นักวิจัย มน.ศึกษาดีเอ็นเอคนไทยโบราณ เคยร่วมทีมแพทย์โนเบลปี 65
กระทรวง อว.ให้ทุนนักวิจัยไทยที่ร่วมทีมกับ “ศ.สเวนเต้ พาโบ้” โนเบลการแพทย์ปี 65 ทำวิจัยเรื่อง “ดีเอ็นเอของคนไทยโบราณ” เตรียมนำเสนอผลการวิจัยในงานประชุมวิชาการนานาชาติ ที่ จ.เชียงใหม่ เดือน พ.ย.นี้
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และภาคีสมาชิกราชบัณฑิตสภา เปิดเผยว่า ขณะนี้ อว. โดยวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ "ธัชชา" ให้ทุนทำวิจัยเรื่องดีเอ็นเอของคนไทยโบราณกับ รศ.วิภู กุตะนันท์ นักวิจัยรุ่นใหม่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) และทีมนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาดีเอ็นเอ
งานวิจัยดังกล่าวคล้ายกับผลงานของ ศ.สเวนเต้ พาโบ้ นักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแมกซพลังค์ด้านมานุษยวิทยาวิวัฒนาการ (MPI-EVA) ประเทศเยอรมนี ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ (Physiology or Medicine) ปี 2565 จากผลงานการศึกษาเรื่องวิวัฒนาการของมนุษย์
ศ.สเวนเต้ พาโบ้ เป็นผู้บุกเบิกการศึกษาดีเอ็นเอของมนุษย์โบราณ ซึ่งถือเป็นการเปิดมิติใหม่ของการวิจัยทางโบราณคดี โดยการนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านพันธุกรรมหรือชีววิทยาระดับโมเลกุลมาประยุกต์ใช้ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ทำให้เข้าใจวิวัฒนาการของมนุษย์
โดยเป็นผู้บุกเบิกการแยกสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอจากกระดูกของมนุษย์โบราณที่สูญพันธุ์ไปแล้วซึ่งขุดพบในถ้ำ อายุหลายหมื่นปี ดีเอ็นเอที่สกัดออกมานั้นมีจำนวนน้อยและเสื่อมสภาพไปมากแล้ว แต่ก็ได้ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงมาแยกและวิเคราะห์รายละเอียดจนสำเร็จได้
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล
เกิดความรู้ใหม่ว่ามียีนบางส่วนจากมนุษย์โบราณนั้นได้ถ่ายทอดเข้ามาสู่มนุษย์ปัจจุบันด้วย
ข้อมูลและเทคนิคการศึกษานี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเกิดความตื่นตัวและนำไปเป็นต้นแบบในการศึกษาวิจัยต่อไปอีกอย่างกว้างขวาง เกิดความรู้ความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับวิวัฒนาการของมนุษย์
สำหรับ รศ.ดร.วิภู เคยร่วมทีมของ ศ.ดร.สเวนเต้ ระหว่างปี 2559-2562 ที่สถาบันวิจัยแมกซพลังค์ด้านมานุษยวิทยาวิวัฒนาการ ประเทศเยอรมนี ทำการศึกษาดีเอ็นเอโบราณจากตัวอย่างฟันที่ค้นพบในประเทศไทย
อีกทั้งได้ร่วมทำงานกับ ศ.ดร.สเวนเต้ เพิ่มเติมอีกเมื่อกลับมาประเทศไทยแล้ว การให้ทุนของธัชชาครั้งนี้จึงถือการเป็นบูรณาการด้านศาสตร์และศิลป์ไปคู่กัน
ด้าน รศ.ดร.วิภู กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังก้าวกระโดดในการศึกษาวิจัยทางโบราณคดีอย่างลึกซึ้งโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาทำงานร่วมกับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ โดยการริเริ่มของ "ธัชชา" โดยขณะนี้มีการศึกษาดีเอ็นเอโบราณหลายโครงการ
หนึ่งในนั้นเป็นความร่วมมือระหว่างนักวิจัยไทย โดย รศ.ดร.วิภู กุตะนันท์ และ ศ.รัศมี ชูทรงเดช ร่วมกับนักวิจัยจาก MPI-EVA ศึกษาดีเอ็นเอของมนุษย์โบราณที่พบที่ จ.แม่ฮ่องสอน ได้ข้อมูลใหม่ที่น่าสนใจมาก โดยจะนำเสนอผลการวิจัยในงานประชุมวิชาการนานาชาติของสมาคม Indo-Pacific Prehistory Association (IPPA) ที่ จ.เชียงใหม่ ในเดือน พ.ย.นี้
นอกจากนี้ รศ.วิภูและทีมของ รศ.จตุพล คำปวนสาย และ ผศ.เมธวี ศรีคำมูล กำลังศึกษาดีเอ็นเอของมนุษย์ในประเทศไทยเพิ่มเติม ทั้งดีเอ็นเอมนุษย์โบราณและดีเอ็นเอของมนุษย์ในปัจจุบัน ขยายการวิจัยในภาพใหญ่ขึ้นอีกให้เข้าใจวิวัฒนาการของมนุษย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยการสนับสนุนจากสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา ธัชชา ภายใต้ อว.
จึงเห็นชัดเจนว่าประเทศไทยมีความพร้อม และกำลังเป็นผู้นำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับดีเอ็นเอโบราณและวิวัฒนาการของมนุษย์ได้ในระดับภูมิภาคได้.