ไทยติด ‘ท็อป 3’ อาเซียน ใช้ ‘AI’ ติดปีกธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

"ลาซาด้า" เปิดเทรนด์การใช้งานเทคโนโลยี AI ความท้าทาย และโอกาสต่างๆ ของผู้ขายออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
KEY
POINTS
- ผู้ขายออนไลน์ในภูมิภาคมีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี AI เป็นอย่
การศึกษาโดย “ลาซาด้า” ร่วมกับ “กันตาร์” เกี่ยวกับมุมมองและเทรนด์การใช้งานเทคโนโลยี AI รวมถึงความท้าทายและโอกาสต่างๆ ของผู้ขายออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่า
ผู้ขายกว่า 1 ใน 4 ทั่วภูมิภาคมีความเชี่ยวชาญในการใช้งาน AI ในธุรกิจ ขณะที่ 3 ใน 4 ต้องการการสนับสนุนในการใช้ AI ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
กล่าวได้ว่า ผู้ขายออนไลน์ในภูมิภาคมีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี AI เป็นอย่างมาก โดยในประเทศไทย ผู้ขาย 46% ระบุว่ารู้จักเทคโนโลยี AI และเชื่อว่าได้นำ AI มาใช้ใน 54% ของกระบวนการดำเนินธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม การนำไปใช้งานจริงมีเพียง 39% ของกระบวนการดำเนินธุรกิจเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงช่องว่างที่ชัดเจนระหว่างการรับรู้และการนำ AI ไปใช้จริง โดยประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีช่องว่างระหว่างการรับรู้และการนำ AI ไปใช้จริงสูงที่สุดในภูมิภาคอยู่ที่ราว 15%
กังวลเรื่อง ‘ต้นทุน - ค่าใช้จ่าย’
ลาซาด้าเผยว่า การประเมินความคุ้มค่าระหว่างประสิทธิภาพของ AI และต้นทุน ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ขายไทย
แม้ว่า 99% จะตระหนักถึงศักยภาพของ AI ในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ แต่กว่า 80% ยังคงไม่มั่นใจในประโยชน์ของ AI
พบด้วยว่าผู้ขายในไทยเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญเรื่องค่าใช้จ่ายมากที่สุดในภูมิภาค โดย 84% กังวลกับค่าใช้จ่ายในการพัฒนาทักษะของทีมงาน แม้ผู้ขายทุกรายจะเห็นว่าการใช้ AI ช่วยประหยัดต้นทุนของธุรกิจได้ในระยะยาว
นอกจากนี้ เกิดช่องว่างของการนำ AI มาประยุกต์ใช้จริง แม้ผู้ขายจะตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยี AI แต่กลับประสบปัญหาในการนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้ขายไทย 100% เล็งเห็นศักยภาพของ AI ในการยกระดับประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน ทว่าผู้ขายกว่า 88% ยอมรับว่าพนักงานยังคงเลือกใช้เครื่องมือที่คุ้นเคยมากกว่าการเปลี่ยนไปใช้โซลูชัน AI ใหม่ๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านจากระบบการทำงานแบบที่คุ้นเคย สู่การปรับมาใช้โซลูชัน AI ในการดำเนินธุรกิจ
ไทยรั้งอันดับ 3 ระดับภูมิภาค
หากมองถึง ระดับความพร้อมในการใช้ AI ที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นผู้นำในการประยุกต์ใช้ AI ในธุรกิจ ด้วยอัตราการใช้งาน 42% ของกระบวนการดำเนินธุรกิจทั้งหมด ตามด้วยสิงคโปร์และไทยที่มีอัตราการใช้งานอยู่ที่ 39%
สำหรับการนำ AI มาใช้ในการดำเนินธุรกิจหลักๆ มีอยู่ 5 ส่วน ได้แก่ การจัดการการดำเนินงานและโลจิสติกส์ การบริหารจัดการสินค้า การตลาดและการโฆษณา การบริการลูกค้า และการบริหารจัดการบุคลากร
