นวัตกรรมไทย “เปลี่ยนอากาศเป็นน้ำ” กู้ภัยแล้ง-ลดใช้ขวดพลาสติก
บริษัท การันตี เอ็นจีเนียริ่ง พัฒนา “เครื่องผลิตน้ำจากอากาศ” โซลูชันช่วยคนไทยให้มีน้ำดื่มสะอาด ลดการใช้ขวดพลาสติด ไม่ง้อเทคฯ จากต่างประเทศ
น้ำเป็นพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด ในชั้นบรรยากาศก็ยังมีน้ำบริสุทธิ์ที่ล่องลอยรอการรวมตัวกันเป็นเมฆฝน ขณะเดียวกันบางประเทศในโลกก็พบกับปัญหาขาดแคลนน้ำ เนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้ง ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างยาวนาน พื้นที่บนเกาะติดทะเลไม่มีน้ำดื่ม-น้ำใช้ที่สะอาดทำให้ชาวบ้านละแวกนั้นเกิดโรคนิ่วจากน้ำกร่อย
ทางด้าน ปวิน เอมสิริ ประธานบริหารบริษัท การันตี เอ็นจีเนียริ่ง จำกัด มองเห็นว่าประเทศไทยมีการนำเข้าเครื่องกรองน้ำและเทคโนโลยีผลิตน้ำจากต่างประเทศ ซึ่งใช้ต้นทุนการนำเข้าและมีค่าลิขสิทธิ์ที่สูง ทำให้คนไทยบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดในราคาที่จับต้องได้
จึงคิดค้น “เครื่องผลิตน้ำจากอากาศ” สัญชาติไทย ให้มีความเหมาะสมกับสภาพอากาศประเทศไทย สามารถผลิตได้ทั้งน้ำร้อน น้ำเย็น น้ำอุณหภูมิห้องที่ได้รับมาตรฐานจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ได้แนวคิดมาจาก NASA
- นวัตกรรมเปลี่ยนอากาศให้เป็นน้ำดื่ม
ปวิน กล่าวว่า น้ำอาจจะเป็นพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด แต่น้ำสะอาดที่สามารถนำไปดื่มได้นั้นยังคงไม่เพียงพอกับความต้องการ การเห็นประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศที่มีสภาพอากาศแห้งแล้ง เช่น อินเดีย อิสราเอล หรือประเทศที่มีทะเลทราย มีการขนส่งที่ลำบากก็ยังสามารถผลิตน้ำมาใช้ดื่ม ใช้ทำการเกษตร หรือใช้ภายในประเทศได้ ซึ่งเชื่อว่าประเทศไทยก็สามารถทำได้เหมือนเช่นเดียวกัน
โซลูชัน “เครื่องผลิตน้ำจากอากาศ แบบระบบติดตาม” จึงเข้ามาตอบโจทย์ เพราะมีความสะดวกในการใช้งาน ไม่ต้องอาศัยการเติมน้ำเข้าเครื่องเหมือนเครื่องกรองน้ำทั่วไป เพียงแค่เชื่อมต่อเข้ากับแหล่งพลังงานไฟฟ้า เครื่องก็จะใช้เทคโนโลยี “ผลิตน้ำหยดแรกจากโมเลกุลอากาศ (Air Moisture Extraction System)” น้ำดื่มจากชั้นบรรยากาศจึงมีคุณสมบัติใส-บริสุทธิ์
ทางบริษัทมีความเชี่ยวชาญด้านสิ่งประดิษฐ์เป็นทุนเดิม โดยก่อนหน้านี้ได้ผลิตเครื่องทำน้ำเย็น เครื่องอบแห้ง เครื่องสกัด ฯลฯ ให้กับทางโรงแรมและชุมชนต่าง ๆ ในครั้งนี้จึงได้ผลิตเทคโนโลยีเพิ่ม
โดยหลักการทำงานของเครื่องผลิตน้ำจากอากาศแบ่งเป็น 3 ระบบ ดังนี้
- ระบบผลิตน้ำ จะนำพัดลมเป่าอากาศเข้าไปใช้ เพื่อดึงน้ำที่อยู่ภายในอากาศให้เข้าไปเก็บในแทงค์เก็บน้ำ โดยจะมีฟิลเตอร์ป้องกันไม่ให้ฝุ่นละอองปนกับน้ำ ซึ่งเป็นการป้องกันขั้นแรกเริ่ม
- ระบบบำบัดน้ำ ประกอบด้วย การกรองน้ำทั้งหมด 5 ชั้น ตามหลักมาตรฐานจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แก่ คาร์บอนฟิลเตอร์, เซรามิกฟิลเตอร์, UV และ REVERSE OSMOSIS (OR) เพื่อทำให้ได้น้ำสะอาดพร้อมดื่ม
- ระบบปรับอุณหภูมิน้ำ คือ การนำไปทำความร้อนเพื่อให้กลายเป็นน้ำร้อน และการนำไปทำให้กลายเป็นน้ำเย็น และยังสามารถใช้อุณหภูมิปกติได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ทางบริษัทก็มีขนาดของตัวเครื่องให้เลือกที่หลากหลาย โดยได้จดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ และอยู่ในช่วงของการพัฒนาเพิ่มเติม ซึ่งตัวเครื่องที่เปิดขายในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ประเภท
- ขนาดใช้งานในบริษัทและชุมชน สามารถผลิตน้ำได้ 150 ลิตรต่อวัน ราคาจะอยู่ราว 1.6 แสนบาท
- ขนาดใช้ในครัวเรือนจะผลิตได้ 20 ลิตรต่อวัน ราคา 2 หมื่นบาท
การพัฒนาเพิ่มเติม คือ การทำให้ต้นทุนการผลิตน้ำต่อยูนิตนั้นถูกลง ซึ่งถ้าทำให้ต้นทุนถูกลงได้ก็สามารถนำไปใช้ในครัวเรือน เพื่อให้คนไทยสามารถดื่มน้ำที่มีคุณภาพ อยู่ในราคาที่เหมาะสม
นอกจากนี้ การใช้เครื่องผลิตน้ำจากอากาศก็สามารถทำให้ลดการใช้พลาสติกจากขวดน้ำ เราไม่ต้องซื้อน้ำแพ็คเพื่อนำขวดเปล่าไปรีไซเคิ้ล แต่ลดการใช้ขวดพลาสติก ตอบโจทย์ขยะเป็นศูนย์ และยังช่วยลดต้นทุนการผลิตน้ำดื่ม 1 ลิตรอยู่ระหว่าง 0.37-2.58 บาท เทคโนโลยี้นี้จึงเป็นทางเลือกทดแทนน้ำดื่มบรรจุขวด ซึ่งมีราคาแพงกว่ามาก
- เทคโนโลยีโดยคนไทยเพื่อคนไทย
เครื่องผลิตน้ำจากอากาศได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากงาน “เทคโนโลยียอดเยี่ยมด้านเครื่องจักรกลและอุปกรณ์” ประจำปี 2565 ที่จัดโดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ สมาคมเครื่องจักรกลไทย มีวัตถุประสงค์สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมพัฒนาเทคโนโลยี ให้เกิดประโยชน์ มีความทันสมัยและเป็นสากลมากยิ่งขึ้น
ทางด้านปวิน กล่าวว่า การเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้ได้รับการสนับสนุนจากทางกระทรวงอว.และทางสมาคมเครื่องจักรกลไทย ให้เทคโนโลยีของผู้ประกอบการไทย ทั้งรายย่อยและรายเล็กได้มีพื้นที่ในการนำเสนอนวัตกรรมของตนเอง และยังเป็นพื้นที่ในการหาแหล่งทุน โอกาส พาร์ทเนอร์ ประสบการณ์ต่าง ๆ เพื่อนำมาต่อยอดผลงานของตนเองให้ดียิ่งขึ้นไปอีกได้
“สิ่งที่เป็นจุดแข็งคือ เทคโนโลยีที่นำมาใช้จะต้องปรับให้เหมาะสมกับสภาพอากาศของประเทศไทย ซึ่งถ้าหากคนไทยในประเทศสามารถผลิตเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับผู้บริโภคก็สามารถลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศได้”