป็น
 

ตลาดเหลือ 2 รายอำนาจสูง

นอกจากนี้ กสทช. ต้องยืนยันให้ได้ว่าในการประมูลครั้งนี้ แม้ว่าจะมีผู้ประกอบการรายใหญ่เพียง 2 ราย ในประมูลคลื่นมากถึง 6 ย่านความถี่ กสทช. จะสามารถรักษาผลประโยชน์และสร้างผลประโยชน์ให้กับผู้บริโภคได้ เช่น การจัดทำมาตรการด้านราคาที่ยืดหยุ่น หรือการออกแพ็คเกจที่ถูกลงสำหรับผู้มีรายได้น้อย

รวมไปถึงการบังคับใช้มาตรการกำกับดูแลการแข่งขันอย่างเข้มงวด ตามอำนาจที่ กสทช. มีอยู่เดิม ผ่านการตรวจสอบและกำหนดว่า ผู้ประกอบการรายใดกำลังเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ จากนั้นให้ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อกำกับและควบคุมไม่ให้ผู้มีอำนาจเหนือตลาดใช้อำนาจของตนไปในทางที่ไม่ชอบ

นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าวอีกว่า ภายหลังจากการประมูลคลื่นความถี่สิ้นสุดลง กสทช. ควรต้องมีมาตรการในการรองรับเพื่อเพิ่มทางเลือกที่หลากหลายให้แก่ผู้บริโภค เช่น มาตรการการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน หรือ MVNO ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ไม่มีคลื่นความถี่เป็นของตนเองสามารถให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้โดยไม่ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานหรือโครงข่ายโทรคมนาคม เช่น เสา หรือเครื่องอุปกรณ์โทรคมนาคม

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ MVNO จะต้องเข้าไปทำความตกลงกับผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่มีคลื่นความถี่และโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นของตนเองเพื่อขอใช้ airtime (Voice) และบริการข้อมููล (Data) เพื่อมาให้บริการแก่ผู้บริโภคในตลาดค้าปลีก ซึ่งผู้ประกอบการ MVNO ในประเทศไทยมีจำนวนน้อยมากจนแทบจะไม่มีเลย เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ

“ถึงแม้ว่าประเทศเราจะมีผู้ให้บริการรายใหญ่อยู่เพียงแค่ 2 ราย แต่ถ้าเราสามารถที่จะสร้างผู้ประกอบการรายเล็กอย่าง MVNO ที่ไม่ต้องมีเครือข่ายเป็นของตัวเอง ไม่ต้องลงทุนเยอะ แต่สามารถที่จะให้บริการหรือสร้างตลาดที่เป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ได้ขึ้นมา ก็อาจจะเป็นการสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภคได้ ทว่ามาตรการเหล่านี้ก็ยังไม่เห็นท่าทีการผลักดันที่ชัดเจนจาก กสทช”

สภาฯผู้บริโภคขอชะลอประมูล

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการนโยบายสัดส่วนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ ด้านการสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) กล่าวว่า สภาฯ ขอให้ชะลอการดำเนินการประมูลคลื่นความถี่ เพราะไม่มีหลักประกันที่ชัดเจนว่าประเทศและประชาชนในฐานะผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเปิดประมูล

อีกทั้ง ยังไม่มีแนวทางประมูลคลื่นความถี่ใหม่หลังมีข้อกังวลเรื่องการแข่งขันไม่เป็นธรรม เสี่ยงผูกขาด ฮั้วประมูล เนื่องจากปัจจุบันเหลือผู้ให้บริการหลักเพียง 2 ราย อาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค

ทั้งนี้ ควรมีประเด็นที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ อาทิ การกำหนดราคาขั้นต่ำ (Reserved Price) ที่ลดลง 30% มีความสมเหตสมผลหรือไม่ ในสถานการณ์ที่มีเอกชนรายใหญ่เพียง 2 ราย ราคาเช่นนี้เหมาะสมกับสภาพตลาดและการแข่งขันหรือไม่ ความเหมาะสมของสิทธิ หน้าที่ และ เงื่อนไขในการอนุญาต ก่อให้เกิด MVNO หรือไม่อย่างไร และในอนาคตของผู้บริโภคจะเป็นอย่างไร หากการประมูลแถบคลื่นความถี่สำเร็จแล้วและคลื่นความถี่ของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หมดสัญญา

ดังนั้น การประมูลแถบคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่คราวเดียว 6 ย่านความถี่ มีความจำเป็นหรือไม่ และการออกแบบเช่นนี้ จะส่งผลให้มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดได้จริงหรือ การเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่เพียง 2 ราย ควรมีการจำกัดการถือครองแถบคลื่นความถี่หรือไม่

และหากถือครองเกินกว่าครึ่งจะส่งผลต่อการแข่งขันอย่างไร และความพร้อมของ กสทช. ในการกำกับดูแลด้านกิจการโทรคมนาคมอยู่ตรงไหน ยังมีประเด็นการกำกับดูแลเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะ และการที่ภาคเอกชนสามารถเสนอให้ปรับลดเงื่อนไขได้ แล้วจะมีอะไรเป็นหลักประกันให้กับผู้บริโภค