‘CircularOne’ ตู้รับคืนขวดแก้ว-พลาสติกให้กลายเป็นเงิน ลดปัญหาขยะ
ซัสเทนเทค-เทนเซ็นต์ พัฒนา “เซอร์คูล่าร์วัน (CircularOne)” ตู้รับคืนขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋อง ให้กลายเป็นเงิน แก้ไขปัญหาขยะอย่างยั่งยืน คาดวางขายทั้งในและต่างประเทศในปี 2566
เรื่องที่กำลังเป็นประเด็นเร่งด่วนคือ “ปัญหาขยะ” ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกมีการปล่อยขยะพลาสติกมากถึง 242 ล้านตัน และไทยอยู่อันดับ 12 ยิ่งบริการ Food Delivery และ Online Shopping เพิ่มขึ้น ขยะพลาสติกในไทยก็ยิ่งสูงขึ้น
ไทยพยายามลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียว เปลี่ยนไปใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายในปี พ.ศ.2565 และตั้งเป้าขยะพลาสติก 7 ชนิดนำกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ 100% ภายในปี พ.ศ.2570 ขณะที่การประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติได้จัดตั้งคณะกรรมการจัดทำร่างกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อควบคุมขยะพลาสติก ซึ่งจะจัดทำร่างให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ.2567
นั่นหมายความว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติกจะต้องเจอกับมาตรการและกฎระเบียบเพื่อควบคุมการผลิตและผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต้องมีหลักการจัดการพลาสติกตลอด Life Cycle ตั้งแต่การออกแบบ ผลิต การใช้งานและการจัดการหลังการใช้งานเสร็จแล้ว
สตาร์ตอัปอย่างซัสเทนเทค (SUSTAINTECH) และบริษัท เทนเซ็นต์ จํากัด เล็งเห็นความสำคัญนี้จึงร่วมมือกันนำเทคโนโลยีคลาวด์ และ AI มาใช้ตรวจสอบคุณภาพวัสดุ คัดแยกประเภทบรรจุภัณฑ์ พัฒนานวัตกรรมคืนขวด “เซอร์คูล่าร์วัน (CircularOne)” ตู้ที่เปิดให้ประชาชนนำขวดชนิดต่าง ๆ เช่น ขวดพลาสติก ขวดแก้ว รวมถึงกระป๋องอะลูมิเนียมจากการใช้แล้วมาหยอดในตู้เพื่อนำไปรีไซเคิล โดยมีจุดเด่นคือ ขวดที่นำมาหยอดตู้สามารถแลกเป็นเงินคืนให้กับผู้หยอดได้
- นวัตกรรมรับผิดชอบต่อโลก ‘ตู้รับคืนขวด’
จิราวัฒน์ ตั้งกิจชัยวัฒน์ ประธานบริหารซัสเทนเทค กล่าวถึงข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษในปีที่ผ่านมาพบว่า ปริมาณขยะมูลฝอยรวมถึงขยะบรรจุภัณฑ์ยังคงมีปริมาณสูงเกือบ 25 ล้านตัน ซึ่งเป็นตัวการสำคัญต่อประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อม
โดยเฉพาะในส่วนของประเภทบรรจุภัณฑ์พบว่า กลุ่มที่บรรจุเครื่องดื่มยังคงมีปริมาณการผลิตที่เพิ่มมากขึ้นแต่กลับไม่ได้รับการหาทางออกหรือมีนวัตกรรมที่ช่วยรักษาระบบนิเวศได้ดีเท่าที่ควร
จึงได้คิดค้น “เซอร์คูล่าร์วัน : CircularOne” นวัตกรรมรับคืนบรรจุภัณฑ์เพื่อนำไปรียูสและรีไซเคิลแบบอัตโนมัติ หรือ Reverse Vending Machine รุ่นแรกของประเทศไทย ซึ่งมีความสามารถรับคืนขวดพลาสติกใส กระป๋องอลูมิเนียม ขวดแก้ว และไปจัดเก็บ คัดแยกประเภท ไว้ในสภาพสมบูรณ์
