‘นวัตกรรม’ วาระแห่งชาติ | พันธุ์อาจ ชัยรัตน์
ตั้งแต่ปี 2549 หรือกว่า 16 ปีมาแล้ว คณะรัฐมนตรีมีมติเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็น “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” และกำหนดให้วันที่ 5 ต.ค.ของทุกปี เป็น “วันนวัตกรรมแห่งชาติ”
อันเนื่องจากเป็นวันที่พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ และได้พระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับ “โครงการแกล้งดิน”
“วันนวัตกรรมแห่งชาติ” ของทุกปี สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA จะมอบ “รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ” ที่ถือเป็นรางวัลทรงเกียรติสูงสุดในแวดวงนวัตกรรมของประเทศ และสร้างให้เกิดภาพลักษณ์สู่การเป็น “ประเทศแห่งนวัตกรรม” ผ่านการสื่อสารให้เกิดการรับรู้ผลงานนวัตกรรมของประเทศไทยในวงกว้าง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ผมขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลในปีนี้ทุกท่านด้วยครับ ท่านคือ “นวัตกรของไทย” ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนา “ประเทศไทยให้เป็นชาตินวัตกรรม”
การบริหารจัดการ “ระบบนวัตกรรม” ของไทยเริ่มต้นมากว่า 2 ทศวรรษแล้ว ผ่านร้อนผ่านหนาว “วิ่งไล่กวด” เงาของ “ผู้นำทางนวัตกรรมระดับโลก” มาโดยตลอด หากจำกันได้ประเทศไทยเริ่มต้นการพัฒนาเศรษฐกิจโดยการดึงดูดการลงทุนตรงจากต่างประเทศ โดยอาศัยปัจจัย “ค่าแรงราคาถูก ทรัพยากรธรรมชาติ และแคมเปญดึงดูดการลงทุน” มาก่อนหน้า
จนปัจจุบันเราอยู่ในสถานภาพที่ “ค่าแรงราคาไม่ถูกอีกต่อไป ทรัพยากรธรรมชาติหดหาย และเศรษฐกิจอุบัติใหม่ หลายประเทศที่ไล่กวดตามมาเริ่มมีแรงดึงดูดการลงทุนมากกว่า”
ภาพการเปลี่ยนแปลงข้างต้น อาจจะบดบังวิวัฒนาการทางระบบนวัตกรรมของไทยไปมาก ไม่น่าแปลกใจหรอกครับ เพราะประเทศไทยกำลังต่อสู้กับ “กับดักรายได้ปานกลาง” พร้อมกับหลายประเทศที่มีพัฒนาการใกล้เคียงกันกับเรา วันนี้จึงถือเป็นโอกาสดีในการนำเอาพัฒนาการที่น่าสนใจของประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มาแบ่งปัน
ผลการจัดอันดับ “ดัชนีนวัตกรรมโลก” หรือ GII ปี 2565 ที่เพิ่งประกาศไปในช่วงปลายเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา บ่งชี้พัฒนาที่น่าสนใจ 4 ประการ
1) ผลลัพธ์ทางนวัตกรรมมีค่าสูงกว่าต้นทุนที่ใส่เข้าไปในระบบนวัตกรรมของไทย นั่นก็คือ “ผลประกอบการทางนวัตกรรม” ออกมาดี อธิบายได้ง่ายว่า “ทำน้อยได้กลับมาก” นั่นแสดงว่าแนวทางและนวัตกรรมโมเดลธุรกิจของภาคเอกชนไทยสามารถสร้างนวัตกรรมที่ขายได้ โดยสะท้อนออกมาถึงอันดับของตลาดทุนไทยที่ติด Top 10 และ Top 20
2) หากเทียบกับประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูงด้วยกัน เรามีผลงานทางนวัตกรรมที่เหนือค่าเฉลี่ยในกลุ่มนี้ โดยเฉพาะผลงานของ “บริษัทขนาดใหญ่ที่ได้เริ่มการลงทุนวิจัยและนวัตกรรม” ทำให้อัตราส่วนการลงทุนทางนวัตกรรมระหว่างภาคเอกชนและรัฐ อยู่ในอันดับ 1 ของโลกติดต่อกันมาเป็นปีที่สาม และประเทศไทยก็ได้ครองอันดับ 1 ของโลก ในการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์เป็นปีแรก
ส่วนอันดับเงินลงทุนสำหรับสตาร์ตอัปและบริษัทที่กำลังขยายกิจการเราได้อันดับที่ 14 ของโลก รวมทั้งหลายตัวชี้วัดบ่งชี้ว่าการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงของไทยอยู่ในอันดับ Top10 ของโลก โดยมีอันดับสูงมากในกลุ่มเอกชนที่มีการสร้างและใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม
3) “กรุงเทพมหานคร” ถูกจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในเมืองคลัสเตอร์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโลก โดยเป็นเมืองชั้นนำในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เริ่มการพัฒนา “ย่านนวัตกรรม” ในเขตกรุงเทพฯ มากว่า 5 ปีแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นย่านนวัตกรรมไซเบอร์เทค (ปุณณวิถี) ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ) และย่านนวัตกรรมอุตสาหกรรมกล้วยน้ำไท (คลองเตย) ย่านนวัตกรรมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สามย่าน) และน้องใหม่ “ย่านนวัตกรรมอารีย์” (อารีย์) ที่เน้นปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และความจริงเสมือน
4) ถือเป็นความท้าทายอย่างใหญ่หลวง ประเทศไทยครองอันดับระหว่าง 43 ถึง 44 มาเป็นปีที่ห้า เราอาจมองได้ว่าพัฒนาการในภาคเอกชนดีขึ้นมาก โดยเฉพาะความสามารถทางนวัตกรรมของวิสาหกิจไทย แต่เรายังขาดการปรับระบบนวัตกรรมให้พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วและไม่แน่นอน
ไม่ว่าจะเป็น “กฎหมายและกฎระเบียบทางนวัตกรรม” “การกระจายโอกาสทางนวัตกรรมสู่ระดับภูมิภาค” “นวัตกรรมในการเงินและการลงทุนทางนวัตกรรมในกลุ่มสตาร์ตอัปและบรรษัทขนาดใหญ่”
“การให้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เป็น Accelerator ของการเติบโตทางนวัตกรรม” และ “การปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนและสงครามเทคโนโลยี” ภาพเหล่านี้บ่งชี้ว่าเรากำลังเผชิญกับกับดักนวัตกรรมรายได้ปานกลางอีกกับดักหนึ่ง
เมื่อย้อนกลับไปดู 2 ระบบนวัตกรรมที่กำลังร้อนแรงมากในปีนี้ คือ “ตุรเคีย” และ “อินเดีย” ที่ประสบความสำเร็จในการยกระดับประเทศสู่ “ชาตินวัตกรรม” อันดับ 4 ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง (ประเทศไทยอยู่อันดับ 5) และอันดับหนึ่งในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ (แทนที่เวียดนาม)
โดยภายใน 3 ปี “ตุรเคีย” กระโดดจากอันดับ 51 สู่ 37 หรือกว่า 14 อันดับ ส่วน “อินเดีย” ก็ก้าวกระโดดเช่นกัน จากอันดับ 48 สู่ 40 ทั้งสองประเทศมีแนวนโยบายด้านนวัตกรรมอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีชัดเจน ซึ่งเราควรจะนำมาศึกษาและปรับใช้เป็นอย่างยิ่ง
ผมเชื่อว่าเราไปได้ไกลกว่าปัจจุบันหากทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจกันผลักดันให้ “นวัตกรรม” เป็นวาระแห่งชาติ วาระของทุกภาคส่วนและวางเป้าหมายร่วมกันสู่การเป็น “ชาตินวัตกรรม Top 30” ในปี 2573.