พาทัวร์ "LaunchPad" สิงคโปร์ จุดเริ่มต้นอนาคต "สตาร์ทอัพ"
เป็นที่ทราบกันดีว่า “สิงคโปร์” นอกจากเป็นหนึ่งในฮับการเงินแห่งสำคัญที่สุดของโลกแล้ว ยังมักถูกเรียกว่า “ซิลิคอนวัลเลย์แห่งเอเชีย” ด้วยวิสัยทัศน์ด้านเทคโนโลยีของภาครัฐ และความสำเร็จจากการปั้นสตาร์ทอัพนับพันราย ภายใต้โครงการ “LaunchPad” ที่ดำเนินมา 7 ปีแล้ว
เมื่อไม่นานนี้ มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมเบื้องหลังโครงการสนับสนุนสตาร์ทอัพและนวัตกรรมของสิงคโปร์ ซึ่งหัวใจสำคัญที่ทำให้ประเทศเล็ก ๆ อย่างสิงคโปร์เติบโตด้านการสร้างสตาร์ทอัพอย่างก้าวกระโดดคือ โครงการนำร่องของรัฐบาลที่เรียกว่า “LaunchPad”
โครงการนี้พัฒนาโดย JTC Corporation หน่วยงานรัฐบาลที่ดูแลการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในภาคอุตสาหกรรมและเป็นส่วนหนึ่งในโครงการผลักดันสตาร์ทอัพ “Startup SG” โดย Enterprise Singapore หน่วยงานรัฐบาลด้านการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ
สำหรับ LaunchPad ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2558 ถือเป็นศูนย์กลางปั้นสตาร์ทอัพในฝันของบรรดาผู้ประกอบการก็ว่าได้ เพราะเปิดให้เช่าพื้นที่สำหรับตั้งสำนักงานไม่ห่างจากที่ตั้งของเหล่าบริษัทชื่อดัง รวมถึง P&G, Abbot, Fujitsu, Discovery Networks และ Lucasfilm และใกล้กับสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยที่เป็นแถวหน้าในด้านนวัตกรรมของประเทศ
- ภาพมุมสูงของ LaunchPad สาขาวันนอร์ธ (ที่มาภาพ: JTC) -
ทำเลที่ตั้งของ LaunchPad แบ่งออกเป็น 2 พื้นที่ ได้แก่ วันนอร์ธ (one-north) ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางย่านธุรกิจเทคโนโลยีของสิงคโปร์และใกล้กับมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) และ เขตนวัตกรรมจูร่ง (Jurong Innovation District) ซึ่งตั้งอยู่ในศูนย์กลางการผลิตขั้นสูงของประเทศ
LaunchPad สาขาวันนอร์ธ จะสนับสนุนด้านระบบนิเวศ (อีโคซิสเท็ม) ที่เอื้อต่อการเติบโตของสตาร์ทอัพที่อยู่ในระยะแรก ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมการสื่อสารโทรคมนาคม สื่อ วิศวกรรม และวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตเร็ว
- ข้อความสโลแกน "อนาคตเริ่มต้นที่นี่" ที่หน้าอาคารหนึ่งใน LaunchPad สาขาวันนอร์ธ -
- อาคาร Block 73 ใน LaunchPad สาขาวันนอร์ธ (ที่มาภาพ: JTC) -
นอกจากนี้ พื้นที่ในสาขาวันนอร์ธยังประกอบไปด้วย 8 อาคาร ได้แก่ Block 67, 69, 71, 73, 75, 77, 79 และ 81 ซึ่งภายในแต่ละอาคารเปิดให้สตาร์ทอัพเช่าเป็นสำนักงาน รวมถึงห้องปฏิบัติการส่วนกลางที่ให้เช่าพื้นที่และอุปกรณ์ร่วมกัน และพื้นที่จำเพาะที่มีขนาดแตกต่างกันไปให้เหมาะกับความต้องการของเหล่าสตาร์ทอัพระยะแรก และพันธมิตรที่คอยสนับสนุนผู้ประกอบการ
ส่วน LaunchPad สาขาเขตนวัตกรรมจูร่ง เป็นแหล่งที่ตั้งของบรรดาสตาร์ทอัพด้านการผลิตขั้นสูง โซลูชันพัฒนาเมือง และวิศวกรรม อีกทั้งตั้งอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง สถาบันวิจัย และเครือข่ายของบริษัทรายใหญ่ ทำให้สะดวกต่อการแสวงหาความร่วมมือและการเร่งผลักดันเทคโนโลยีใหม่ ๆ สู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์
- ภาพอาคารหนึ่งใน LaunchPad สาขาเขตนวัตกรรมจูร่ง (ที่มาภาพ: JTC) -
ปัจจุบัน LaunchPad ทั้งสองแห่งของสิงคโปร์เป็นที่ตั้งของสตาร์ทอัพกว่า 700 ราย และมีส่วนสนับสนุนสตาร์ทอัพมาแล้วกว่า 1,300 ราย สร้างรายได้สะสมกว่า 400 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือกว่า 1.06 หมื่นล้านบาท นับตั้งแต่ปี 2558
ข้อมูลจากเว็บไซต์ Money.co.uk ระบุว่า สตาร์ทอัพในสิงคโปร์ ใช้เวลาเฉลี่ย 6 ปี 11 เดือน ในการยกระดับสถานะเป็น “ยูนิคอร์น” หรือสตาร์ทอัพที่มีมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 3.73 หมื่นล้านบาท) ขึ้นไป นั่นทำให้สตาร์ทอัพในสิงคโปร์ก้าวสู่ยูนิคอร์นได้เร็วที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก ร่วมกับออสเตรเลียและสหรัฐ
ต้องยอมรับว่า หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่บรรดาบริษัทเทคโนโลยีในสิงคโปร์เติบโตเร็วขนาดนี้ เป็นเพราะโครงการนำร่องมากมายของรัฐบาล ซึ่งช่วยสนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมและการเติบโตของสตาร์ทอัพ จนเป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาคจนถึงระดับโลกในปัจจุบัน