กลไกการทำงานของ CircularOne หรือตู้หยอดรับทรัพย์จะเป็นแพลตฟอร์มที่สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างผู้ผลิต ผู้ใช้ ผู้รับซื้อ และผู้รีไซเคิลด้วยการเป็นจุดรับคืนขวด ส่งต่อสู่กระบวนการใช้ซ้ำโดยที่ไม่ทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งได้จับมือกับบริษัทเทคโนโลยีอย่าง เทนเซ็นต์ : Tencent เพื่อนำระบบ Tencent Cloud มาใช้จัดเก็บข้อมูลอย่างปลอดภัยและ AI เพื่อตรวจสอบคุณภาพและคัดแยกประเภทของบรรจุภัณฑ์โดยละเอียดและแม่นยำ
ซึ่งโซลูชันดังกล่าวไม่เพียงแต่แยกประเภทบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว แต่ยังช่วยตรวจจับความผิดปกติของบรรจุภัณฑ์ประเภทขวดแก้ว ซึ่งถือเป็นประเภทบรรจุภัณฑ์ที่มีโอกาสนำกลับมาเข้าสู่ระบบการผลิตใหม่ได้ เช่น ในกรณีที่มีขวดมีรอยแตก หรืออยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ ระบบจะทำการแจ้งเตือน และตีกลับทันที
เทคโนโลยีนี้จะช่วยลดขั้นตอน และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการคัดแยกขวดบรรจุภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น และตอบโจทย์เรื่องการส่งขวดไปรียูสที่โรงงาน สามารถช่วยลดขั้นตอนการผลิตของโรงงานได้อีกด้วย
- มองภาพรวมอย่างยั่งยืนด้วยการ ‘คืนกำไร’
การแก้ไขปัญหาขยะให้เกิดความยั่งยืนได้นั้น จิราวัฒน์อาศัยการสร้างให้เกิดแรงจูงใจจนเกิดเป็นความร่วมมือในทุก ๆ ฝ่าย มองภาพรวมตั้งแต่ผู้ผลิตตู้ ผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์ของตู้ไปวางไว้ตามจุดต่าง ๆ และผู้ที่นำขวดมารีไซเคิล รวมถึงพี่ ๆ ซาเล้งหรือผู้ที่รับคัดแยกขวดไปขายเอง ทำให้พวกเขาเกิดรายได้จากการแยกขยะตรงนี้
กล่าวคือ CircularOne สามารถคืนกำไรให้กับผู้ที่ร่วมนำบรรจุภัณฑ์มาคืน ณ จุดให้บริการต่าง ๆ ซึ่งเมื่อหยอดขวด-บรรจุภัณฑ์ใส่ในตู้ดังกล่าว จะสามารถเลือกรับเป็นเงิน หรือรับคะแนนสะสมเพื่อไปแลกรับส่วนลดจากร้านค้า หรืออื่น ๆ ผ่านการแสกนคิวอาร์โค้ดง่าย ๆ ทำให้บริการของ CircularOne เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทุก ๆ คน ในทุก ๆ วันได้
“ปกติแล้วเราจะหยอดเหรียญผ่านตู้ Vending Machine เพื่อแลกเป็นสิ่งของต่าง ๆ เช่น เครื่องดื่ม หน้ากากอนามัย แต่พอเป็น Reverse Vending Machine แล้วมันกลับกันคือ เราใส่ขวดเข้าไป และเราได้รับเป็นเงินหรือคะแนนสะสมเป็นสิ่งตอบแทน นวัตกรรมนี้ทุกคนจะต้อง win-win ไปด้วยกัน”
ซึ่งตู้ CircularOne จะสามารถจำหน่ายได้จริงและส่งออกทั้งใน-ต่างประเทศภายในต้นปี 2566 แบ่งเป็นในประเทศไทย ราว 300 เครื่อง และในต่างประเทศจะเริ่มที่ประเทศเขตอาเซียนก่อนเป็นลำดับแรก ส่วนราคาของตู้ที่ทางทีมผู้บริหารวางไว้จะอยู่ประมาณ 2-3 แสนบาท
โดยขณะนี้มีผู้ที่สนใจติดต่อเข้ามาอย่างเช่น แบรนด์ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม องค์กรอสังหาริมทรัพย์ คอนโด หมู่บ้านจัดสรร โรงพยาบาล สถานศึกษา โรงแรม ตลอดจนห้างสรรพสินค้าก็สามารถใช้บริการของเครื่องนี้ได้ทั้งหมด
“ในช่วงแรกเราอาจจะยังไม่ได้โฟกัสตัวกำไรเยอะ แต่เรามีความคาดหวังอยากจะให้ตู้ CircularOne เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคได้ อยากเดิน ๆ ไปแล้วเจอคนมาใช้บริการรับคืนขวดกันถ้วนหน้า เพราะตอนนี้ทุกพื้นที่ต้องการการกำจัดขยะอย่างเร่งด่วน”