โดยได้แบ่งผู้ขายออกเป็น 3 ประเภท คือ มือโปรด้าน AI (AI Adepts) มือใหม่ด้าน AI (AI Aspirants) และมือดั้งเดิม ไม่แตะ AI (AI Agnostics)
- มือโปรด้าน AI : ผู้ขายที่ประยุกต์ใช้ AI ในอย่างน้อย 80% ของกระบวนการดำเนินธุรกิจ และถือเป็นกลุ่มผู้นำของการใช้งาน AI โดยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้ขายเพียง 1 ใน 4 (24%) ที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้
- มือใหม่ด้าน AI : ผู้ขายที่นำ AI มาใช้ในการดำเนินธุรกิจบางส่วน แต่ยังคงพบกับความท้าทายในการใช้งานในส่วนที่สำคัญ โดย 50% ของผู้ขายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จัดอยู่ในกลุ่มนี้
- มือดั้งเดิม ไม่แตะ AI : ผู้ขายที่ยังไม่มีการนำ AI มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดย 26% ของผู้ขายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้
'ผู้ค้าไทย' ไม่เป็นรองใคร
เมื่อพิจารณาภาพรวมของภูมิภาค ผู้ขายส่วนใหญ่ (76%) จัดอยู่ในกลุ่มมือใหม่ด้าน AI และมือดั้งเดิม ไม่แตะ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความต้องการโซลูชันด้าน AI ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องมือที่ขับเคลื่อนด้วย AI (42%) และการสนับสนุนผู้ขายอย่างครบวงจรยิ่งขึ้น (41%)
ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยมีผู้ขายที่อยู่ในสัดส่วนของกลุ่มมือโปรด้าน AI มากที่สุดในภูมิภาค โดยมีผู้ขาย 30% ที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ เป็นผลจากความเชื่อมั่นและการยอมรับในเทคโนโลยีของผู้ประกอบการ และโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการใช้งาน AI ซึ่งช่วยให้กระตุ้นการใช้ AI อย่างเป็นรูปธรรม
โดยมีการนำ AI มาใช้สูงสุดในการจัดการดำเนินธุรกิจและงานด้านโลจิสติกส์ ด้วยอัตราการใช้งานสูงถึง 42% โดยเฉพาะในกระบวนการที่ซับซ้อน เช่น การคืนสินค้าและการคืนเงิน รวมถึงการติดตามสินค้า ซึ่งได้มีการนำระบบอัตโนมัติมาใช้แล้ว
ขณะที่การนำ AI มาใช้ในด้านการตลาดและการบริหารจัดการด้านสินค้ายังคงมีอัตราการใช้งานที่ต่ำกว่า (38%) ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ฟังก์ชันที่ช่วยวิเคราะห์การรีวิวจากลูกค้า และการใช้ AI เข้ามาช่วยสร้างสรรค์งานโฆษณา ถือเป็นด้านที่ผู้ขายต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติม
หนุนใช้ ‘AI’ พลิกโฉมธุรกิจ
เจมส์ ตง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า กรุ๊ป กล่าวว่า ได้เห็นถึงช่องว่างที่น่าสนใจในอีโคซิสเต็มของอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แม้ว่าผู้ขายส่วนใหญ่จะเข้าใจถึงศักยภาพของ AI ในการพลิกโฉมธุรกิจ แต่หลายคนก็ยังเพิ่งเริ่มต้นทำความเข้าใจเทคโนโลยีนี้ ก่อนที่จะเริ่มใช้งานจริง
ในฐานะแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลาซาด้า มุ่งมสนับสนุนให้ผู้ขายสามารถต่อยอดความรู้ด้าน AI ไปสู่การใช้งานจริง ผ่านการพัฒนาโซลูชัน AI ที่ตอบโจทย์ความท้าทายของผู้ขายในแต่ละตลาดที่กำลังเผชิญอยู่
เราหวังทำให้เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยไม่จำกัดอยู่เพียงผู้ขายรายใหญ่หรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางเทคนิคเท่านั้น ด้วยเป้าหมายในการขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน