ชวนดู ดาวอังคารใกล้โลก พร้อมกันในงาน “ชมดาว รับลมหนาว” เริ่ม 5 พ.ย. นี้
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ จัด “เทศกาลชมดาว รับลมหนาว 2565-2566” ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จ.เชียงใหม่ และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสงขลา พร้อมเปิดโผ 10 กิจกรรมดาราศาสตร์ที่น่าสนใจตลอดช่วงฤดูหนาวนี้ เริ่ม 5 พ.ย. นี้
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน–มีนาคม เป็นช่วงที่เหมาะแก่การดูดาวเป็นอย่างยิ่งในเขตภาคเหนือ
เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ท้องฟ้ามีทัศนวิสัยดี ไม่มีเมฆฝนบดบัง จึงถึงเวลาเปิดฤดูกาลชมดาวทุกคืนวันเสาร์อีกครั้ง ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ สำหรับหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสงขลา เปิดให้บริการตามปกติเช่นเดิม เพิ่มเติมคือ
พาเหรด 10 กิจกรรมดาราศาสตร์สุดพิเศษตลอดฤดูหนาว ดังนี้
1) เปิดเทศกาลชมดาว...รับลมหนาว 2565 - 2566 วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2565 เวลา 18:00-22:00 น. กิจกรรมแรกของการดูดาวหนาวนี้ ร่วมเรียนรู้การดูดาวเบื้องต้น ดูดาวด้วยตาเปล่าและส่องวัตถุท้องฟ้าแบบเต็มตาผ่านกล้องโทรทรรศน์ ท่ามกลางบรรยากาศลมหนาวเคล้าเสียงดนตรี ลงทะเบียนร่วมงานออนไลน์ล่วงหน้าที่นี่ รับ “แผนที่ดาว” (จำนวนจำกัด) บริเวณจุดลงทะเบียนภายในงาน
2) จันทรุปราคาเต็มดวงคืนวันลอยกระทง วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 2565 เวลา 18:00-22:00 น. ชวน แต่งกายชุดไทย ชมดวงจันทร์เต็มดวงสีแดงอิฐลอยขึ้นเหนือขอบฟ้าช่วงค่ำ ร่วมลอยกระทงดวงดาว ณ บ่อน้ำใต้เงาจันทร์ ฟัง Special Talk เรื่องเล่าจันทรุปราคา และกิจกรรมอื่น ๆ มากมาย
3) ดาวอังคารใกล้โลก วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม 2565 เวลา 18:00-22:00 น. ชวนส่องกล้องชมดาวอังคารในคืนใกล้โลกที่สุด และ Special Talk เรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับดาวอังคาร
4) โต้ลมห่มหนาว นอนนับฝนดาวตกเจมินิดส์ คืนวันพุธที่ 14 ธันวาคม 2565 เวลา 18:00-22:00 น. ณ อ่างเก็บน้ำห้วยลาน อ. สันกำแพง จ. เชียงใหม่ หนึ่งในเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสงขลา ตั้งแต่เวลา 18:00-23:00 น. (เริ่มชมปรากฏการณ์ได้เวลา 20:00 น. เป็นต้นไป) อัตราการตกประมาณ 150 ดวง/ชั่วโมง
5) Night at the Museum : เปิดนิทรรศการ ท้องฟ้าจำลองรอบพิเศษยามค่ำคืน และกิจกรรมดูดาว วันที่ 23-25 ธันวาคม 2565 สัมผัสประสบการณ์เรียนรู้ดาราศาสตร์ในช่วงกลางคืน พร้อมธีมแต่งตัวสนุก ๆ
- 23 ธันวาคม 2565 18:00-22:00 น. แต่งกายร่วมงานธีม Sleeping Beauty (ชุดนอน)
- 24 ธันวาคม 2565 18:00-22:00 น. แต่งกายร่วมงานธีม Merry Christmas (ชุดฉลองคริสต์มาส)
- 25 ธันวาคม 2565 18:00-20:00 น. (ไม่มีกิจกรรมดูดาว)
6) NARIT Public Night Countdown 2023 วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม 2565 เวลา 18:00-24:00 น. ร่วมเคาท์ดาวน์นับถอยหลังเริ่มศักราชใหม่ พร้อมกับดูดาวข้ามปีไปด้วยกันกับ NARIT
7) NARIT AstroFest 2023 และวันเด็กแห่งชาติ วันเสาร์ที่ 14 มกราคม 2566 เวลา 09:00-22:00 น. จัดเต็มหลากหลายกิจกรรมดาราศาสตร์ และกิจกรรมพิเศษหนึ่งปีมีเพียงครั้งเดียวกับการเปิดบ้านอุทยานดาราศาสตร์ สิรินธร
เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีดาราศาสตร์ขั้นสูง สัมผัสการทำงานวิจัยของนักดาราศาสตร์สาขาต่าง ๆ พร้อมลุ้นรับของที่ระลึกสุดพิเศษ และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์มากมายภายในงาน ส่วนภูมิภาคพบกันได้ที่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสงขลา
8) TNO Open House : เปิดบ้านหอดูดาวแห่งชาติ ชวนประชาชนร่วมสัมผัสเทคโนโลยีกล้องโทรทรรศน์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และชมดาวเคราะห์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา
หรือหอดูดาวแห่งชาติ บนอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ. เชียงใหม่ พร้อมเยี่ยมชมห้องทำงานของนักดาราศาสตร์ จัด 2 ครั้ง/ ปี ครั้งที่ 1 วันเสาร์ที่ 21 มกราคม 2566 และครั้งที่ 2 วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 ติดตามการรับสมัครออนไลน์ทาง https://www.facebook.com/NARITPage
9) ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ วันศุกร์ที่ 24 มีนาคม 2566 เวลา 18:00-22:00 น. ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสงขลา
10) NARIT Public Night : ดูดาว...ทุกคืนวันเสาร์ กิจกรรมดูดาวสำหรับประชาชน ชมวัตถุท้องฟ้าผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาด 0.7 เมตร และกล้องโทรทรรศน์หลากหลายรูปแบบ พร้อมแนะนำวิธีการดูดาวเบื้องต้น ทุกคืน วันเสาร์ เวลา 18:00-22:00 น. ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย
สำหรับปีนี้ เปิดตัวแคมเปญ “NARIT Point” เพียงเข้าร่วมกิจกรรม NARIT Public Night ดูดาวทุกคืนวันเสาร์ รวมถึงกิจกรรมพิเศษอื่น ๆ สามารถสะสมแต้มออนไลน์ แลกรับของที่ระลึก Limited Edition (ของที่ระลึกขึ้นอยู่กับจุดแลกรับแต่ละแห่ง)
ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